BCH ร่วง 3% เซ่นงบไตรมาส 3 พลิกขาดทุน 400 ลบ.

BCH ลบกว่า 3% เซ่นงบไตรมาส 3/65 พลิกขาดทุน 400 ลบ. หลังรายได้รวมปรับตัวลดลงกว่า 57% ส่วนงวด 9 เดือนกำไรลดลง 37% เหลือ 2.8 พันลบ.


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (10 พ.ย.65) ราคาหุ้น บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH ณ เวลา 10:13 น. อยู่ที่ระดับ 18.20 บาท ลบ 0.60 บาท หรือ 3.19% สูงสุดที่ระดับ 18.60 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 18.00 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 156.54 ล้านบาท

โดยราคาหุ้น BCH ปรับตัวลดลงหลังรายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 3/65 และงวด 9 เดือนแรกของปี 65 พลิกขาดทุน ดังนี้

โดยผลงานไตรมาส 3/65 พลิกขาดทุน 403.08 ล้านบาท จากปีก่อนมีกำไร 2.89 พันล้านบาท เนื่องจาก รายได้รวมอยู่ที่ 3.45 พันล้านบาท ลดลง 56.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่งวด 9 เดือน บริษัทมีรายได้รวมจำนวน 16, 113.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้งวด 9 เดือนบริษัทรายงานกำไรขั้นตันจำนวน 5,143.6 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 26.1 และกำไรก่อนต้นทุนทางการเงิน ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและคำตัดจำหน่าย (EBITDA) จำนวน 4,492.6 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 32.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทจำนวน 2,769.2 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 36.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งรวมรายการผลขาดทุนจากการลดมูลค่าสินค้าคงเหลือและเงินจ่ายล่วงหน้าที่เกี่ยวข้องกับวัดซีนทางเลือกโมเดอร์นาจำนวน 1,597.60  ล้านบาท

โดยก่อนหน้านี้ ศ.ดร.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BCH เปิดเผยว่า บริษัทมีการปรับแผนการดำเนินงานปี 2565 ใหม่ คาดรายได้รวมมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 19,000 ล้านบาท จากเดิมตั้งเป้าจะมีรายได้รวม 17,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2563 (โควิด-19 ยังน้อย) ที่มีรายได้รวม 9,021 ล้านบาท โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากโรงพยาบาลในเครือทุกแห่ง ทั้งในประเทศไทย และสปป.ลาว ฐานผู้ป่วยภาคปกติมีการขยายตัวต่อเนื่อง หลังความกังวลเรื่องโควิด-19 มีน้อยลง และฐานผู้ป่วยโควิด-19 ยังคงสูง รวมไปถึงในส่วนของฐานผู้ป่วยชาวต่างชาติที่ฟื้นตัวกลับมาโดดเด่น และฐานผู้ป่วยประกันสังคมที่เหนียวแน่นกว่าล้านราย

ทั้งนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน เพื่อขยายโรงพยาบาลแห่งใหม่ในประเทศไทยอย่างน้อย 3-5 แห่ง โดยเฉพาะการขยายบริการไปในเขตพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีแผนเปิดโรงพยาบาลประมาณ 3 แห่ง ส่วนที่เหลือเป็นการขยายบริการในโซนกรุงเทพฯ และปริมณฑล เบื้องต้นหากมีการลงทุนจะขยายโรงพยาบาลขนาดอย่างน้อย 100 เตียงต่องบลงทุน 1,000 ล้านบาท ซึ่งน่าจะมีความชัดเจนในช่วงไตรมาสถัดไป

ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/2565 บริษัทจะมีการตั้งบันทึกค่าเผื่อหนี้สูญ หรือค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของวัคซีนโมเดอร์นาเข้ามาบางส่วน โดยอ้างอิงตามการฉีดวัคซีนตามจริงในแต่ละเดือน และต้องรอดูทางผู้ตรวจสอบบัญชีว่า ตามมาตรฐานบัญชีจะให้บันทึกอย่างไรบ้าง ซึ่งผลกระทบดังกล่าวจะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว และมองว่าน่าจะกระทบไม่มากนัก หากเทียบกับฐานการดำเนินงานโดยรวม

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาส 4/2565 บริษัทประเมินว่าผลการดำเนินงานจะออกมาดี เนื่องจากผู้ป่วยภาคปกติไม่มีความกังวลต่อโควิด-19 แล้ว และผู้ป่วยต่างชาติที่เข้ามารักษาค่อนข้างมากในโรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล (World Medical Hospital) รวมถึงโรงพยาบาลในเครือแห่งอื่น ๆ ควบคู่ไปกับการมุ่งเน้นขยายบริการเกี่ยวกับการแพทย์ใหม่ ๆ หรือศูนย์การแพทย์เฉพาะทางระดับสูง ได้แก่ ศูนย์ผู้ป่วยมะเร็ง ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ศูนย์ผู้มีบุตรยาก (IVF) ศูนย์รักษาแผลเบาหวานที่เท้า ศูนย์ผู้ป่วยหัวใจ  ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ศูนย์บริการทางการแพทย์เวชศาสตร์ป้องกัน และฟื้นฟูสุขภาพ เป็นต้น

Back to top button