“คมนาคม” เล็งเพิ่มตู้โดยสารระบบราง รองรับปชช. หลังคลายล็อก เฟส 4

“ศักดิ์สยาม ชิดชอบ" รมว.คมนาคม เล็งเสนอ "ศบค." เพิ่มตู้โดยสารระบบขนส่งทางราง รองรับประชาชน หลังคลายล็อก เฟส 4


นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานงานวันสถาปนากรมการขนส่งทางราง (ขร.) ก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 ว่า หลังจากที่รัฐบาลผ่อนปรนมาตรการระยะที่ 3 ทำให้มีผู้โดยสารใช้บริการระบบขนส่งทางรางเพิ่มมากขึ้น ขณะที่มาตรการเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงในการแพร่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงดำเนินการต่อไป ทั้ง เรื่อง NEW NORMAL หรือ ชีวิตวิถีใหม่ ให้ทำงานที่บ้าน(Work from Home) การเหลื่อมเวลาทำงาน  การเรียนหนังสือ และ การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)

โดยกระทรวงคมนาคม ได้ให้ทางกรมราง เก็บรวบรวมสถิติที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางด้วยระบบราง และข้อมูลผู้ประกอบการเอกชน เพื่อดูถึงขีดความสามารถในการจัดขบวนรถรองรับการให้บริการได้เพียงพอ ซึ่งอาจจะต้องมีการเพิ่มตู้ในแต่ละขบวน รวบรวมรายละเอียดเสนอต่อศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) พิจารณาดำเนินมาตรการผ่อนปรนการมาตรการเว้นระยะห่างของผู้โดยสารที่มาใช้บริการระบบรถไฟฟ้า ในระยะต่อไป

ทั้งนี้ กรมรางได้รายงานถึงข้อมูลด้านวิชาการ ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาระบุว่า กรณีใส่หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า หากอยู่ในสถานที่หนึ่งร่วมกัน ไม่เกิน 50 นาที โอกาสที่จะแพร่ระบาดเกือบจะศูนย์ ซึ่งจะจริงหรือไม่แค่ไหนให้ ทางกรมรางไปดำเนินการ หาข้อพิสูจน์เพื่อนำมาใช้ในการให้บริการต่อไป

“เรื่องแก้ปัญหาโควิด-19 นั้น นายกฯ และครม. ข้าราชการทุกฝ่าย ตั้งใจทำงานอย่างเข้มข้นรวมถึงประชาชนที่ให้ความร่วมมือ ซึ่งจะพบว่า ขณะนี้ไม่มีการติดเชื้อภายในประเทศ 15 วัน แล้ว เพียงผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ ที่ยังติดอยู่ ซึ่งขณะนี้คนไทยมีความเข้าใจกับโรคนี้มากขึ้น และรู้วิธีในการป้องกันไม่ให้แพร่ระบาด หากพบว่าติดเชื้อ แล้วไปพบแพทย์ทันก็หาย ไม่เสียชีวิต เปรียบเทียบกับโรคอื่นๆ สถิติการเสียชีวิตถือว่าน้อยมาก แต่ก็จะต้องไม่ประมาท และยังต้องระวัง และความสะดวกสบาย ยังไม่เหมือนเดิม จนกว่า จะมีวัคซีน” นายศักดิ์สยาม กล่าว

นอกจากนี้ กรมรางจะต้องช่วยดูเรื่องการฟื้นฟู กิจการของ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.)  หรือรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ด้วย

ส่วนการเยียวยาช่วยเหลือผู้ประกอบการขนส่งต่างๆนั้น นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า  ได้ให้ตรวจสอบข้อมูลและตัวเลขที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะตัวเลขต้นทุนที่แท้จริง เพื่อนำมาพิจารณา เพราะต้องการช่วยเหลือเยียวยา ไม่ใช่ช่วยให้มีกำไร  ซึ่งล่าสุด ผู้ประกอบการรถตู้โดยสารปรับอากาศ ได้ยื่นขอความช่วยเหลือเพิ่มเติม  โดยขอต่ออายุมาตรการลดราคาค่าก๊าซ NGV ซึ่งกระทรวงคมนาคมรับเรื่องไปประสานกับกระทรวงพลังงานต่อไป ส่วนประเด็นที่อยู่ในขอบเขตอำนาจของกระทรวงคมนาคมจะเร่งพิจารณาให้

ด้านนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรมรางได้จัดเจ้าหน้าที่ลงสำรวจสภาพการบริการผู้โดยสารภายในสถานีและขบวนรถ เพื่อติดตามและประเมินปัญหาความหนาแน่นของผู้โดยสารในชั่วโมงเร่งด่วน ทั้งช่วงเช้าและเย็น พบว่ามีปริมาณผู้โดยสารใช้บริการเพิ่มขึ้นประมาณ 100,000 คนต่อสัปดาห์ โดยวันที่ 9 มิ.ย. มีผู้โดยสารกว่า 680,000 คน/วัน

โดยในวันที่ 17 มิ.ย. นี้กรมราง จะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านสาธารณสุข และผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าทุกราย เพื่อหาแนวทางในการดำเนินการเพื่อรองรับการผ่อนคลาย  ระยะที่ 4  ช่วงปลายเดือนมิ.ย.นี้ ซึ่ง คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการระบบรางเพิ่มมากขึ้นอีก เนื่องจากจะมีการเปิดภาคเรียนด้วย

Back to top button