
GULF เด้ง 2% ทุ่ม 4.2 หมื่นลบ. ปักธงโซลาร์-วินด์ฟาร์ม 1,200 MW ดันกำไรเพิ่มปีละ 2 พันล้าน
GULF เด้ง 2% ไฟเขียวงบลงทุน 4.2 หมื่นล้านบาท เดินหน้า “โซลาร์-วินด์ฟาร์ม” จำนวน 11 โครงการ รวม 746.6 เมกะวัตต์ มั่นใจดันกำไรเพิ่มขึ้นปีละ 2,000 ล้านบาท ขณะที่ 11 โบรกเกอร์ ให้ราคาเป้าหมายเฉลี่ย 59.94 บาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (11 ก.ค.68) ณ เวลา 10:35 น. ราคาหุ้น บริษัท กัลฟ์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF อยู่ที่ระดับ 40.50 บาท บวก 0.75 บาท หรือ 1.89% สูงสดที่ระดับ 40.50 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 40.00 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 491.11 ล้านบาท
สำหรับราคาหุ้นดีดกลับขึ้นมาตอบรับ นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน GULF เปิดเผยว่า ตามที่กลุ่มบริษัทกัลฟ์ได้รับคัดเลือกให้ดำเนินโครงการพลังงานหมุนเวียน และมีการเข้าลงทุนโครงการของบริษัทพันธมิตร ภายใต้แผนรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง ของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) นั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 คณะกรรมการบริษัท มีมติอนุมัติให้กลุ่มบริษัทย่อยของบริษัท ดำเนินการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ภายใต้กลุ่มบริษัท กัลฟ์ รีนิวเอเบิล เอ็นเนอร์จี จำกัด (GRE) ที่มีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ระหว่างปี 2569-2570 จำนวน 11 โครงการ กำลังการผลิตตามสัญญารวม 746.6 เมกะวัตต์
ทั้งนี้โครงการดังกล่าวได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประ เทศไทย (กฟผ.) เป็นระยะเวลา 25 ปี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว มีมูลค่าลงทุนรวมประมาณ 42,000 ล้านบาท
สำหรับ 11 โครงการดังกล่าว ประกอบด้วย โครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (solar farms) จำนวน 4 โครงการ กำลังผลิตตามสัญญารวม 244.6 เมกะวัตต์, โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (solar farms with battery energy storage systems) จำนวน 2 โครงการ กำลังผลิตตามสัญญารวม 126 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม (wind farms) จำนวน 5 โครงการ กำลังการผลิตตามสัญญารวม 376 เมกะวัตต์
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาโครงการดังกล่าวข้างต้น เป็นไปตามแผนบริษัท ที่จะมุ่งเน้นการเพิ่มสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนภายใต้กลุ่มบริษัท เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ทั้งนี้หากมีความคืบหน้าในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม บริษัทจะแจ้งรายละเอียดให้ทราบต่อไป
พร้อมกันนี้เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา GRE ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นสัดส่วน 100% ได้เข้าลงทุนในบริษัท บลู สกาย วินด์ พาวเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (BSWPH) ซึ่งเป็นบริษัทที่ถือหุ้นโดยบริษัท เดอะ บลู เซอร์เคิล (ไทยแลนด์) จำกัด (TBCT) และบริษัท อินฟิ นิท กรีเนอร์จี จำกัด (Infinite) สัดส่วนเท่ากันที่ 50% โดย GRE เข้าซื้อหุ้น 50% ใน BSWPH จาก Infinite คิดเป็นมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น ประมาณ 375,000 บาท ทั้งนี้ GRE ได้ดำเนินการโอนหุ้นแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย ส่งผลให้ปัจจุบัน GRE และ TBCT ถือหุ้นใน BSWPH สัดส่วนเท่ากันที่ 50%
