“ธปท.” ชี้รายใหญ่โยกระดมทุนผ่านตราสารหนี้ แทนกู้แบงก์ ฉุดยอดสินเชื่อไตรมาส 3 โตชะลอลง

“ธปท.” ชี้รายใหญ่โยกระดมทุนผ่านตราสารหนี้ แทนกู้แบงก์ ฉุดยอดสินเชื่อไตรมาส 3 โตชะลอลง


น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 3 ปี 2563 ว่า ภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเล็กน้อย มาอยู่ที่ 4.6% เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จาก 5.0% ในไตรมาสก่อน โดยสินเชื่อธุรกิจ (64.6% ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวที่ 4.5% เทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลงเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากธุรกิจขนาดใหญ่บางส่วนระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้และหุ้นเพิ่มทุนแทนการใช้สินเชื่อธนาคารพาณิชย์  ขณะที่สินเชื่อ SMEs หดตัวในอัตราที่ลดลงจากผลของมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) และการทยอยฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

สินเชื่ออุปโภคบริโภค (35.4% ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวที่ 4.8% เทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน และปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19  ทั้งนี้ สินเชื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ที่อยู่อาศัยแนวราบที่ปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน

สำหรับคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2563 ยังคงได้รับผลจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นลูกหนี้ โดยยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Non-Performing Loan: NPL หรือ stage 3) อยู่ที่ 513.9 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 3.14% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเทียบกับไตรมาสก่อนที่ 3.09%  ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (Significant Increase in Credit Risk: SICR หรือ stage 2) อยู่ที่  7.03% ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ 7.49%

น.ส.สุวรรณี กล่าวว่า ในไตรมาส 3 ปี 2563 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 28.0 พันล้านบาท ทำให้ภาพรวมกำไรสุทธิในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 อยู่ที่ 130.4 พันล้านบาท ลดลงจากปีก่อนจากการกันสำรองในระดับสูงอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมรองรับแนวโน้มคุณภาพสินเชื่อที่อาจด้อยลงในระยะต่อไป

สำหรับอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Assets: ROA) ลดลงมาอยู่ที่ 0.52% จากไตรมาสก่อนที่ 0.60% และอัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (Net Interest Margin: NIM) ลดลงมาอยู่ที่ 2.55% จากไตรมาสก่อนที่ 2.60% ซึ่งเป็นผลจากรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้สินเชื่อที่ลดลงเป็นสำคัญ

ขณะที่ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2,959 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ที่ 19.8% เงินสำรองอยู่ในระดับสูงที่ 782.5 พันล้านบาท โดยอัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL coverage ratio) อยู่ที่ 149.7% และอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่อง เพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) อยู่ที่ 184.9%

“ระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคง โดยมีเงินกองทุน เงินสำรองและสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการผ่อนปรนการจัดชั้นลูกหนี้ ช่วยสนับสนุนการเติบโตของสินเชื่อ และชะลอการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ ขณะที่ผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ปรับลดลง ซึ่งเป็นผลจากการกันสำรองในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมรองรับคุณภาพสินเชื่อที่อาจด้อยลงจากผลกระทบของโควิด-19” น.ส.สุวรรณี กล่าว

Back to top button