THCOM บวก 3% รับผนึก “สตาร์ลิงค์” ลุยยานอวกาศ-มั่นใจคว้าดาวเทียม หลัง “กสทช.” เปิดประมูล

THCOM บวก 3% ประกาศคว้าดาวเทียม ต่อยอดธุรกิจ GULF ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ หลังจับมือกับพันธมิตร “สตาร์ลิงค์” ของอีลอน มัสก์ ก้าวเข้าสู่ธุรกิจยานอวกาศ หลังกสทช. เคาะ 8 ม.ค.65 เปิดประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงจรดาวเทียมแบบจัดชุด


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (16 พ.ย.65) ราคาหุ้น บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM ณ เวลา 10:09 น. อยู่ที่ระดับ 11.90 บาท บวก 0.30 บาท หรือ 2.59% สูงสุดที่ระดับ 12 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 11.60 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 78.37 ล้านบาท

สำหรับราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง เป็นผลมาจากข่าว พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้แล้ว โดยหลังจากนี้สำนักงานกสทช.จะเริ่มดำเนินการเพื่อจัดประมูลการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package)

สำหรับหลักเกณฑ์การประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ในครั้งนี้ กสทช.ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ โดยได้มีการปรับลดราคาขั้นต่ำของการประมูลเพื่อให้เกิดการแข่งขันและมีการปรับคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมการประมูล โดยมีการแยกคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมการประมูลในแต่ละชุดข่ายงานดาวเทียมที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะในชุดที่ 4 (วงโคจรที่ 126E) เพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยหรือรายใหม่เข้าสู่การแข่งขันได้ง่าย เพราะราคาเริ่มต้นของชุดข่ายงานดาวเทียมนี้กำหนดเพียง 8 ล้านบาท

“กสทช.คาดว่าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูลฯ ที่ปรับปรุงนี้ จะทำให้มีผู้สนใจเข้าร่วมประมาณ 2-3 ราย โดยสิ่งที่กสทช.ดำเนินการมาก็เพื่อรักษาไว้ซึ่งสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ เพราะหากไม่สามารถหาผู้มาใช้สิทธิในการสร้างและส่งดาวเทียมในวงโคจรทั้ง 5 ชุด ได้ ประเทศไทยอาจโดนเพิกถอนสิทธิดังกล่าวจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ITU ได้ จึงคาดหวังว่าการประมูลครั้งนี้จะบรรลุผลและทำให้กิจการดาวเทียมสื่อสารของประเทศไทยเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานมาสู่ระบบการอนุญาตได้ และมีการพัฒนาเจริญก้าวหน้าต่อไป” พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ กล่าว

ด้าน นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THCOM เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างรอเข้าแข่งขันประมูลวงโคจรดาวเทียมจัดชุดของกสทช. ซึ่งเชื่อว่าบริษัทจะได้รับสัมปทานอย่างน้อย 1 ดวง และหากบริษัทชนะการประมูล ประเมินว่าจะต้องใช้งบลงทุนสร้างดาวเทียม 6,000-7,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีกระแสเงินสดที่ 6,000 ล้านบาท และมีหนี้สินต่อทุน (D/E) ต่ำแค่ 0.1 เท่า โดยเบื้องต้นต้องใช้เวลาในการสร้างดาวเทียมดวงใหม่อีก 2-3 ปี จึงจะเริ่มรับรายได้ และจะเป็นปัจจัยหนุนรายได้ของบริษัทอย่างชัดเจน โดยประเมินว่าในปี 2569 รายได้จะเติบโตถึง 3 เท่าจากปัจจุบัน และใช้เวลาคืนทุนประมาณ 8-9 ปี ขณะที่ดาวเทียมจะมีอายุการใช้งานประมาณ 15 ปี

นายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด หรือ KS กล่าวว่า การเปิดประมูลวงโคจรดาวเทียมครั้งนี้ คาดว่า THCOM จะเป็นตัวเต็งชนะการประมูล หรือแทบจะไม่มีคู่แข่งเลย ถ้าจะมีก็เป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ซึ่งไม่มีความพร้อมและความชำนาญเรื่องนี้ และไม่มีลูกค้าอยู่ในมือเหมือน THCOM หากเข้าร่วมประมูลก็จะไม่คุ้มต้นทุน

