RT ดาวเด่น “หุ้นรับเหมา” 4 โบรกเชียร์ซื้อเป้า 3.20 บ. ลุ้นชิงเค้ก “เมกะโปรเจกต์” 4 แสนล.

RT ดาวเด่น “หุ้นรับเหมา” 4 โบรกเชียร์ซื้อเป้า 3.20 บ. ลุ้นชิงเค้ก “เมกะโปรเจกต์” 4 แสนล. หนุนแบ็กล็อกพุ่ง


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ทำการสำรวจและรวบรวมข้อมูลหุ้นกลุ่มรับเหมาจากโบรกเกอร์ชั้นนำของไทยมานำเสนอเพื่อประกอบการลงทุน โดยครั้งนี้อาศัยข้อมูลจากบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ,บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน),บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที จํากัด (มหาชน)  และบริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จํากัด (มหาชน) 

ทั้งนี้จากการสำรวจข้อมูลโบรกเกอร์ทั้ง 4 แห่งได้แนะนำเข้าลงทุนหุ้นกลุ่มรับเหมา โดยเชื่อว่าหลังจากนี้ภาครัฐจะมีมาตการกระตุ้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งทางด่วน รถไฟฟ้า รถไฟทางคู่  โดยนับโครงการลงทุนที่จะเปิดประมูลในปีนี้มีมูลค่ารวมกันไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านบาท จึงคาดว่าหุ้นรับเหมาจะได้รับอานิสงส์อย่างมาก

โดยเฉพาะ บริษัท ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง จำกัด (มหาชน)  หรือ RT ที่คาดว่าจะได้ประโยชน์โดดเด่นสุดในกลุ่มนี้ ดังนั้นโบรกฯเกอร์ทั้ง 4 แห่งแนะนำ “ซื้อ” หุ้น RT โดยเคาะราคาเป้าหมายสูงที่ระดับ  3.20 บาท เนื่องจากมีมุมมองเชิงบวกและมีโอกาสคว้างานในอนาคตสูง พร้อมชูจุดเด่นมีความเชี่ยวชาญพิเศษด้านวิศวกรรมโยธาและธรณีเทคนิค โดยโบรกเกอร์ได้ระบุข้อมูลไว้ดังนี้

บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (ASPS) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า หุ้นกลุ่มรับเหมา เข้าสู่การเก็งกำไรต่อ โดยในเดือน เม.ย.นี้ ตลาดหุ้นไทยมีปัจจัยหนุนจากมาตรการการคลังภาครัฐ หลังจากช่วงไตรมาส 1/64 ภาครัฐเดินหน้าออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคแล้ว เช่น โครงการเรารักกัน คนละครึ่ง และกระตุ้นการท่องเที่ยวต่อเนื่อง เชื่อว่าหลังจากนี้การกระตุ้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งทางด่วน รถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ โดย ASPS นับโครงการลงทุนที่จะเปิดประมูลปีนี้มีมูลค่ารวมกันไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านบาท

ดังนั้น หากเกิดขึ้นจริงจะเป็นมูลค่าการเปิดประมูลสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของไทย ส่งผลบวกต่อหุ้นรับเหมาก่อสร้างถ้วนหน้าทั้งผู้รับเหมารายใหญ่อย่าง ITD, CK, STEC , UNIQ , รายกลางอย่าง NWR , RT และผู้รับเหมาเสาเข็ม อย่าง SEAFCO ,PYLON

 

บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ( FSS ) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ประเมินราคาเหมาะสมของ RT ปี 64 ที่ 3.20 บาท อิง PER เท่ากับ 12.5 เท่า เทียบกับบริษัทที่มีส่วนของงานรับเหมาวิศวกรรมโยธา และธรณีเทคนิคอย่าง CK, STEC, UNIQ ซึ่งซื้อขายบน PE ปี 63 ที่ 11-26 เท่า อย่างไรก็ดี RT มีขอบเขตของงานน้อยกว่า, ไม่มีการลงทุนในบริษัทร่วม รวมถึงกำไรปี 64 โตต่ำกว่า CK และ STEC จึงอิง PE ที่ต่ำกว่า แต่เป็น PE สูงกว่า UNIQ ที่กำไรด้อยกว่า

