“ทริสฯ” คงอันดับเครดิตองค์กร SSP ที่ BBB แนวโน้ม Stable สะท้อนกระแสเงินสดมั่นคง        

“ทริสฯ” คงอันดับเครดิตองค์กร SSP ที่ BBB แนวโน้ม Stable สะท้อนกระแสเงินสดมั่นคงจากโรงไฟฟ้าสัญญาซื้อขายไฟระยะยาว


ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SSP ที่ระดับ BBB ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต Stable หรือ คงที่ โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่มั่นคงจากโรงไฟฟ้าของบริษัทที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว ความเสี่ยงในการดำเนินงานที่ต่ำ และผลการดำเนินงานที่น่าพอใจของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัท

อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็ถูกดึงรั้งจากความท้าทายที่สูงขึ้นของอุตสาหกรรมไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ความเสี่ยงในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมแห่งแรกของบริษัท และระดับหนี้สินที่สูง

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ยังคงมีสัดส่วนมากที่สุด โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ยังคิดเป็นสัดส่วนใหญ่ที่สุดในการลงทุนในโรงไฟฟ้าทั้งหมดของบริษัทแม้ว่าบริษัทจะขยายไปยังโรงไฟฟ้าพลังงานลมและชีวมวล ในเดือนกรกฎาคม 2564 บริษัทได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 26 เมกะวัตต์ ในเมืองชิสึโอกะ ประเทศญี่ปุ่น โรงไฟฟ้าของบริษัทดำเนินการภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวซึ่งส่วนใหญ่เป็นสัญญาที่ทำไว้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รวมทั้งผู้รับซื้อไฟฟ้าที่น่าเชื่อถือหลายรายในประเทศญี่ปุ่น และการไฟฟ้าเวียดนาม (Vietnam Electricity — EVN) โดยสัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าวเป็นแบบ Non-firm (สัญญาที่ผู้ผลิตไม่มีข้อผูกมัดเกี่ยวกับการสั่งเดินเครื่อง และจะได้รับเฉพาะค่าพลังงานไฟฟ้า) กระแสเงินสดจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ส่วนใหญ่มักจะคาดการณ์ได้จากการมีอัตราค่าไฟฟ้าที่แน่นอนและความเสี่ยงในการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าที่ต่ำ

โรงไฟฟ้ามีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจ โรงไฟฟ้าส่วนใหญ่ของบริษัทมีผลการดำเนินงานอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ โดยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ส่วนใหญ่ของบริษัทสามารถผลิตไฟฟ้าต่อปีได้เกินระดับ P50 (ความน่าจะเป็น 50% ของการผลิตพลังงาน) ซึ่งเป็นเกณฑ์ของการดำเนินงานที่คาดไว้ บริษัทขายไฟฟ้าจำนวน 254 กิกะวัตต์ชั่วโมงในปี 2563 เพิ่มขึ้นจาก 190 กิกะวัตต์ชั่วโมงในปี 2562 โดยเพิ่มขึ้นมาจากการดำเนินงานเต็มปีของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศเวียดนามและมองโกเลีย โดยผลผลิตไฟฟ้าที่ขายนั้นมาจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในต่างประเทศเกือบร้อยละ 60 ในปี 2563

ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 บริษัทมีรายได้ 1 พันล้านบาทเพิ่มขึ้นจาก 0.9 พันล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2563 การเพิ่มขึ้นของรายได้ 16% เป็นผลของการเปิดดำเนินงานของโครงการยามากะ (โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่นที่เปิดดำเนินงานในเดือนกรกฎาคม 2563) โดยบริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) 916 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 742 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ผลกำไรมีแนวโน้มสูงขึ้น ปัจจุบัน บริษัทยังคงมีโครงการในต่างประเทศที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ซึ่งประกอบด้วยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 1 แห่งในประเทศญี่ปุ่น (22 MW) โรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งในประเทศเวียดนาม (48 MW) และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาในประเทศอินโดนีเซีย

นอกจากโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนาแล้ว บริษัทยังใช้เงินอีกจำนวน 500 ล้านบาทเพื่อซื้อหุ้น 100% ในบริษัท Uni Power Tech Co., Ltd. (UPT) ซึ่งเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าชีวมวล (9.9 MW) ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่า UPT จะเพิ่มรายได้ให้บริษัทประมาณ 300 ล้านบาทต่อปี

โดยรวมแล้ว ทริสเรทติ้งคาดว่ากำลังการผลิตของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 329 เมกะวัตต์ภายในปี 2567 โดยมาจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ประมาณ 271 เมกะวัตต์ จากประมาณการกรณีฐานของทริสเรทติ้ง คาดว่าบริษัทจะสามารถพัฒนาโครงการต่าง ๆ ให้เสร็จสิ้นได้ตามที่วางแผนไว้ โดยรายได้ต่อปีจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.1 พันล้านบาทในปี 2564 และค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเป็น 3.0 พันล้านบาทในปี 2567 และคาดว่า EBITDA ของบริษัทจะสูงเกิน 2 พันล้านบาทต่อปีตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 1.6 พันล้านบาทในปี 2563