นอกจากนี้ กลุ่มบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA อาจเข้าร่วมประมูลครั้งนี้ด้วย ซึ่งก็เป็นปรากฏการใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มทรูต้องการเข้ามาในธุรกิจดาวเทียม เนื่องจากปัจจุบันเป็นผู้ใช้บริการดาวเทียมอยู่แล้ว ขณะที่ต่างชาติก็ยากที่จะเข้าร่วมประมูล เพราะต้องถือหุ้นเป็นคนไทย 51%

สำหรับการใช้วงโคจรคาดว่าจะมีผู้ในใจเช้าร่วมประมูลมากสุด ชุดที่ 3 ประกอบด้วย วงโคจร 119.5E (ข่ายงาน IP1, P3 และ 119.5E) และวงโคจร 120E (ข่ายงาน 120E) ราคาเริ่มต้นการประมูล 397 ล้านบาทเศษ ปัจจุบันเป็นวงโคจรของดาวเทียมไทยคม 4 หรือไอพีสตาร์ ที่กำลังจะหมดอายุการใช้งานภายใน 2 ปีนี้ข้างหน้า หรือประมาณปี 2567 คาดว่าหาก THCOM เป็นผู้ชนะประมูลวงโคจร ก็จะยิงดาวเทียมไทยคม 9 ขึ้นไปแทน ซึ่งต้องใช้เวลาสร้างประมาณ 2 ปีเช่นกัน โดยคาดว่าหลังจากบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เข้ามาถือหุ้นใหญ่ THCOM แล้ว ดาวเทียมดวงใหม่ก็จะมีกลุ่มลูกค้าที่หลายหลายขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ลิงค์ (Starlink) กลุ่มดาวเทียมขนาดเล็กวงโคจรต่ำของของอีลอน มัสก์

ส่วนวงโคจรชุดที่ 2 ประกอบด้วย วงโคจร 78.5E (ข่ายงาน A2B และ 78.5E) ราคาเริ่มต้นการประมูล 360 ล้านบาทเศษ ยังไม่ชัดเจนกว่า THCOM จะเข้าร่วมประมูลด้วยหรือไม่ เนื่องจากไทยคม 6-8 ยังมีอายุใช้งานเหลืออีก 7-8 ปี หากประมูลชนะก็ต้องลงทุนสร้างดาวเทียมดวงใหม่ที่มีต้นทุนประมาณ 7 พันล้านบาท

โดยปัจจุบันดาวเทียมไทยคม 4 สร้างรายได้ให้กับ THCOM ปีละ 1.5 พันล้านบาท ดังนั้นไทยคม 9 จึงไม่น่าจะให้ผลตอบแทนต่ำกว่านี้ ขณะที่ดาวเทียมไทยคม 6, 7, 8 สร้างรายได้ปีละ 1.5 พันล้านบาท

สำหรับกลุ่มลูกค้าของไทยคม 9 คาดว่าจะมาจากกลุ่มผู้ประกอบการมือถือ กลุ่มผู้ให้บริการเคเบิลเป็นหลัก โดยจะรับโอนมาจากกลุ่มลูกค้าของไทยคม 4 โดยจะมีการขายล่วงหน้าให้กับกลุ่มต่าง ๆ หลังจากเป็นผู้ชนะประมูลวงโคจรที่ 119.5E

นายพิสุทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีการประมูลวงโคจรดังกล่าวจะส่งผลบวกต่อหุ้น THCOM และ GULF ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ไทยคม ที่จะสามารถนำไปต่อยอดทางธุรกิจใหม่ ๆ ของกลุ่ม ซึ่งที่ผ่านมาผู้บริหาร GULF มองว่าการประมูลวงโคจรดาวเทียม เป็นการมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ซึ่งมองถึงการขยายไปทำธุรกิจส่งยานขึ้นสู่อวกาศ (Launcher) รวมทั้งธุรกิจท่าอวกาศยาน (Spaceport) เนื่องจากทำเลที่ตั้งมีความเหมาะสม

Back to top button