“สศอ.” เผยดัชนี MPI เดือนส.ค. วูบ 4.15% เซ่นโควิดระบาดหนัก    

“สศอ.” เผยดัชนี MPI เดือนส.ค. วูบ 4.15% เซ่นโควิดระบาดหนัก ส่วน 8 เดือนแรกขยายตัวเฉลี่ย 7.13%


นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนส.ค.64 อยู่ที่ระดับ 87.71 หดตัว -4.15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของแรงงานในสถานประกอบการในเดือนส.ค.64 เริ่มส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน และการผลิตภาคอุตสาหกรรมในภาพรวม

ขณะที่ประเด็นการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในส่วนของโรงงานหรือสถานประกอบการ จะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึงการขาดแคลนชิ้นส่วนในการผลิตจาก supply chain ที่มีความเสี่ยงจากการระบาดอยู่

สำหรับดัชนี MPI ช่วง 8 เดือนแรก ปี 64 (ม.ค.-ส.ค.) ขยายตัวเฉลี่ย 7.13% ขณะที่อัตราการใชกำลังการผลิต (CapU) เดือน ส.ค.64 อยู่ที่ 57.38% ส่วนช่วง 8 เดือนแรกของปี 64 อยู่ที่ 63.35%

“ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 8 เดือนแรกปี 2564 ขยายตัวเฉลี่ย 7.13% ภาพรวมการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนส.ค.64 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) อยู่ที่ระดับ 87.71 การส่งออกของไทยมีการขยายตัวที่ดี โดยส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทอง อาวุธ รถถัง และอากาศยาน) ขยายตัว 19.74% มูลค่า 16,436.60 ล้านดอลลาร์ ขณะที่การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวถึง  66.28%” ผู้อำนวยการ สศอ.กล่าว

ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวอีกว่า เนื่องจากแรงงานในสถานประกอบการติดเชื้อโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและการผลิตภาคอุตสาหกรรมในภาพรวม สะท้อนได้จากดัชนีแรงงานอุตสาหกรรมเดือน ส.ค.64 หดตัวเล็กน้อย 2.52% คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ในระยะเวลาที่รวดเร็ว ขณะที่ดัชนีแรงงานในอุตสาหกรรมหลักยังขยายตัว อาทิ ยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่หดตัวลง เป็นผลจากการขาดแคลนชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) ที่มีการผลิตลดลงทั่วโลกในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการผลิตและการจำหน่ายในอุตสาหกรรมสำคัญ อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์

อย่างไรก็ตาม ภาวะการส่งออกของไทยยังมีแนวโน้มของการขยายตัวที่ดี โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือน ส.ค.64 ขยายตัว 3.25% มูลค่า 17,100.80 ล้านดอลลาร์ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถังและอากาศยาน) ขยายตัว 19.74% มูลค่า 16,436.60 ล้านดอลลาร์

โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ส่วนการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัว 23.82% ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ รวมถึงการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวสูงถึง 66.28% ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ MPI ขยายตัวเป็นบวก ได้แก่ ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 12.45% ตามการเติบโตของตลาดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของโลกอย่างต่อเนื่อง ผลจากการใช้ชิปเป็นส่วนหนึ่งของสินค้าสมัยใหม่ตั้งแต่เครื่องจักร คอมพิวเตอร์ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์เสียงภาพและอุปกรณ์สื่อสาร เซ็นเซอร์ต่างๆ

นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 12.06% จากยางแท่งและยางแผ่น เป็นหลัก จากความต้องการในตลาดต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นหลังสถานการณ์โควิด-19 หลายประเทศเริ่มคลี่คลายโดยเฉพาะคำสั่งซื้อจากประเทศจีนที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตยางรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น

อีกทั้งเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 11.89% จากเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กรูปพรรณรีดร้อน เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก และเหล็กแผ่นรีดร้อน เป็นหลัก จากผลของฐานต่ำหลังสิ้นสุดมาตรการล็อกดาวน์ในปีก่อนที่ความต้องการใช้ยังมีอย่างจำกัด แต่ในปีนี้ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมปลายน้ำโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ด้านเม็ดพลาสติก เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 6.06% จาก Polyethylene resin, Polypropyleneresin, Ethylene และ Propylene จากความต้องการสินค้าที่สูงขึ้นในปีนี้ รวมถึงการเร่งผลิตเต็มที่หลังขยายกำลังการผลิตของผู้ผลิตบางราย ตั้งแต่เดือน ม.ค. ที่ผ่านมา

ส่วนน้ำตาลเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 47.07% จากน้ำตาลทรายขาว น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์และกากน้ำตาล เป็นหลัก ถึงแม้ว่าจะเป็นช่วงปิดหีบแล้ว แต่ผู้ผลิตมีการละลายน้ำตาลดิบเป็นน้ำตาลทรายอย่างต่อเนื่อง

ส่วนอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ MPI ขยายตัวเป็นลบ ได้แก่ รถยนต์ หดตัว -9.77% จากปัญหาขาดแคลนชิปและชิ้นส่วน เนื่องจากโรงงานผู้ผลิตเกิดการระบาดเชื้อโควิด-19 และประสบปัญหาการขนส่ง ทำให้การผลิตไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

อีกทั้งการกลั่นปิโตรเลียม หดตัว -6.77% จากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่รุนแรงกว่าปีก่อน ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายอย่างชะลอตัวลง กระทบต่อการใช้น้ำมันเพื่อการผลิต การขนส่ง และการเดินทาง ส่งผลให้การจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศลดลง

ขณะเดียวกันรถจักรยานยนต์ หดตัว 45.51% จากการหดตัวของตลาดในประเทศ และตลาดส่งออก เนื่องจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่มีความรุนแรงกว่าปีก่อน ทำให้มีมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดมากขึ้น กระทบต่อความต้องการใช้ รวมถึงกำลังซื้อและรายได้ที่น้อยลงเช่นเดียวกับการส่งออกในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักก็ประสบปัญหาการแพร่ระบาดเช่นเดียวกัน

สำหรับปัจจัยที่อาจส่งผลต่อการผลิตในเดือน ก.ย.64 นั้นต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในส่วนของสถานประกอบการอย่างใกล้ชิด รวมถึงปัญหาการขาดแคลนชิปและชิ้นส่วน ขณะที่การสงออกของไทยยังมีแนวโน้มของการขยายตัวที่ดี รวมถึงค่าเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่ามีส่วนสำคัญที่ช่วยเสริมความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าไทยในขณะนี้ และการที่สถานการณ์แพร่ระบาดโควิดมีแนวโน้มเริ่มคลี่คลายจากจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ลดลง ทำให้ภาครัฐเริ่มคลายล็อกกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย.64 ประกอบกับความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนได้มากขึ้น รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ จะช่วยให้เศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้

Back to top button