สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 18 มิ.ย. 2564

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 18 มิ.ย. 2564


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อวันศุกร์ (18 มิ.ย.) และร่วงลงรุนแรงที่สุดในรอบสัปดาห์นี้นับตั้งแต่เดือนต.ค. 2563 เนื่องจากนักลงทุนพากันเทขายหุ้นออกมาท่ามกลางความวิตกว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,290.08 จุด ร่วงลง 533.37 จุด หรือ -1.58%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,166.45 จุด ลดลง 55.41 จุด หรือ -1.31% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,030.38 จุด ลดลง 130.97 จุด หรือ -0.92%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดร่วงลงเมื่อวันศุกร์ (18 มิ.ย.) โดยหุ้นกลุ่มธนาคารและกลุ่มพลังงานร่วงลง เนื่องจากนักลงทุนเทขายหุ้นกลุ่มดังกล่าวออกมาท่ามกลางความวิตกว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดตลาดที่ระดับ 452.05 จุด ลดลง 7.28 จุด หรือ -1.58%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,569.16 จุด ลดลง 97.10 จุด หรือ -1.46%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,448.04 จุด ลดลง 279.63 จุด หรือ -1.78% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,017.47 จุด ลดลง 135.96 จุด หรือ -1.90%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลดลงเมื่อวันศุกร์ (18 มิ.ย.) และปรับตัวลงมากที่สุดในรอบกว่า 1 เดือน โดยหุ้นกลุ่มการเงินและกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ร่วงลงมากที่สุด หลังจากอังกฤษเปิดเผยข้อมูลยอดค้าปลีกลดลงเกินคาดในเดือนพ.ค.

ดัชนี FTSE 100 ปิดที่ 7,017.47 จุด ลดลง 135.96 จุด หรือ -1.90% และปรับตัวลง 1.7% ในรอบสัปดาห์นี้

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดปรับตัวขึ้นเมื่อวันศุกร์ (18 มิ.ย.) เนื่องจากบรรดานักลงทุนคาดว่า อุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกจะฟื้นตัวขึ้นจากการที่ประเทศต่างๆ เริ่มเปิดเศรษฐกิจ หลังจากการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 60 เซนต์ หรือ 0.8% ปิดที่ 71.64 ดอลลาร์/บาร์เรล และปรับตัวขึ้น 1% ในรอบสัปดาห์นี้

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 43 เซนต์ หรือ 0.6% ปิดที่ 73.51 ดอลลาร์/บาร์เรล และปรับตัวขึ้น 1.1% ในรอบสัปดาห์นี้

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อวันศุกร์ ( 18 มิ.ย.) และปรับตัวลงมากที่สุดในรอบสัปดาห์นี้นับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2563 โดยถูกกดดันจากการที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นหลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 5.8 ดอลลาร์ หรือ 0.33% ปิดที่ 1,769 ดอลลาร์/ออนซ์ และร่วงลง 5.9% ในรอบสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นการร่วงลงรายสัปดาห์มากที่สุดนับตั้งแต่สัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 13 มี.ค. 2563

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 11.3 เซนต์ หรือ 0.44% ปิดที่ 25.969 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 14.2 ดอลลาร์ หรือ 1.35% ปิดที่ 1,041 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 42.30 ดอลลาร์ หรือ 1.7% ปิดที่ 2,469.90 ดอลลาร์/ออนซ์

 

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ (18 มิ.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่าอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า

ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.39% แตะที่ 92.2262 เมื่อคืนนี้

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9217 ฟรังก์สวิส จากระดับ 0.9171 ฟรังก์สวิส และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2425 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2351 ดอลลาร์แคนาดา แต่ดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 110.14 เยน จากระดับ 110.24 เยน

ส่วนยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1872 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1914 ดอลลาร์, เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3817  ดอลลาร์ จากระดับ 1.3925 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7499 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7553 ดอลลาร์สหรัฐ

Back to top button