ศาลปกครองสูงสุดยืนตามศาลชั้นต้น สั่งเบรกประมูล “รถไฟไทยจีน” สัญญา 3-1

ITD มีลุ้น! ศาลปกครองสูงสุดยืนตามศาลชั้นต้น สั่งเบรกประมูล "รถไฟไทยจีน" สัญญา 3-1


ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งของคณะกรรมการการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง ไว้ก่อนเป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น กรณีคณะกรรมการ ฯ มีคำสั่งให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กลับไปดำเนินการในขั้นตอนการพิจารณาผลการเสนอราคาของผู้ยื่นข้อเสนอให้ถูกต้องต่อไป ตามมาตรา 119 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560

โดยคดีนี้บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เทน เอนจิเนียริ่ง กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นผู้ชนะการประกวดราคาจ้างฯ ยื่นคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งคณะกรรมการการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง โครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงฯ

อนึ่ง คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลางได้มีหนังสือด่วนลงวันที่ 21 ต.ค.63 แจ้งต่อ รฟท.ให้บริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด (ซึ่งเสนอราคาต่ำสุดแต่ขาดคุณสมบัติ) ได้รับการยกเว้นเรื่องคุณสมบัติเป็นการเฉพาะราย ซึ่งศาลได้วินิจฉัยแล้วว่าคำสั่งของกรมบัญชีกลางยังมีปัญหาเรื่องความชอบด้วยกฎหมาย

ทั้งนี้ รฟท.ได้เปิดประมูลโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นราราชสีมา) งานสัญญาที่ 3-1 งานโยธาสำหรับช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (E-bidding)

สำหรับคดีนี้ สืบเนื่องจากการประมูลงานโยธารถไฟความเร็วสูงไทยจีน ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา สัญญาที่ 3-1 งานโยธาช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30 กม.ราคากลาง 11,386 ล้านบาท ซึ่งในครั้งแรกคณะกรรมการคัดเลือกได้ให้ บริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด (ประกอบด้วย BINA จากมาเลเซีย-นภาก่อสร้าง) เป็นผู้ชนะ

โดยเสนอราคา 9,330 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 2,056 ล้านบาท และเฉือนราคาเสนอของบริษัท ITD-CREC No.10JV (ประกอบด้วย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ร่วมกับพันธมิตร ซีอาร์อีซี (CREC: China railway Engineering corporation) ไปเพียง 19 ล้านบาท

ขณะที่ต่อมาคณะกรรมการคัดเลือกได้ตัดสิทธิ์บริษัทบีพีเอ็นจี จำกัด เพราะไม่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติจากเหตุเอกสารการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนใหม่ไม่ถูกต้อง และให้บริษัท ITD-CREC No.10JV เป็นผู้ชนะ โดยทางบีพีเอ็นพีจึงยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง ซึ่งอุทธรณ์เป็นผล คณะกรรมการคัดเลือกจึงให้บีพีเอ็นพีกลับมาเป็นผู้ชนะโครงการอีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตามทาง ITD-CREC No.10JV จึงยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลางแต่ไม่เป็นผล จึงยื่นเรื่องถึงศาลปกครองกลาง และเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโครงการเป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่นในที่สุด

Back to top button