“ทรงกลด” คัด 10 หุ้นท็อปพิก! คาดฟื้นตามศก.ช่วง Q4 มอง SET ต.ค. แกว่งกรอบ 1600-1700 จุด

“ทรงกลด” คัด 10 หุ้นท็อปพิก! คาดฟื้นตามศก.ช่วงไตรมาส 4 มอง SET ต.ค. แกว่งในกรอบ 1600-1700 จุด


นายทรงกลด วงศ์ไชย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ที่ปรึกษาการลงทุน เอฟเอสเอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือ FSSIA ระบุในบทวิเคราะห์ โดยเชื่อว่าการลงทุนในไตรมาส 4/2564-ปี 2565 ซึ่งเป็นช่วงหลังโควิด-19 นั้น จะมีการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ 3 อย่าง ที่จะเป็นตัวชี้วัดการลงทุนทั้งในไทย และตลาดต่างประเทศ

โดยการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ 3 อย่างได้แก่ 1) การเติบโตผ่าน JV เพื่อสร้างซินนี่ยี่ (SCB, JMT และ NCAP) 2) เชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด (PTTEP,TOP,BANPU,IVL,EA, และ NEX) และ 3) สภาวะปกติสำหรับการเติบโตช่วงหลังโควิด (CPALL, HMPRO,AOT,BA และ DMT) โดยการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และการเดินหน้าสู่ดิจิทัลแพลตฟอร์ม และระบบนิเวศจะเป็นส่วนช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านทั้งสามนี้ ซึ่งจะเป็นตัวเปลี่ยนเกมส์ที่ทุกฝ่ายจะมีส่วนร่วมทั้งการนำมาใช้ และการเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วของเทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภค และการบริหารซัพพลายเชน

โดยเมื่อมองไปในไตรมาส 4/2564-ปี 2565 FSSIA คาดว่า GDP ของไทยนั้นจะพ้นจุดต่ำสุดในไตรมาส 3/64 คาด GDP จะติดลบ 2.0% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ก่อนรีบาวน์อย่างมีนัยสำคัญที่ 1.3% ในไตรมาสที่ 4 /64 และ 3.4% ในปี  2565  ซึ่งกลับมาอยู่ในระดับการเติบโตก่อนโควิด-19 โดยการรีบาวน์ของ GDP นั้น ผลักดันโดยปัจจัยภายใน (การบริโภคทั้งภาคเอกชน และภาครัฐ และการลงทุน) และการส่งออก โดยคาดว่าภาคอุตสาหกรรมจะเป็นตัวนำการเติบโตนี้ ตามมาด้วยภาคการเกษตร และบริการจากการท่องเที่ยวที่ค่อยๆฟื้นตัว และเที่ยวบินในประเทศ

ด้านนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย FSSIA มองว่า ธปท.จะคงดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับ 0.5% ในไตรมาสที่ 4 นี้ และคาดว่าจะอยู่ในระดับนี้ไปจนกลางปี 2022 อ้างอิงจาก 1) เงินเฟ้อที่ต่ำกว่า 1% แม้ราคาน้ำมันจะสูงขึ้น 2) ธปท.เล็งเสริมสร้างสภาพคล่องทางเศรษฐกิจผ่านอัตราสินเชื่อที่สูง และ 3) มีมาตรการบริหาร NPL สำหรับ SME ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19

ทั้งนี้ FSSIA ยังคงเป้าดัชนีที่ 1,700 จุด ปีนี้ ผลักดันโดย 1) กำไรบริษัทที่เพิ่มขึ้น นำโดยกลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี และสาธารณูปโภค และ 2) การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากการส่งออก และการบริโภคหลังคลายล็อคดาวน์

สำหรับเดือนตุลาคมนี้ คาดว่า SET Index จะเคลื่อนอยู่ในกรอบ 1,600-1,670 จุด ให้ธีมการลงทุนเป็นการเปลี่ยนผ่าน โดยมีหุ้นท็อปพิก คือ BANPU,EA,JMT,NCAP,CPALL,HMPRO,BA,AOT,SCB และ DMT

โดยบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)  หรือ BANPU  ราคาเป้าหมาย 14.60 บาท ถือว่าเป็นหุ้นที่เด่นที่สุดในช่วงขาขึ้นของราคาถ่านหิน และก๊าซ โดยมีอัตราการผลิตก๊าซ 0.8พัน ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันที่สหรัฐฯ โดยราคาก๊าซ Henry Hub ที่สูงจะเป็นผลบวกต่อยูนิตก๊าซธรรมชาติจากหินดินดานของ BANPU

ด้านบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)  หรือ EA ราคาเป้าหมาย 76 บาท เป็นหุ้น Defensive Play ในกลุ่มพลังงานสะอาด จากแนวโน้มกำไรที่แข็งแกร่งจากการเติบโตของ new S-curve ซึ่งเริ่มรับรู้ในไตรมาสที่สาม โดย FSSIA คาดว่าจะมีการปรับราคาเป้าหมายของ EA ก่อนการบุ๊คกำไรจากธุรกิจ EV และแบตเตอรี่ในไตรมาสที่ 3-4 ปีนี้

