SICT ขาย IPO หมดเกลี้ยง 100 ล้านหุ้น ลงสนามเทรด mai 30 ก.ค.นี้

SICT ขาย IPO หมดเกลี้ยง 100 ล้านหุ้น ลงสนามเทรด mai 30 ก.ค.นี้


นายไพโรจน์ เหลืองเถลิงพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท หลักทรัพย์ไอร่า จำกัด ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่าย เปิดเผยว่า การจำหน่ายหุ้นสามัญให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ของ บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SICT จำนวน 100 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 25% ของหุ้นที่ออกและชำระแล้ว ระหว่างวันที่ 21-23 ก.ค.63 ที่ราคา 1.38 บาท/หุ้น ผ่านบล.ไอร่า และบริษัทหลักทรัพย์ที่ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายอีก 4 แห่ง สามารถระดมเงินได้ทั้งสิ้น 138 ล้านบาท โดยจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ในวันที่ 30 ก.ค.

ทั้งนี้ หุ้น IPO ของ SICT ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก และสามารถเสนอขายได้เต็มจำนวนก่อนครบกำหนดปิดการจอง เนื่องจากมั่นใจในศักยภาพการเติบโตในอนาคตของบริษัท และการเป็นเจ้าของเทคโนโลยีที่จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยสู่ New S-Curve

“SICT เป็นหุ้น Deep Tech ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะเป็นบริษัทไทยในธุรกิจไมโครชิพที่ยืนหยัดแข่งขันในเวทีโลก ปัจจุบันเป็นผู้นำในตลาดไมโครชิพสำหรับ RFID Animal Identification ในอันดับต้นๆ ของโลก”

ด้าน นางสาวอรุณี พูนทวี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน ของ SICT เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนที่จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุน IPO ไปใช้ในการต่อยอดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหลัก โดยลงทุนในเครื่องมืออุปกรณ์ ลงทุนหรือร่วมลงทุนในบริษัทที่มีนวัตกรรมส่งเสริมธุรกิจของบริษัท และใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ

สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ระหว่างปี 2560-2562 มีรายได้รวม เท่ากับ 310.71 ล้านบาท 377.04 ล้านบาท และ 308.80 ล้านบาท ตามลำดับ และอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยสูงกว่า 40% โดยไตรมาสแรกของปี 2563 มีรายได้ที่ 95.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 72.85 ล้านบาท ของงวดเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็น 30.7% และกำไรสุทธิ 15.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 552.7%

ขณะที่ นายมานพ ธรรมสิริอนันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ SICT เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะเติบโตธุรกิจไมโครชิพ 2 เท่า ในอีก 4 ปีข้างหน้า หรือคิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ย 20% ต่อปี จาก 4 กลุ่มธุรกิจ คือ ไมโครชิพสำหรับระบบกุญแจสำรองอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์ ไมโครชิพสำหรับระบบลงทะเบียนสัตว์ ไมโครชิพสำหรับระบบเข้า-ออกสถานที่ และระบบการอ่านข้อมูล และไมโครชิพอื่นๆ

โดยบริษัทมีโมเดลธุรกิจที่เป็นผู้ออกแบบไมโครชิพและเป็นเจ้าของเทคโนโลยี จากนั้นจะว่าจ้างผู้ผลิตรายอื่นให้ผลิตไมโครชิพ ซึ่งข้อดีของโมเดลแบบนี้ คือ บริษัทจะมีความคล่องตัวในการดำเนินงาน และไม่มีค่าใช้จ่ายในการลงทุนและบริหารโรงงาน ความเสี่ยงจึงต่ำกว่า โดย SICT จะเน้นถือครองทรัพย์สินทางปัญญา

“เงินระดมทุนที่ได้จาก IPO จะถูกนำมาขยายธุรกิจไมโครชิพให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ SICT มีความมุ่งมั่นที่จะก้าวเป็นผู้นำอันดับหนึ่งของโลกในตลาด RFID สำหรับปศุสัตว์ในอีก 4 ปีข้างหน้า และเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต”

Back to top button