“ธปท.” เผยส่งออก-การผลิตภาคอุตฯ ทยอยฟื้น หนุนเศรษฐกิจไทย ส.ค. กระเตื้อง

“ธปท.” แถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงินไทยในเดือน ส.ค.63 เผยส่งออก-การผลิตภาคอุตฯ ทยอยฟื้น หนุนเศรษฐกิจไทย ส.ค. ปรับตัวดีขึ้น


ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงินไทยในเดือน ส.ค.63 ปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน ตามมูลค่าการส่งออกสินค้า การผลิตภาคอุตสาหกรรม และเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวน้อยลง ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวสูงขึ้น

อย่างไรก็ดี เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนหดตัวสูงขึ้นหลังจากปัจจัยพิเศษวันหยุดยาวในเดือนก่อนหมดลง สำหรับภาคการท่องเที่ยวหดตัวสูงต่อเนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังคงมีอยู่

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลง จากราคาอาหารสดและราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้น ด้านตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้นแต่ยังคงเปราะบาง สําหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากการส่งออกทองคําเป็นสําคัญ ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิเล็กน้อยจากด้านหนี้สิน

สำหรับรายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยมีดังนี้

มูลค่าการส่งออกสินค้า หดตัวร้อยละ 8.2 จากระยะเดียวกันกับปีก่อน หากไม่รวมการส่งออกทองคําในเดือนนี้ที่มีมูลค่าสูงเป็นประวัติการณ์ มูลค่าการส่งออกหดตัวที่ร้อยละ 13.6 ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ 14.3 ตามการส่งออกสินค้าหมวดที่มูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมัน หมวดยานยนต์และชิ้นส่วน และหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ปรับดีขึ้น สอดคล้องกับการทยอยฟื้นตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้า

อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าเกษตรหดตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกผลไม้ไปจีนหลังจากเร่งไปมากแล้วในช่วงก่อนหน้า ทั้งนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลงต่อเนื่องในเกือบทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับทิศทางการส่งออกสินค้าและการใช้จ่ายภายในประเทศที่ทยอยฟื้นตัว

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวน้อยลงจากเดือนก่อน ตามการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์เป็นสําคัญ จากการนําเข้าสินค้าทุนและยอดจดทะเบียนรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ทยอยฟื้นตัว และความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง แม้ยังอยู่ในระดับต่ำ สําหรับการลงทุนหมวดก่อสร้างขยายตัวลดลงเล็กน้อย ตามยอดจําหน่ายวัสดุก่อสร้างที่ชะลอลง

มูลค่าการนําเข้าสินค้าหดตัวร้อยละ 19.1 จากระยะเดียวกันกับปีก่อน โดยเป็นการหดตัวน้อยลง เมื่อเทียบกับเดือนก่อนในทุกหมวดสินค้า ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าทุน และวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมที่มีทิศทางปรับตัวดีขึ้น

เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนยังอยู่ในทิศทางของการฟื้นตัว สอดคล้องกับปัจจัยสนับสนุนกําลังซื้อที่ทยอยปรับดีขึ้น ทั้งการจ้างงาน รายได้ของครัวเรือน และความเชื่อมั่นของผู้บริโภค แม้ในเดือนนี้เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนโดยรวมจะหดตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อน ตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทน และหมวดบริการ หลังจากปัจจัยพิเศษวันหยุดยาวในเดือนก่อนหมดลง ขณะที่การใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทน หดตัวน้อยลงต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งจากการซื้อรถยนต์รุ่นใหม่ หลังจากที่เริ่มมีการเปิดตัวในเดือนก่อน

จํานวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัวสูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 100 จากระยะเดียวกันปีก่อน จากมาตรการจํากัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยที่ยังคงมีอยู่ ส่งผลให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวสูงขึ้น ตามรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางที่ยังคงขยายตัวสูง ขณะที่รายจ่ายประจําหดตัวเล็กน้อยตามการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ ทั้งนี้ รายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัวตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านคมนาคม

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลง จากราคาอาหารสดและราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเล็กน้อย ด้านตลาดแรงงาน อัตราการว่างงานปรับลดลงเล็กน้อย แต่จํานวนผู้ขอรับสิทธิว่างงานยังอยู่ในระดับสูง สําหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากการส่งออกทองคําเป็นสําคัญ ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิเล็กน้อยจากด้านหนี้สิน ตามการขายสุทธิตราสารทุนไทยของนักลงทุนต่างชาติและการชําระคืนเงินกู้ต่างประเทศของสถาบันการเงินที่รับฝากเงินของไทย

Back to top button