“พาณิชย์” เปิดมูลค่าส่งออก ก.ค. 18,819 ล้านดอลลาร์ หด 11.4% คาดทั้งปี ติดลบ 8-9 %

“กระทรวงพาณิชย์” เปิดมูลค่าส่งออก ก.ค. 18,819 ล้านดอลลาร์ หด 11.4% คาดทั้งปี ติดลบ 8-9 %


นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ทางการค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือน ก.ค.63 โดยการส่งออกไทยมีมูลค่า 18,819.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวลดลง -11.4% จากตลาดคาดว่าจะหดตัว -15 ถึง -19.5% โดยเป็นการหดตัวต่อเนื่องจากเดือน มิ.ย.ที่ติดลด -23.17% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 15,476.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -26.4% ทำให้ดุลการค้าเกินดุล 3,343.2 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่ภาพรวมช่วง 7 เดือนแรกของปี 63 (ม.ค.-ก.ค.) การส่งออกมีมูลค่ารวม 133,162.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -7.7% ส่วนการนำมีมูลค่ารวม 119,118.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -14.7% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 14,044.2 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับการส่งออกไทยเดือน ก.ค.แม้ว่ายังหดตัวต่อเนื่อง แต่ในภาค Real Sector เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และ อาวุธ การส่งออกในเดือน ก.ค.หดตัวที่ 13.0% แต่ยังหดตัวน้อยลงเมื่อเทียบกับการหดตัว 23.2% ในเดือน มิ.ย.
ส่วนทั้งปียังคาดการณ์ว่าการส่งออกจะติดลบในช่วง -8 ถึง -9%

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ภาพรวมการค้าไทยเริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้การส่งออกยังชะลอตัว โดยมูลค่าการส่งออกและการนำเข้าเริ่มฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในเดือนมิ.ย.63 จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศช่วยสนับสนุนอุปสงค์ให้ปรับตัวดีขึ้น อีกทั้งการขนส่งระหว่างประเทศมีแนวโน้มคล่องตัวขึ้นจากการผ่อนคลายล็อกดาวน์

นอกจากนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของโลกและเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ ยุโรป และเอเชีย ฟื้นตัวต่อเนื่องใกล้เคียงช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาด เช่นเดียวกับตัวเลขคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกของโลกที่สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3, สินค้าอาหาร/เกษตรแปรรูป สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home:WFH) และสินค้าเพื่อการป้องกันโควิด-19 ขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมบางรายการกลับมาขยายตัว

สำหรับสินค้าที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่องมีทั้งอาหาร เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม ทูน่ากระป๋อง สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง อาหารสัตว์เลี้ยง, สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน และเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เช่น เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เตาอบ ไมโครเวฟ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า โซลาร์เซล, สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อ เช่น ถุงมือยาง และสินค้าเก็งกำไร เช่น ทองคำ

ส่วนการส่งออกรายตลาด มูลค่าส่งออกเกือบทุกตลาดหดตัวในอัตราที่ลดลง สะท้อนถึงแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังประเทศคู่ค้าควบคุมการระบาดของโควิด-19 และคลายล็อกดาวน์ ประกอบกับ ใช้มาตรการกระตุ้นเพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยการส่งออกไปสหรัฐฯ ขยายตัวสูงถึง 17.8% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แต่จีนกลับหดตัวเล็กน้อยที่ 2.7% เพราะมีการระบาดรอบ 2 น้ำท่วมที่เมืองอู่ฮั่น จนกระทบต่อการผลิต เป็นต้น