ขณะที่เทียบกับ EPS Growth ปี 64-65 คิดเป็น PEG ที่ 1.0 เท่า ดังนั้น แนะนำซื้อ จาก Backlog ที่แข็งแกร่ง รองรับคาดการณ์รายได้ปี 64-65 แล้ว 89% และ 21% ตามลำดับ รวมถึงมีโอกาสรับงานใหม่เข้ามาเติมอีกมาก ท่ามกลางตลาดงานอุโมงค์ที่คู่แข่งน้อยราย และปัจจุบันซื้อขายบน PE ปี 64 เพียง 10 เท่า ต่ำกว่ากลุ่มฯ ที่ 20 เท่า

คาดการณ์กำไรสุทธิในปี 64 – 65 จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 12% CAGR ที่ 279 ล้านบาท เพิ่มขึ้น17% จากปีก่อน และ 299 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ตามทิศทางรายได้ งานก่อสร้างที่เร่งขึ้น

โดยปี 64 มาจากการรับรู้ Backlog ต่อเนื่อง ขณะที่ปี 65 บนสมมติฐานรับรู้งานใหม่อย่างรถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของที่คาดเริ่ม ก่อสร้างตั้งแต่ไตรมาส 4/63 ซึ่งคาดได้งาน 40% ของมูลค่างานอุโมงค์ (ต่ำกว่าเป้าบริษัท) รวมถึงเริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าหลวงพระบางได้ในปีหน้า

อย่างไรก็ดี คาดอัตรากำไรขั้นต้นอย่างระมัดระวัง โดยในปี 64-65 อ่อนลงเป็น 19.5% และ 18.5% ตามลำดับ เทียบกับปี 63 ที่ 20.9% หลังรถไฟทางคู่มาบกะเบา-จิระ ซึ่งมีมาร์จิ้นสูงกว่าปกติถูกส่งมอบปลายปีนี้ และงานใหม่คาดมีมาร์จิ้นอยู่ที่ 15-20%

สำหรับไตรมาส 1/64 คาดรายได้เร่งขึ้นเป็นระดับ 800 ล้านบาท แต่อัตรากำไรขั้นต้นถูกกดดันจากโครงการถนนมีปัญหา Cost Overrun และมีการแก้ไขแบบ ทำให้เบื้องต้น ประเมินกำไรไตรมาส 1/64 ชะลอจากปีก่อน แต่ดีขึ้นจากไตรมาสก่อน อย่างไรก็ดี โมเมนตัมกำไรตั้งแต่ไตรมาส 2/64 จะฟื้นตัวต่อเนื่อง หลังโครงการที่มีปัญหาดังกล่าวถูกส่งมอบในปลายเดือนเม.ย.นี้

 

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที จํากัด (มหาชน) ( KTBST ) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า มีมุมมองบวกมากขึ้นต่อ RT จากมูลค่างานลงนามสัญญาใหม่ (New signed projects) ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เทียบกับที่บริษัทแจ้งในช่วงเดือน ม.ค. ที่ 8 โครงการ มูลค่ารวมเพียง 280 ล้านบาท

เบื้องต้น KTBST คงประมาณการมูลค่าลงนามสัญญาใหม่ปี 64 ที่ 2.2 พันล้านบาท และรายได้ที่ 3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จากปีก่อน แต่จากโมเมนตัมที่บริษัทได้รับงานใหม่ต่อเนื่อง ทำให้มองว่ามีโอกาสสูงมากที่มูลค่าโครงการใหม่และรายได้ปีนี้จะมากกว่า KTBST คาด

