“เมย์แบงก์” คัด 5 หุ้น Top Picks “แบงก์-ท่องเที่ยว” รับอานิสงส์เฟดเร่งขึ้นดบ.-เปิดประเทศ

“เมย์แบงก์” คัด 5 หุ้น Top Picks “แบงก์-ท่องเที่ยว” รับอานิสงส์เฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย-เปิดประเทศ นำโดย KBANK,SCB,BBL,AOT และ MINT


นายธีรเศรษฐ์ พรหมพงษ์ นักกลยุทธ์เศรษฐศาสตร์มหภาค บล. เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) (MBKET) ให้ความเห็นว่า สำหรับการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เดือน พ.ย.64 มีสองประเด็นที่น่าติดตาม ได้แก่ 1.จุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของ QE Tapering จะเกิดขึ้นในการประชุมครั้งนี้หรือไม่ ซึ่งมุมมองตลาดแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือเฟดจะเริ่ม QE Tapering ในเดือน พ.ย.64 ไปสิ้นสุดในเดือน มิ.ย.65 และ เฟดจะเพียงแค่ประกาศ แต่จะไปเริ่มจริงในเดือน ธ.ค.64 และไปสิ้นสุดประมาณเดือน ก.ค.65 อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากประเด็นนี้น่าจะจำกัดไม่ว่าจะเป็นทางใด เนื่องจากตลาดรับรู้ไปแล้ว และระยะเวลาที่ต่างกันเพียงแค่หนึ่งเดือน ไม่มีนัยสำคัญ

2.มุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ย หากพิจารณาจาก Dot Plot ในเดือน ก.ย.64 พบว่าคณะกรรมการเฟดยังเสียงแตกต่อมุมมองการปรับขึ้นดอกเบี้ย โดย 9 ใน 18 ราย ให้น้ำหนักการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย 1 ครั้งในปี 65 (มี 3 จาก 9 ราย ให้น้ำหนักการขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง) ส่วนอีกครึ่งหนึ่งให้น้ำหนักการคงดอกเบี้ยตลอดทั้งปี 65

แต่อย่างไรก็ตาม ตลอดช่วงเดือน ต.ค.64 จนกระทั่งปัจจุบัน เศรษฐกิจโลกเผชิญกับความกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัว ทำให้มีความเป็นไปได้ที่ในการประชุมครั้งนี้ (แม้จะไม่มีการลงมติผ่าน Dot Plot อย่างเป็นทางการ แต่อาจมีการส่งสัญญาณถึงทิศทางดอกเบี้ยที่กำลังจะถึงจุดเปลี่ยนผ่านในปีหน้า) และต่อเนื่องด้วย Dot Plot ที่จะมีในการประชุมเดือน ธ.ค.64 น่าจะเห็นการให้น้ำหนักขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย 1 ครั้ง พลิกมาเป็นเสียงส่วนใหญ่

สำหรับการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของเฟด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกหลังเกิดวิกฤติโควิด-19 อยู่บนความความไม่แน่นอน ซึ่งผู้กำหนดนโยบายเองก็มีความยากลำบากในการตัดสินใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีสัญญาณที่ขัดแย้งกัน อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัว ตามราคาน้ำมันดิบ เป็นภาวะของ Cost Push Inflation ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้เฟดตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อชะลอผลกระทบเชิงลบ

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่มีความสำคัญไม่แพ้กันคือ ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจภาคแรงงาน นำโดย อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ (Unemployment Rate) และอัตราการมีส่วนร่วมกับตลาดแรงงาน (Labor Force Participation Rate) ที่ในปัจจุบันยังอยู่ในจุดที่แย่กว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 อย่างมีนัยสำคัญ

หากประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไรจะเห็นได้ว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่น่าจะเร็วขึ้น (เร็วกว่า Dot Plot ครั้งล่าสุด ซึ่งเป็นมุมมองอย่างเป็นทางการของเฟด) น่าจะส่งผลให้แนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นต้นทุนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเริ่มชะลอความร้อนแรงลง เป็นผลดีต่อภาคอุตสาหกรรม ซึ่งน่าจะสะท้อนมาในดัชนีชี้นำอย่าง PMI ภาคการผลิตทั่วโลกให้เริ่มฟื้นตัว แต่ในทางตรงข้ามอาจกระทบต่อต้นทุนทางด้านการเงิน (Cost of Fund) ของบริษัท และต้นทุนการกู้ยืมประชาชน ซึ่งอาจส่งผลต่อเนื่องไปยังการบริโภคและการลงทุน ได้เช่นกัน

แต่อย่างไรก็ดีแม้ว่าจะมีทั้งผลดีและผลเสียที่อาจเกิดขึ้น แต่หากการปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปและมีการส่งสัญญาณให้ภาคธุรกิจ และประชาชน สามารถปรับตัวได้ล่วงหน้า คาดว่าน่าจะ Net เป็น Slightly Positive ต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยโดยรวม

ในส่วนของผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย หากประเมินภาพของสินทรัพย์เสี่ยงโดยรวม การปรับขึ้นดอกเบี้ย (รวมไปถึงมาตรการด้านการเงินแบบเข้มงวดด้านอื่นๆ) ถือว่าส่งผลกระทบเชิงลบ เนื่องจากเป็นการดูดสภาพคล่องออกจากตลาด

อย่างไรก็ตาม บริบทของแต่ละตลาดถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย ซึ่งถือว่าอยู่ในสถานะที่น่าจะโดนผลเชิงลบจำกัด เนื่องจาก 1.กระแสเงินลงทุนไม่ได้ไหลเข้ามาเลยในช่วงที่เฟดใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย (นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ -2.51 แสนล้านบาท ในช่วง ตั้งแต่กลางเดือน มี.ค.63 จนถึงปัจจุบัน) 2.เศรษฐกิจไทยน่าจะผ่านพ้นจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 3/64 ซึ่งเป็นช่วงที่โควิด19 สายพันธุ์เดลตาแพร่ระบาด จนส่งผลให้ต้องล็อกดาวน์ นอกจากนี้ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ นำโดย ความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) รวมทั้งตัวเลขส่งออกฟื้นตัวทำจุดสูงสุดในรอบ 3 เดือน

โดยมองว่ากลุ่มหุ้นที่น่าจะได้ประโยชน์ จากแนวโน้มดอกเบี้ยที่มีโอกาสเข้าสู่แนวโน้มขาขึ้นเร็วขึ้นตั้งแต่เดือน ก.ย.65 (ในกรณีที่เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง) หรือ ธ.ค.65 (ในกรณีที่เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง) หากมองภาพโดยรวมไม่เป็นผลดีต่อสินทรัพย์เสี่ยง แต่อย่างไรก็ตามในเชิงของกลยุทธ์การลงทุน ยังมีกลุ่มหุ้นบางกลุ่มที่น่าสนใจ

ได้แก่ 1.กลุ่มธนาคารพาณิชย์ การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของเฟดจะส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยเริ่มเข้าสู่รอบขาขึ้นเช่นกัน หนุน NIM ฟื้นตัว บวกกับเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมเนื่องจากเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงที่เริ่มฟื้นตัวจากการเปิดประเทศ (เริ่มตั้งแต่ 1 พ.ย.) ลดความเสี่ยงจากหนี้เสีย การตั้งสำรองลดลง Top Picks ได้แก่  KBANK,SCB,BBL

2.กลุ่มท่องเที่ยว ถือเป็นหุ้น Domestics ที่มีปัจจัยขับเคลื่อนเฉพาะตัว ผลกระทบเชิงลบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจำกัด ในขณะเดียวกันได้ประโยชน์จากการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ (โดยสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 64 ที่ระดับ 1.7 แสนราย) Top Picks: AOT,MINT

Back to top button