“ขณะนี้การส่งออกของไทยแทบไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าแล้ว เพราะสินค้าต่างๆ ที่สหรัฐฯขึ้นภาษี ไทยยังส่งออกได้ดี ทั้งแผงโซลาร์เซล เครื่องซักผ้า ฯลฯ และยังทดแทนสินค้าจากจีน การส่งออกที่ลดลงตอนนี้มาจากโควิด-19 เป็นสำคัญ แต่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ยังมีการระบาดอยู่ เพราะสินค้าหลายรายการยังมีศักยภาพส่งออกได้ โดยเฉพาะเกษตรและอาหาร สินค้ากลุ่มนิวนอร์มอล เช่น อาหารสำเร็จรูป อาหารสัตว์เลี้ยง เครื่องมือแพทย์ ถุงยางทางการแพทย์ เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น” น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ราคาน้ำมันแม้ขณะนี้ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงต้นปี แต่ยังไม่สูงมากนัก และค่าเงินบาทที่เริ่มกลับมาแข็งค่ามากขึ้น อาจจะส่งผลต่อสินค้าเกษตร, สงครามการค้า ที่แม้ยังไม่ปะทุ แต่คุกรุ่น แม้นักวิเคราะห์มองว่า ทั้ง 2 ฝ่ายไม่มีมาตรการอื่นๆ จะใช้แล้ว เพราะได้ขึ้นภาษีนำเข้า และใช้มาตรการกีดกันทางการค้าต่างๆ ไปเต็มที่แล้ว แต่มีสงครามด้านเทคโนโลยี และสงครามการเงิน ที่อาจจกระทบถึงการส่งออกไทยได้ และการแพร่ระบาดระลอก 2 ของโควิด-19 ที่อาจมีการปิดเมือง และกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ การค้า จนกระทบต่อการส่งออกของไทย

“การส่งออกเดือนนี้ดีขึ้นเยอะ ถ้าอยู่ในระดับนี้ต่อไปจะไม่เห็นติดลบ 2 หลัก…เทรนด์เริ่มเป็นขาขึ้น” น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

นส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า จากนี้การส่งออกของไทยคาดว่าจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ภาพรวมจะยังคงหดตัวจากผลกระทบของโควิด-19 แต่เมื่อพิจารณาการส่งออกไปยังตลาดสำคัญ พบว่าสินค้าไทยหลายรายการมีศักยภาพที่จะผลักดันการส่งออกให้กลับมาฟื้นตัว โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหารที่ไทยมีความสามารถในการผลิตดี รวมทั้งมีความได้เปรียบด้านความปลอดภัยของอาหารสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ซึ่งต้องควบคุมคุณภาพมาตรฐานสินค้าเพื่อรักษาความน่าเชื่อถือนี้ไว้

นอกจากนี้ สินค้ากลุ่มวิถีนิวนอร์มอล (New Normal) มีแนวโน้มขยายตัวที่ดี เช่น อาหารสำเร็จรูป อาหารเลี้ยงสัตว์ เครื่องมือแพทย์ ถุงมือยางเพื่อการแพทย์ เฟอร์นิเจอร์และสินค้าอื่นๆ ที่ใช้สำหรับการพักอาศัย
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว การหดตัวของเศรษฐกิจโลก ปัญหาการกีดกันทางการค้าในรูปแบบใหม่ แนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท และราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ ยังเป็นปัจจัยกดดันการส่งออกในระยะต่อไป

ในช่วงที่เหลือของปี 63 กระทรวงพาณิชย์จะผลักดันการค้าผ่านช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน สู่ตลาดเป้าหมายที่มีศักยภาพ เช่น จีน เกาหลีใต้ อินเดีย กัมพูชา สหรัฐฯ และจัดตั้งร้านค้าท็อปไทย (TOP Thai Store) บนแพลตฟอร์มออนไลน์ชั้นนำของต่างประเทศ และต่อยอดพัฒนาเว็บไซต์ไทยเทรดดอทคอม (Thaitrade.com) สู่การเป็นตลาดกลางในรูปแบบธุรกิจกับธุรกิจ (National B2B E-Marketplace) ครบวงจร รองรับอีเพย์เมนท์ เชื่อมโยงผู้ประกอบการไทยสู่แพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งสร้างเครือข่ายพันธมิตรกับผู้นำเข้าในต่างประเทศทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เชื่อมโยงและสร้างโอกาสทางการค้าให้ผู้ประกอบการไทย และเร่งสร้างผู้ประกอบการยุคใหม่ให้มีความพร้อมก้าวเข้าสู่การค้าระหว่างประเทศในยุคนิวนอร์มอล

“ทั้งปี 63 คาดมูลค่าส่งออกขยายตัวที่ -9% ถึง -8% เมื่อเทียบกับปี 62 หรือมีมูลค่า 224,105-226,567 ล้านเหรียญฯ หรือมูลค่าส่งออกตั้งแต่เดือนส.ค.-ธ.ค. เฉลี่ยเดือนละ 18,188-18,681 ล้านเหรียญฯ แต่หากมูลค่าแต่ละเดือนมากกว่านี้ ก็น่าจะติดลบน้อยกว่า 8%” น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

Back to top button