นอกจากนี้ ยังมีโครงการขนาดใหญ่ที่เป็น Key highlight รออยู่ ซึ่งจะเปิดประมูลในเดือนพ.ค. 64 ได้แก่ โครงการอุโมงค์รถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ มูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งมองว่าบริษัทมีโอกาสสูงมากที่จะได้รับงานบางส่วนทั้งในรูปแบบ Main หรือ Subcontractor KTBST ประเมินโครงการลงนามสัญญาใหม่ที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ 500 ล้านบาท (จากที่ประเมินไว้ 2.2 พันล้านบาท) จะเป็น Upside ต่อประมาณการกำไรปกติปี 64เพิ่มขึ้นราว 5%

ทั้งนี้แนะนำ “ซื้อ” RT ด้วยราคาเป้าหมาย 3.00 บาท อิงประมาณการปี 64  PER 13 เท่า KTBST ชอบ RT ต่อเนื่องจาก Backlog ปัจจุบันอยู่ในระดับสูงซึ่งสามารถ Secure รายได้อย่างน้อยถึงครึ่งแรกปี 65 ขณะที่แนวโน้มการเติมโครงการใหม่ยังมีสูง เนื่องด้วยบริษัทเป็นผู้รับเหมางานประเภท Niche ซึ่งเป็นงานที่ต้องอาศัยความชำนาญและการแข่งขันไม่สูงมาก และปัจจุบันเทรดที่ 64 PER เพียง 11 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มผู้รับเหมาขนาดเล็กที่ 16 เท่า

 

ส่วนบริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จํากัด (มหาชน) (PST) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า แนะนำ “ซื้อ”  RT ประเมินราคาพื้นฐานใหม่ที่ 2.82 บาท จากเดิม 2.40 บาท และปรับคาดการณ์กำไรสุทธิปี 64 ขึ้นเป็น 258 ล้านบาท จากเดิม 220 ล้านบาท หลังจากผู้บริหาร RT เปิดเผยแนวโน้มการเติบโตปี 64 คาดยังโตต่อเนื่องจากปี 63     ที่มีรายได้รวม 2,864 ล้านบาท อีกราว 20% เมื่อเทียบจากปีก่อน โดยมีแรงหนุนจาก Backlog ในมือที่มีอยู่กว่า 3,500 ล้านบาท และงานโครงการใหม่ ๆ ในปีนี้ ได้แก่ งานโครงการรถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มูลค่ากว่า 7.29 หมื่นล้านบาท โดยปัจจุบันมีการเผยแพร่เอกสารประกวดราคาแล้ว โดยคาดจะเปิดประมูลได้ภายในเดือนพ.ค.นี้

ทั้งนี้เบื้องต้น RT คาดหวังโอกาสในการได้งานทั้งจากการเข้าร่วมประมูลด้วยตัวเอง และรับงานแบบ Sub Contract จากบริษัทที่ชนะการประมูล เนื่องจากทุกสัญญามีงานก่อสร้างอุโมงค์รถไฟ ซึ่งถือเป็นงานที่ RT มีความเชี่ยวชาญและปัจจุบันผลงานเป็นที่ยอมรับ ได้แก่ งานก่อสร้างอุโมงค์รถไฟทางคู่มาบกะเบา-จิระ ทั้ง 2 สัญญา     ซึ่งสัญญาแรกดำเนินการไปแล้วกว่า 81.6% ขณะที่สัญญาที่สองเป็นงานเพิ่มเติม ดำเนินการไปแล้ว 3.3%

โดยมีมุมมองเชิงบวกต่อ RT จากโอกาสการรับงานในอนาคต ทั้งการว่าจ้างโดยตรงและการชนะประมูล ด้วยจุดเด่นของความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ท่ามกลางการเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐที่คาดจะมีให้เห็นอย่างต่อเนื่องในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ยังมีงานอื่น ๆ อาทิ โครงการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินในกรุงเทพมหานคร, โครงการกระทู้ป่าตอง จ.ภูเก็ต (งานอุโมงค์ถนน), โครงการผันน้ำขุนยวม (งานบริหารจัดการน้ำ) ฯลฯ ขณะที่ฐานะการเงินยังแข็งแกร่ง โดยสิ้นปี 63 บริษัทมีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) อยู่ที่ 1.9 เท่า (หากไม่รวมเงินรับล่วงหน้าจากผู้ว่าจ้าง D/E Ratio จะอยู่ที่ 1.5 เท่า )

