ดาวโจนส์ดิ่ง 200 จุด หลังบอนด์ยีลด์พุ่ง หวั่นทุบเศรษฐกิจ

ดาวโจนส์ดิ่ง 200 จุด หลังบอนด์ยีลด์พุ่ง หวั่นทุบเศรษฐกิจ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้นดัชนีดาวโจนส์ดิ่งกว่า 200 จุดในวันนี้ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ

ล่าสุด ณ เวลา 21.36 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 31,287.16 จุด ลบ 207.16 จุด หรือ 0.6%

ทั้งนี้ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีถือเป็นพันธบัตรที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้รถยนต์ของสหรัฐ ซึ่งหากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวขึ้น จะทำให้ผู้บริโภคมีเงินสำหรับการใช้จ่ายลดน้อยลง

ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มมากขึ้น และบริษัทต่างๆจะเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ ซึ่งจะทำให้บริษัทเหล่านี้ลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน

ด้าน นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีกำหนดกล่าวแถลงการณ์รอบครึ่งปีว่าด้วยนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐต่อสภาคองเกรสในสัปดาห์นี้

ทั้งนี้ นายพาวเวลจะกล่าวถ้อยแถลงต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาในวันพรุ่งนี้ และต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรในวันพุธที่ผ่านมา ตามธรรมเนียมปฏิบัติ ประธานเฟดมีกำหนดกล่าวแถลงการณ์ต่อสภาคองเกรสปีละ 2 ครั้ง โดยครั้งแรกในเดือนก.พ. และอีกครั้ง ในเดือนมิ.ย.หรือก.ค.

โดยนักลงทุนจับตาถ้อยแถลงของนายพาวเวล เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจ, อัตราเงินเฟ้อ, ทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ รวมทั้งผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจสหรัฐ

สำหรับการแถลงของนายพาวเวลในสัปดาห์นี้ถือเป็นครั้งแรกที่เขาจะกล่าวถ้อยแถลงต่อสภาคองเกรสชุดใหม่ที่พรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากทั้งในวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ขณะที่รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็เป็นรัฐบาลที่มาจากพรรคเดโมแครตเช่นกัน

นอกจากนี้ ถ้อยแถลงของนายพาวเวลครั้งนี้ถือว่ามีความสำคัญ เนื่องจากนักลงทุนกำลังกังวลว่า การดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ และตัวเลขเงินเฟ้อที่ส่งสัญญาณพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจผลักดันให้เฟดยุติการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน หลังจากที่มีการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยใกล้ 0% ต่อไปอีกราว 2 ปี

อนึ่งก่อนหน้านี้ เฟดเคยส่งสัญญาณชะลอการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดวงเงินซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในปี 2556 ซึ่งส่งผลให้เฟดลดการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจ ทำให้ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทและตลาดหุ้นทั่วโลกทรุดตัวลงอย่างหนักในปีดังกล่าว

Back to top button