ปัจจุบัน BSWPH ถือหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมจำนวน 5 โครงการในประเทศไทย กำลังการผลิตตามสัญญารวมทั้งสิ้น 436.5 เมกะวัตต์ และมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ ระหว่างปี 2570-2573 โดยจะมี กฟผ. เป็นผู้รับซื้้อไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าว ทั้งนี้หากมีความคืบหน้าในการพัฒนาโครงการดังกล่าว บริษัทจะแจ้งรายละเอียดให้ทราบต่อไป
สำหรับโครงการพลังงานทดแทนทั้ง 16 โครงการ รวมกว่า 1,183 เมกะวัตต์ จะเพิ่มกำไรให้กับบริษัทได้ปีละประมาณ 2,000 ล้านบาท ตามสัดส่วนการถือหุ้น แบ่งเป็น 1) โครงการ “พลังงานแสงอาทิตย์ และ พลังงานลม จำนวน 11 โครงการ สร้างกำไรปีละ 1,100-1,200 ล้านบาท 2) โครงการบลู สกาย วินด์ พาวเวอร์ โฮลดิ้ง อันประกอบด้วยพลังงานลม 5 โครงการ อีกประมาณ 700-800 ล้านบาทต่อปี
ขณะที่ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) มีมุมมองเชิงบวกต่อหุ้น GULF จากโครงสร้างธุรกิจที่มีความมั่นคงและสามารถป้องกันความเสี่ยงได้ดี โดยประเมินว่า GULF แทบไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐฯ ไม่ว่าผลการเจรจาจะออกมาอย่างไร เนื่องจาก 92% ของรายได้มาจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยแบ่งเป็น 80% จากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ, 3% จากพลังงานหมุนเวียน และ 9% จากธุรกิจ LNG
ด้านความเสี่ยงเชิงกฎระเบียบ (regulatory risk) อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับผู้ผลิตไฟฟ้ารายอื่น เนื่องจากมีเพียง 6% ของรายได้เท่านั้นที่มาจากโรงไฟฟ้า SPP จำหน่ายไฟฟ้าให้ภาคอุตสาหกรรมโดยตรง ทั้งนี้ GULF ตั้งเป้าการเติบโตของรายได้ปี 2568 ที่ระดับ 25%
โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลัก 4 ด้าน ได้แก่ 1) การรับรู้รายได้เต็มปีจากโรงไฟฟ้าใหม่ หน่วยที่ 3 และ 4 ของโรงไฟฟ้า กัลฟ์ พีดี หรือ GPD จังหวัดระยอง 2) โรงไฟฟ้าหินกอง หรือ HKP หน่วยที่ 2 กำลังการผลิต 770 เมกะวัตต์ ที่จะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนมกราคม 2568 3) โครงการโซลาร์เพิ่มเติมประมาณ 707 เมกะวัตต์ รวมถึงโซลาร์ฟาร์ม, โซลาร์พ่วงแบตเตอรี่และโซลาร์รูฟท็อป โดยคาดว่าจะเริ่ม COD ได้ภายในสิ้นปี 4) รายได้จากเงินลงทุนในบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ซึ่งคาดว่าจะสามารถรับรู้กำไรจาก ADVANC ได้ราว 10,000-12,000 ล้านบาทในปี 2568 และเพิ่มขึ้นเป็น 15,000-18,000 ล้านบาทต่อปี ตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ สถานะเครดิตของ GULF ยังปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้บริษัทได้รับการปรับอันดับเครดิตจาก A+ เป็น AA- ภายหลังการควบรวมกิจการ
รายงานข้อมูลจาก LSEG CONSENSUS ประมาณการรายได้รวมปี 2568 ของ GULF ที่ 136,128.82 ล้านบาท ประมาณการกำไรสุทธิปี 2568 ที่ 25,194.88 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.83% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ราคาเป้าหมายเฉลี่ย GULF ที่ 59.94 บาท จาก 11 โบรกเกอร์
ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ประเมินว่า การลงทุนในโครงการพลังงานลมทั้งในส่วนที่ถือหุ้น 100% (376.0 เมกะวัตต์) และที่ถือหุ้น 50% (218.3 MWe) จะช่วยสนับสนุนผลกำไรของ GULF เพิ่มขึ้นประมาณ 1,200–1,500 ล้านบาทต่อปีภายหลังโครงการเดินเครื่องครบถ้วน ซึ่งคิดเป็นประมาณ 5–6% ของประมาณการกำไรในปี 2568 และถือเป็น Upside ต่อราคาเหมาะสมได้ราว 1.00 บาทต่อหุ้น ทั้งนี้ ยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” หุ้น GULF ด้วยราคาเหมาะสมที่ 57.00 บาทต่อหุ้น