ส่วนบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)  หรือ CPALL ราคาเป้าหมาย 76 บาท เป็น Catch-up Play ในกลุ่มพาณิชย์ ซึ่งจะเป็นผู้ได้ประโยชน์หลักจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยงทั้งในไทย และต่างประเทศ FSSIA มองว่าการสร้างซินเนอยี่ระยะยาวระหว่าง MAKRO และโลตัสจะเป็นผลบวกทางอ้อมให้กับ CPALL โดยมูลค่าอาจปรับตัวลงมาที่ 25x บนพื้นฐานการฟื้นตัวของกำไรในปี 2565 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด

ด้านบริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน)  หรือ HMPRO ราคาเป้าหมาย 18.50 บาท FSSIA คาดว่ากำไรปี 2564 จะอยู่ที่ 6.7 พันล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนโควิด โดยการฟื้นตัวของกำไรจะเริ่มเห็นชัดตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 นี้ไปจนถึงปลายปี 2022 ซึ่งมูลค่าในปัจจุบันนั้นอยู่ในระดับที่น่าสนใจ โดยซื้อขายอยู่ต่ำกว่าช่วงก่อนโควิดอยู่ราว 25% ที่ 18.6 บาท ด้วย 28x 2022E P/E ซึ่งเทียบเท่ากับ -1.0SD ของมีน 5 ปี ที่ 33x

ส่วนบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือ DMT ราคาเป้าหมาย 17.00 บาท FSSIA มองว่า DMT จะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์หลักจากการคลายล็อคดาวน์ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. จาก 1) กิจกรรมนอกบ้านที่จะช่วยเพิ่มอัตราการใช้งานทางด่วน และ 2) การเปิดเที่ยวบินในประเทศก็จะช่วยเพิ่มยอดผู้ใช้งานด้วยเช่นกัน

ด้านบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ราคาเป้าหมาย 80.00 บาท ในมุมมองของ FSSIA แล้ว AOT จะเป็นหุ้นท่องเที่ยวตัวแรกที่กำไรจะปรับตัวสูงขึ้นกว่าช่วงก่อนโควิด นำโดยรายได้ที่สูงขึ้นจากสัมปทานกับ King Power ซึ่งการผ่อนผันการันตีขั้นต่ำจะจบลงในมีนาคม 2565 จะทำให้รายได้จากค่าสัมปทานจะเร่งตัวขึ้นตั้งแต่ครึ่งปีหลัง 2565 เป็นต้นไป คาดว่าจะสูงขึ้นแตะ 2.7 หมื่นล้านในปี 2565 เทียบกับ 1.75 หมื่นล้านในปี 2562

ส่วน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ราคาเป้าหมาย 158 บาท FSSIA มองว่า SCB อยู่ในตำแหน่งที่ดีที่สุดในกลุ่มธนาคารที่จะได้รับประโยชน์จากยุคดิจิตอลในภูมิภาคด้วยดิจิทัลแพลตฟอร์มแบบบูรณการของ SCB และการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวให้กับลูกค้าจะช่วยแก้ปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ที่ยืดเยื้อของธนาคารได้ ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผลงานที่แข็งแกร่งในอีกสองปีข้างหน้านี้ ซึ่งจะมาพร้อมกับการจ่ายปันผลที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น ผู้ถือหุ้นก็จะได้รับประโยชน์จาก ROE ที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน

ด้านบริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน)  หรือ JMT ราคาเป้าหมาย 57.00 บาท FSSIA เชื่อว่า JMT จะมีผลงานกำไรที่โดนเด่นกว่าคู่แข่งได้ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 4/2565  โดยมองเป็นหุ้นที่เข้าเล่นในช่วงเศรษฐกิจขาลง ผลักดันโดยพอร์ตสินเชื่อไม่มีหลักค้ำ และจะเติบโตขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากพอร์ตสินเชื้อหลักค้ำของบริษัท

ส่วนบริษัท เน็คซ์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ NCAP ราคาเป้าหมาย 16.80 บาท FSSIA คาดว่า NCAP จะประกาศกำไรที่โดดเด่น โดยมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 38% CAGR 3 ปี (2562-2565) และจากความช่วยเหลือของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และฝ่ายบริหารที่มากด้วยประสบการณ์ NCAP น่าจะสามารถเปลี่ยนตัวเองจากธุรกิจให้เช่าซื้อจักรยานยนต์ไปสู่ผู้ให้บริการเช่าซื้อเทคโนโลยีแบบเต็มรูปแบบได้

สุดท้ายบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ราคาเป้าหมาย 16.00 บาท FSSIA ระบุว่าชอบ BA ที่เป็นหุ้นค่อนข้างมีความเสี่ยงแต่ให้ผลตอบแทนดี โดยซื้อขายอยู่ที่ 15-17x 2023E P/E เทียบกับหุ้นท่องเที่ยวอื่นๆที่ 25-35x โดย P/E ของ BA อาจปรับขึ้นเป็น 20-30x ได้เมื่อตัวบริษัทเปลี่ยนจากผู้ให้บริการสายการบินเป็นผู้ดำเนินการสนามบิน โดยมองว่าหลังจบสัญญาสนามบินสมุย และ Samui Airport Property Fund แล้วนั้น จะทำให้ EBIT ของส่วนที่เกี่ยวข้องกับสนามบินเพิ่มขึ้นเป็น 48% ในปี 2565 และธุรกิจสายการบินจะอยู่ที่ 12%

Back to top button