“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” แนะขยายเพดานหนี้สาธารณะ หลังกู้เพิ่ม 7 แสนลบ.

“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” แนะขยายเพดานหนี้สาธารณะ หลังกู้เพิ่ม 7 แสนลบ.


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า หนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 จะอยู่ที่ราว 58.7-59.6% ของ GDP ภายใต้สมมติฐานที่รวมกรอบพ.ร.ก. กู้เงิน 7 แสนล้านบาทแล้ว โดยคาดว่าจะมีการกู้จริงประมาณครึ่งหนึ่งของวงเงินทั้งหมด ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 ทั้งนี้ แม้ว่าระดับหนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบประมาณนี้จะยังไม่ถึง 60% ของ GDP แต่การกู้เงินเพิ่มเติมเป็นการเร่งระดับหนี้สาธารณะให้เข้าใกล้เพดานหนี้ที่ 60% ของ GDP เร็วกว่าที่เคยประเมิน ซึ่งจะส่งผลให้ภาครัฐจำเป็นต้องเตรียมขยายเพดานหนี้สาธารณะในระยะเวลาอันใกล้

จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เห็นชอบ พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 7 แสนล้านบาท ซึ่งจะช่วยสร้างความยืดหยุ่นแก่รัฐบาลในการดูแลเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยการใช้วงเงินกู้จริงคงจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดและภาวะเศรษฐกิจในช่วงข้างหน้า ในทางตรงข้าม หากไม่มี พ.ร.ก.กู้เงินฯ นี้ แต่การแพร่ระบาดยังไม่ทุเลาลง รัฐบาลก็จะขาดเครื่องมือทางการคลังในการเข้าไปช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ถูกกระทบนั้น

“การกู้เงินเพิ่มส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะของไทยเข้าใกล้เพดานหนี้ที่ 60% ของ GDP เร็วขึ้น และทางภาครัฐจำเป็นต้องขยายเพดานหนี้สาธารณะในระยะเวลาอันใกล้ ทั้งนี้ ระดับหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมี.ค. 2564 อยู่ที่ 54.3% ของ GDP” ศูนย์วิจัยฯ ระบุ

ทั้งนี้ การขยายเพดานหนี้สาธารณะนั้นยังอยู่ในวิสัยทัศน์ที่สามารถทำได้ ขณะที่ระดับเพดานหนี้สาธารณะที่ 60% ของ GDP เป็นระดับตามกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่นิยมใช้ในหลายประเทศ อาทิ สหภาพยุโรป อย่างไรก็ดี ระดับหนี้สาธารณะที่เหมาะสมของแต่ละประเทศนั้นไม่มีระดับที่ตายตัว และขึ้นอยู่กับบริบทและปัจจัยต่างๆ ที่แตกต่างกัน

ประเด็นติดตามอยู่ที่ปฏิกิริยาตอบสนองของนักลงทุนต่อการกู้เพิ่มของภาครัฐ ซึ่งการสื่อสารจากทางภาครัฐและแผนการรักษาวินัยทางการคลังต่อจากนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ โดยหากนักลงทุนมีมุมมองว่าการกู้เพิ่มในครั้งนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำในสถานการณ์ปัจจุบัน และไม่ใช่ประเด็นเกี่ยวกับวินัยทางการคลัง การกู้เพิ่มอีก 7 แสนล้านอาจจะไม่ได้เป็นประเด็นต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน แต่หากนักลงทุนมีคำถามเกี่ยวกับประเด็นการรักษาวินัยทางการคลังที่อาจจะส่งผลกระทบต่อความเสี่ยงและความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว การกู้เงินเพิ่มเติมอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งจะมีผลต่อการขยับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล นอกเหนือไปจากกลไกตลาดด้านอุปทานที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ดี อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายในประเทศเท่านั้น หากแต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกประเทศเช่นเดียวกัน โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก ดังนั้น จากแนวโน้มอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เพิ่มสูงขึ้น จะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมนั้นเพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะยังไม่ฟื้นตัวดี

สำหรับผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แม้โดยปกติแล้ว การกู้และใช้จ่ายเพิ่มเติมของรัฐบาล น่าจะมีส่วนกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ดำเนินอยู่ ทำให้รายได้และการใช้จ่ายของผู้บริโภคแตกต่างไปจากในช่วงปกติ โดยสุดท้ายแล้ว ผลกระตุ้นต่อเศรษฐกิจของการกู้และใช้จ่ายเพิ่มเติมของรัฐบาล จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความรุนแรงของการแพร่ระบาด ทำให้เรายังคงต้องติดตามสถานการณ์โควิด-19 ต่อไปอีกระยะหนึ่ง จึงจะสามารถสรุปผลของ พ.ร.ก.กู้เงิน 7 แสนล้าน ต่อตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจได้

ในเบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงตัวเลขประมาณการอัตราการขยายตัวของจีดีพีในปี 2564 ไว้ที่ 1.8% ขณะที่จะติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดและเครื่องชี้เศรษฐกิจต่างๆ เพื่อใช้ในการประมาณการในช่วงถัดๆไป

Back to top button