 

นายชวลิต ถนอมถิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง จำกัด (มหาชน) (RT) ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านวิศวกรรมโยธาและธรณีเทคนิค กล่าวถึงแนวโน้มการดำเนินธุรกิจไตรมาส 1/64 คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องตามแผนที่บริษัทวางไว้ โดยเตรียมรับรู้รายได้ส่วนที่เหลือจากโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ, งานก่อสร้างประตูระบายน้ำศรีสองรัก จ.เลย, งานก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำแม่แตง-แม่งัด จ.เชียงใหม่ สัญญาที่ 1, งาน Pipe Jacking รถไฟฟ้าสายสีเหลือง รวมทั้งงานที่เหลืออื่น ๆ

ล่าสุด บริษัทได้รับงานใหม่ 13 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 688 ล้านบาท ประกอบด้วย งานระบบระบายน้ำ กรมชลประทาน งานท่อร้อยสายไฟใต้ดิน (Pipe Jacking) งานป้องกันลาดชัน (Slope Protection) กรมทางหลวง งานก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำ กรมชลประทาน งานป้องกันลาดชันไหล่เขา (Slope Protection) กรมชลประทาน และงานก่อสร้างทาง-บำรุงถนน กรมทางหลวงชนบท ส่งผลให้งานในมือรอรับรู้รายได้ (Backlog) เพิ่มขึ้นเป็น 4,240 ล้านบาท จาก ณ สิ้นปี 63 มี Backlog อยู่ที่  3,552 ล้านบาท ซึ่งบริษัทสามารถทยอยรับรู้รายได้ในช่วงปี 64-65

โดยปี 64 บริษัทตั้งเป้ารายได้ทำนิวไฮต่อเนื่อง เติบโตไม่ต่ำกว่า 20% หรืออยู่ที่ 3,600 ล้านบาท และรักษาอัตรากำไรขั้นต้นไม่ต่ำกว่า 15-20% และแผนการดำเนินงานมุ่งเน้นกลยุทธ์เชิงรุกรับงานในประเทศที่มีมาร์จิ้นสูงและงานโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศ ซึ่งบริษัทพร้อมเดินหน้าเข้าประมูลงานทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง เช่น อุโมงค์รถไฟทางคู่เด่นชัย เชียงราย เชียงของ, งานสายไฟลงใต้ดิน, งานป้องกันลาดชันไหล่ทาง, งานถนน ฯลฯ โดยบริษัทมีความพร้อมในการรับงานทั้งในด้านบุคลากรและเครื่องจักร – เครื่องมือ

ที่สามารถรองรับงานได้ทันที ซึ่งงานก่อสร้างเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานมีมูลค่างานสูงและเป็นงานที่มีการก่อสร้างต่อเนื่อง ต้องอาศัยความรู้ความสามารถจากบริษัทที่มีประสบการณ์และความชำนาญพิเศษ ซึ่งมีผู้รับเหมาจำนวนน้อยรายที่ดำเนินธุรกิจได้แบบ RT ทำให้ทั้งปี 64 บริษัทคาดว่าจะมี Backlog เพิ่ม 7,000 ล้านบาท

ด้านความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น RT ล่าสุด (16 เม.ย. 64)  เปิดตลาดที่ 2.52 บาท จากนั้นปรับตัวขึ้นสูงสุดของวันอยู่ที่ 2.56บาท และช่วงท้ายตลาดปรับตัวปิดการซื้อขายที่ 2.52 ราคาหุ้นไม่เปลี่ยนแปลง ด้วยมูลค่าซื้อขาย 34.24 ล้าน บาท

Back to top button