DTAC แรงต่อ 6% โบรกให้น้ำหนัก 50% “เทเลนอร์” รวมกิจการใหญ่ขึ้น

DTAC พุ่งต่อ 7% โบรกฯ ให้น้ำหนัก 50% เชื่อว่า “เทเลนอร์” จะรวมกิจการใหญ่ขึ้น เนื่องจากมั่นใจพื้นฐานธุรกิจแกร่ง-จ่ายปันผลสูงสม่ำเสมอ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้นบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ปิดตลาดวันนี้ (30 ก.ค.) อยู่ที่ระดับ 37.75 บาท บวก 2 บาท หรือ 5.59% สูงสุดที่ 39.50 บาท ต่ำสุดที่ 34.75 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 4.19 พันล้านบาท

คาดนักลงทุนเก็งกำไรต่อเนื่องจากวานนี้ DTAC ปรับตัวเพิ่มขึ้นแรงตลอดทั้งวัน หลังมีกระแสข่าวกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ “เทเลนอร์” จะขายหุ้น DTAC เพื่อถอนการลงทุนในประเทศไทย

ด้านสำนักข่าวต่างประเทศ TMT Finance รายงานว่า บริษัท Telenor ASA Pte., Ltd. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน DTAC อยู่ระหว่างพิจารณาถอนการลงทุนจากประเทศไทย หลังจากที่บริษัทเพิ่งประกาศขายธุรกิจโทรคมนาคมในเมียนมา ให้กับกับกลุ่ม M1 เป็นมูลค่า 105 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 3,450 ล้านบาท ซึ่งนั่นหมายถึงการขายหุ้น DTAC ที่บริษัทเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อยู่ทั้งหมด 1,086,052,874 หุ้น หรือคิดเป็น 45.87% โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยกับผู้ที่สนใจจะเข้าถือหุ้นใน DTAC แทน

ขณะที่นายเกลนน์ แมนเดลิด ผู้อำนวยการสายงานสื่อสารองค์กร เทเลนอร์ เอเชีย ออกแถลงการณ์ระบุว่า เทเลนอร์ยังคงมุ่งมั่นในการทำธุรกิจในประเทศไทย และกลยุทธ์ในตลาดเอเชียยังไม่เปลี่ยนแปลง

ด้านนายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย กล่าวว่า กรณีดังกล่าวอาจจะเป็นเพียงข่าวลือเท่านั้น ที่ผ่านมามีข่าวในลักษณะนี้มาหลายครั้งแล้ว ไม่ใช่ครั้งนี้เป็นครั้งแรก พร้อมให้น้ำหนัก 25% ในกรณีที่ 1 เทเลนอร์ กรุ๊ป จะขายหุ้น DTAC เพื่อถอนการลงทุนจากประเทศไทย

ขณะที่ให้น้ำหนัก 50% ในกรณีที่ 2 ที่มีการรวมกิจการให้ใหญ่ขึ้น อย่างไรก็ตาม ให้น้ำหนัก 75% ในกรณีที่ 3 ที่ DTAC จะนำเสาโทรคมนาคมที่มีอยู่ให้รายอื่นเช่าใช้ โดยการหาบริษัทตัวกลางมาเป็นผู้บริหารจัดการ ซึ่งค่อนข้างได้รับความนิยมในต่างประเทศ ดังนั้น แนะนำ “ซื้อ” DTAC ราคาเป้าหมาย 37.16 บาท

บล.กสิกร ระบุในบทวิเคราะห์ โดยกล่าวถึงการปรับตัวของราคาหุ้น DTAC เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2564 ที่ขึ้นมาถึง 11.7% มาปิดที่ 35.75 บาท จากกรณีกระแสข่าวเรื่องกลุ่ม Telenor กำลังตัดสินใจถอนการลงทุนจากประเทศไทย อ้างอิงจากการรายงานจาก TMT Finance ซึ่งระบุว่าการถอนการลงทุนครั้งนี้จะมีมูลค่าสูงถึง 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และกำลังอยู่ระหว่างการพูดคุยกับผู้ซื้ออยู่ อย่างไรก็ตามการเจรจาอาจยังอยู่ในช่วงแรกเริ่ม และอาจยังไม่สามารถนำไปสู่การเข้าซื้อได้