สภาพแวดล้อมทางธุรกิจมีความท้าทายมากขึ้นทริสเรทติ้งยังคงมีความเห็นว่าอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนกำลังเผชิญกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ท้าทายมากขึ้น โอกาสการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยเริ่มมีความน่าสนใจน้อยลงถึงแม้ว่ารัฐบาลจะมุ่งมั่นที่จะลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างหนักก็ตาม แม้ว่าพลังงานหมุนเวียนมีศักยภาพที่จะเติบโตเพิ่มขึ้นในปีต่อ ๆ ไปแต่บริษัทพลังงานหมุนเวียนของไทยก็หันไปลงทุนนอกประเทศไทย เป็นผลจากอัตราค่าไฟฟ้าที่จูงใจน้อยลง การแข่งขันที่รุนแรง โครงการภาครัฐที่ยังคงล่าช้า และผลตอบแทนจากการลงทุนที่ลดลง

ด้วยโอกาสที่ขาดแคลนภายในประเทศ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะเติบโตในอนาคตจากการลงทุนในต่างประเทศ ปัจจุบัน เงินลงทุนในโรงไฟฟ้าของบริษัทในมองโกเลีย เวียดนาม และอินโดนีเซียจะคิดเป็นสัดส่วนประมาณหนึ่งในสี่ของสินทรัพย์ที่ผลิตไฟฟ้าของบริษัทภายในปี 2564 ทริสเรทติ้งเชื่อว่าการลงทุนในประเทศเหล่านี้มีความเสี่ยงค่อนข้างสูงกว่าโครงการในประเทศไทยและญี่ปุ่น ความเสี่ยงที่สูงขึ้นนั้นเกี่ยวข้องกับความสอดคล้องของกฎระเบียบ ความยากในการบังคับใช้สัญญา แนวโน้มของความล่าช้าในการได้รับการอนุมัติใบอนุญาตที่จำเป็น และข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากนี้ บริษัทยังมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและความเสี่ยงจากการชำระเงินจากผู้ซื้อไฟฟ้าที่สูงขึ้น

ความเสี่ยงในการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานลมบริษัทกำลังพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งขนาด 48 เมกะวัตต์ในประเทศเวียดนาม ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในเดือนตุลาคม  2564 โรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งจะมีความได้เปรียบเมื่อเทียบกับบนบกเนื่องจากมีกระแสลมที่พัดบ่อยและแรงกว่า ซึ่งนำไปสู่การผลิตพลังงานที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างนอกชายฝั่งนั้นซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายสูง งานก่อสร้างนอกชายฝั่งอาจล่าช้าหรือหยุดชะงักจากคลื่นแรง ลมแรง และความผิดพลาดในการออกแบบโครงสร้าง

ความล่าช้าอย่างมีนัยสำคัญของโครงการอาจมีผลต่อความเป็นไปได้ของโครงการ เนื่องจากรัฐบาลเวียดนามกำหนดให้โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมต้องดำเนินการได้ก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 โครงการที่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามกำหนดเวลาจะเสี่ยงต่อการถูกลดอัตราค่าไฟฟ้า ณ วันที่ 12 สิงหาคม 2564 ความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมของบริษัทอยู่ที่ร้อยละ 77 ซึ่งเป็นไปตามแผนของบริษัท ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถเปิดดำเนินงานโครงการได้ตามแผนและได้รับอัตราค่าไฟฟ้าตามที่กำหนด นอกเหนือจากความเสี่ยงในการก่อสร้างแล้ว ฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งยังมีความเสี่ยงในการดำเนินงานที่สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขัดข้องของกลไกและไฟฟ้า ตลอดจนสภาพอากาศที่รุนแรง

ค่าไฟฟ้าที่ลดลงส่งผลกดดันต่อการทำกำไร อัตราค่าไฟฟ้าที่ลดลงของโครงการใหม่ ๆ และค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่สูงกดดันความสามารถในการทำกำไรของบริษัท บริษัทมีอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่สูงกว่า 9 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง (kWh) ในช่วงปี 2558-2561 ต่อมาอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยลดลงเหลือ 7-8 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงในปี 2562-2563 ทั้งนี้ในการคาดการณ์กรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้ง ในปี 2564-2567 อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยจะอยู่ที่ระดับ 6-8 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง หลังจากโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งใหม่ของบริษัทในประเทศญี่ปุ่นและโรงไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศเวียดนามเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์

ระดับหนี้สินยังคงอยู่ในระดับสูง ณ เดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วจำนวน 9 พันล้านบาท และมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนที่ 63% ในเดือนกรกฎาคม 2564 คณะกรรมการของบริษัทได้อนุมัติให้ออกหุ้นใหม่ผ่านการเสนอขายเฉพาะบุคคล โดยบริษัทคาดว่าจะได้รับทุนใหม่จำนวน 605 ล้านบาทหลังจากการประชุมผู้ถือหุ้นในเดือนตุลาคม 2564 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าระดับหนี้สินของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับสูง เนื่องจากบริษัทจะมีภาระหนี้เพิ่มจากโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนา และเชื่อว่าบริษัทจะขยายกำลังการผลิตต่อไปในอนาคต

ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่า บริษัทจะใช้เงิน 8 พันล้านบาทเพื่อขยายกำลังการผลิตในช่วงปี 2564-2567 ด้วยเหตุนี้ จึงคาดว่าหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วจะขึ้นสู่ระดับสูงสุดที่ 1.32 หมื่นล้านบาทในปี 2565 ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนเพิ่มขึ้นเป็น 68% อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าระดับหนี้สินจะค่อย ๆ ลดลงตั้งแต่ปี 2566 ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานว่าบริษัทจะได้รับเงื่อนไขการชำระค่าก่อสร้างจากผู้รับเหมาสำหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งในประเทศเวียดนาม โดยบริษัทจะจ่ายค่าก่อสร้างส่วนใหญ่หลังจากที่โครงการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้แล้ว ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าเงินทุนจากการดำเนินงานจะอยู่ในช่วง 1.2-1.8 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2567 และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินประมาณการไว้ที่ 11%-16% ตลอดช่วงเวลาดังกล่าว

มีสภาพคล่องเพียงพอ โครงการโรงไฟฟ้าของบริษัทส่วนใหญ่อยู่ภายใต้สัญญาเงินกู้โครงการระยะยาว นอกจากนี้ บริษัทยังมีวงเงินกู้ยืมทั้งระยะสั้นและระยะยาวกับธนาคารเพื่อใช้ในการสนับสนุนบริษัทย่อยในกลุ่มอีกด้วย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีภาระหนี้รวม 1.08 หมื่นล้านบาท ซึ่งรวมถึงหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนประมาณ 1.06 หมื่นล้านบาท ดังนั้น อัตราส่วนของหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อภาระหนี้ทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 98% เนื่องจากอัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับความสำคัญสูงกว่าเกณฑ์ 50% ทริสเรทติ้งมองว่าเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทเสียเปรียบอย่างมีนัยสำคัญในแง่ของลำดับความสำคัญของการเรียกร้องต่อสินทรัพย์ของบริษัท

ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทมีสภาพคล่องที่เพียงพอ โดย ณ เดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีหนี้สินทั้งระยะสั้นและระยะยาวรวมถึงหุ้นกู้ที่จะถึงกำหนดชำระคืนภายใน 12 เดือนข้างหน้าจำนวนรวมทั้งสิ้น 1.3 พันล้านบาทในขณะเดียวกันบริษัทก็มีเงินสดในมือจำนวน 1.3 พันล้านบาท และทริสเรทติ้งก็คาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานอยู่ที่ประมาณ 1.2 พันล้านบาท

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

โรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564

โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์โครงการใหม่ในประเทศญี่ปุ่น (Leo2) เปิดดำเนินงานเชิงพาณิชย์ในปี 2567

กำลังการผลิตรวมจะถึงระดับ 329 เมกะวัตต์ในปี 2567

ในปี 2564-2567 โรงไฟฟ้าของบริษัทจะผลิตไฟฟ้าได้รวม 263-461 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี

รายได้จะอยู่ที่ระดับ 2.1-3 พันล้านบาทต่อปี

อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ระดับ 72%-76%

ค่าใช้จ่ายลงทุนและเงินลงทุนรวมจะอยู่ที่ 8 พันล้านบาทในช่วงปี 2564-2567

บริษัทจะได้รับเงื่อนไขการชำระค่าก่อสร้างจากผู้รับเหมาในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลมดังที่กล่าวข้างต้น

แนวโน้มอันดับเครดิตแนวโน้มอันดับเครดิต Stable หรือ คงที่ สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าโรงไฟฟ้าของบริษัทจะยังคงมีผลการดำเนินงานที่เป็นที่น่าพอใจและสร้างกระแสเงินสดได้ตามที่ประมาณการไว้ และยังคาดหวังว่าโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนาของบริษัทจะสามารถเปิดดำเนินงานได้ตามแผนโดยไม่มีความล่าช้าในการก่อสร้างหรือไม่มีต้นทุนในการก่อสร้างที่สูงเกินกว่าคาด ในขณะที่ระดับของหนี้สินจะยังอยู่ใกล้เคียงกับที่ประมาณการไว้

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นหากโรงไฟฟ้าของบริษัทสามารถสร้างกระแสเงินสดได้มากกว่าที่ประมาณการไว้อย่างมีนัยสำคัญหรือโครงสร้างทางการเงินของบริษัทแข็งแกร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในทางกลับกัน อันดับเครดิตอาจปรับลดลงหากสถานะทางการเงินของบริษัทถดถอยลงเป็นอย่างมากจากการก่อหนี้จำนวนมากเพื่อการลงทุน หรือผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าต่ำจากที่ประมาณการไว้อย่างมากจนส่งผลทำให้กระแสเงินสดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

– อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561

– วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป,  26 กรกฎาคม 2562

Back to top button