“อุตุฯ” เตือน “โนอึล” จ่อเคลื่อนเข้าไทย ระวังฝนตกหนัก-น้ำท่วมฉับพลัน 18-20 ก.ย.นี้

“กรมอุตุนิยมวิทยา” ประกาศเตือน “โนอึล” เพิ่มกำลังเป็น “ไต้ฝุ่น” ไทยเตรียมรับมือฝนตกหนัก-น้ำท่วมฉับพลัน 18-20 ก.ย.นี้


กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือนพายุระดับ 3 (โซนร้อน) “โนอึล” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 600 กิโลเมตร ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองดานัง ประเทศเวียดนาม หรือที่ละติจูด 13.8 องศาเหนือ ลองจิจูด 113.8 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุกำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกด้วยความเร็วประมาณ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุระดับ 5 (ไต้ฝุ่น) คาดว่า จะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง และเคลื่อนเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ในช่วงวันที่ 18-20 กันยายน 2563

ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากและมีลมแรงบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยเริ่มมีผลกระทบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน หลังจากนั้นภาคเหนือและภาคอื่นๆ จะมีผลกระทบในระยะต่อไป

ดังนั้นขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณดังกล่าว ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ และระวังอันตรายจากลมแรง โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่และสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรงไว้ด้วย

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวัง ตลอดจนเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือประชาชนทันทีหากเกิดภาวะวิกฤต เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม และลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น จากอิทธิพลของพายุ “โนอึล” ได้สั่งการให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ ติดตามสภาพอากาศ พร้อมวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกหนักต่อเนื่อง และจุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมซ้ำซาก

สำหรับพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่ 5 จังหวัด (ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด) ประกอบด้วยลำน้ำสำคัญ ได้แก่ ลำน้ำยัง  ลำน้ำปาว ลำน้ำพอง ลำคันฉู ลำเสียวใหญ่ ลำปะทาว และลำน้ำพรม-เชิญ สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้ติดตั้งธงสัญลักษณ์แจ้งเตือนระดับน้ำ พร้อมกำหนดจุดติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ทันทีหากเกิดน้ำท่วม อีกทั้งยังได้กำหนดเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำ และการคาดการณ์ปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 3 แห่ง(เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนจุฬาภรณ์ และเขื่อนลำปาว) รวมไปถึงตรวจสอบสภาพอาคารชลประทาน 130 แห่ง ตลอดจนตรวจสอบความมั่นคงของอ่างเก็บน้ำ 110 แห่ง ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน พร้อมกับกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ และเตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือต่างๆ ประจำในจุดเสี่ยงรวมกว่า 257 หน่วย เพื่อให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ในทันที

นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้ปรับแผนการบริหารจัดการน้ำ ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางในพื้นที่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ ทั้งยังปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนทดน้ำทั้ง 4 แห่งในแม่น้ำชี ได้แก่ เขื่อนชนบท เขื่อนมหาสารคาม เขื่อนวังยาง และเขื่อนร้อยเอ็ด ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม หรือ Dynamic Rule Curve (โค้งบริหารจัดการน้ำ) โดยบูรณาการจัดจราจรน้ำในแม่น้ำชีร่วมกับสำนักงานชลประทานที่ 7  รวมไปถึงเตรียมพื้นที่ลุ่มต่ำสำหรับใช้เป็นแก้มลิงในการหน่วงน้ำและรองรับน้ำหลาก ซักซ้อมการดำเดินงานตามแผนการเผชิญเหตุในสภาวะวิกฤต กำหนดบุคลากรที่รับผิดชอบในพื้นที่ นำเครื่องจักรเครื่องมือเข้าประจำจุดเสี่ยง และบูรณาการทุกหน่วยงานเตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนให้ได้มากที่สุด

Back to top button