โดยมองว่าราคาขายของกลุ่ม Telenor จะอยู่ที่ราว 42.70 บาทต่อหุ้น แต่ให้ความเป็นไปได้เพียง 25% เท่านั้นที่ทางกลุ่ม Telenor จะถอนทุนจากบริษัทที่ถือเป็นตัวทำเงินในไทย ซึ่งจะไม่เหมือนกับการถอนการลงทุนจากเมียนมาร์โดยมีเหตุผลทางด้านมาตรฐานทางจริยธรรม และไม่ใช่เรื่องของธุรกิจ หรือการเงิน นอกจากนั้นแล้ว บล.กสิกร คิดว่าทางกลุ่ม Telenor ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องนำเงินมาเสริมความแข็งแกร่งของพอร์ตโทรคมนาคมของตัวเองในอีกสี่ปีข้างหน้านี้

ทั้งนี้ยังมีมุมมองว่า DTAC จะ Outperform โดยให้ราคาเป้าหมายไว้ที่ 37.19 บาท และมี Dividend Yield อยู่ที่ 6.3% โดยคาดว่า DTAC จะได้รับผลกระทบต่ำกว่าคาดจากการบริโภคในประเทศที่หายไป ขณะเดียวกัน จะมีมาตรการบริหารต้นทุนที่ดีกว่าคาด และจะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการสปินออฟสินทรัพย์เสาโทรคมนาคม

อย่างไรก็ตาม  DTAC ยังมีความเสี่ยงที่จะมีผลต่อดาวน์ไซด์ของราคาหุ้นอยู่ได้แก่ 1) การสูญเสียโอการการทำรายได้จากอุปกรณ์ 5G ที่พัฒนาไวขึ้น 2) กลยุทธ์การตลาดอาจทำให้เกิดสงครามราคาระหว่างผู้ใช้งานที่เป็น prepaid และ 3) DTAC ไม่อยู่ในโครงการเสาโทรคมนาคมกลาง (Towerco Project)

ด้าน เครดิต สวิส มองว่ากลุ่ม Telenor ยังไม่มีความจำเป็นที่จำต้องเร่งถอนการลงทุนออกจากไทย เนื่องจากขณะนี้ไม่ได้เดือร้อนเรื่องสถานะการเงิน และการถอนการลงทุนในประเทศอื่นๆในเอเชียนั้นมีเหตุผลเฉพาะตัว ทั้งในอินเดีย และเมียนมาร์ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในเมียนมาร์ที่ เครดิส สวิส กล่าวว่าทางกลุ่ม Telenor ยังคงมองหาที่จะรวมบริษัทในประเทศเพื่อให้ได้ประโยชน์จากการลงทุนให้มากที่สุดในระยะยาว

นอกจากนั้น เครดิต สวิส ยังมองว่าธุรกิจของ DTAC ยังคงดีอยู่ ที่สำคัญคือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่สร้างเงินให้กับกลุ่ม Telenor และยังจ่ายปันผลที่ดีอีกด้วยในช่วงที่ผ่านมา

โดย AIS และ TRUE จะเป็นผู้ซื้อหลักในดีลครั้งนี้ แต่ยังคงต้องดูถึงเรื่องของการผูกขาดทางการค้าที่ต้องรอดูสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) อีกที และยังต้องได้รับการอนุมัติจาก กสทช. ด้วยเช่นกัน ซึ่งถ้าหาก AIS เป็นคนซื้อไป จะทำให้สัดส่วนการตลาดเพิ่มขึ้นจาก 46% เป็น 66% กลับกัน หาก TRUE ได้ DTAC ไป จะทำให้มีสัดส่วนการตลาดเพิ่มขึ้นจาก 34% เป็น 54% แต่สำหรับ TRUE นั้น งบดุลอาจเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคจาก D/E ที่ 2.5x และ อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA ที่ 4.0x

อย่างไรก็ตาม เครดิต สวิส ระบุว่า การเข้าซื้อกิจการ DTAC จากกลุ่ม Telenor จะทำให้ผู้ซื้อต้องทำ Tender Offer เพื่อซื้อหุ้นที่เหลือของ DTAC ซึ่งจะต้องพิจารณาเรื่องแหล่งเงินทุนอีกครั้ง และการแย่งชิง DTAC ระหว่าง AIS และ TRUE ด้วยการประมูลราคากันจะเป็นผลบวกต่อผู้ถือหุ้นของ DTAC

Back to top button