KJL บวก 5% ลุ้นปี 65 รายได้โต 20% ทะลุเป้า 1 พันล้าน

KJL บวก 5% แย้มผลงานปี 65 ทุบสถิติออลไทม์ไฮ รายได้โต 20% ทะลุเป้า 1 พันล้านบาท พร้อมกางแผนธุรกิจ 3-5 ปี วางเป้ารายได้โตต่อเนื่องปีละ 10-15% เล็งนำเงินที่ได้จากการระดมทุน ขยายกำลังผลิต-พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้าง New S-Curve ก้าวสู่มาตรฐานสากล


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (29 พ.ย. 65) ราคาหุ้น บริษัท กิจเจริญ เอ็นจิเนียริ่ง อีเลคทริค จำกัด (มหาชน) หรือ KJL ณ เวลา 10:37 น. อยู่ที่ระดับ 16.30 บาท บวก 0.80 บาท หรือ 5.16% สูงสุดที่ระดับ 16.40 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 15.40 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 87.61ล้านบาท

นายเกษมสันต์ สุจิวโรดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KJL เปิดเผยว่า ภายหลังการเข้าซื้อขายหลักทรัพย์วันแรกในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 65 จะเร่งนำเงินจากการระดมทุนนำไปใช้ขยายธุรกิจ มุ่งเน้นการเพิ่มกำลังการผลิตรองรับโรงงานแห่งใหม่ที่จะก่อสร้างแล้วเสร็จในปลายปี 65 การใช้ระบบออโตเมชั่นและหุ่นยนต์เพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุน การขับเคลื่อนเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้าร่วมกับพาร์ทเนอร์ องค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงดีไซน์เนอร์ ผ่านศูนย์นวัตกรรม KJL Innovation Campus และขยาย KJL Network สร้างรากฐาน ขยายธุรกิจที่ยั่งยืนและเสริมความแข็งแกร่งให้กับบริษัท รองรับโอกาสการเติบโตในทุกภาคอุตสาหกรรมที่มีการใช้ไฟฟ้า รวมถึงรองรับเมกะเทรนด์ในอนาคต อย่าง Digital Economy หรือการพลังงานทดแทนต่างๆ

ทั้งนี้ ในไตรมาส 4/65 จะเป็นช่วงไฮซีซั่นของอุตสาหกรรม ช่วยหนุนผลงานไตรมาส 4/2565 โตโดดเด่น บริษัทจึงคาดแนวโน้มรายได้ปีนี้ ทะลุเป้า 1 พันล้านบาท โตขึ้น 20% จากปี 64 ที่มีรายได้รวม 845.78 ล้านบาท รวมถึงอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) เพิ่มขึ้นเป็น 12-14% จากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 11-13% ส่วนในอีก 3 ปีข้างหน้า (66-68) บริษัทฯ คาดว่าจะมีรายได้เติบโตปีละ 10-15% และมีกำไรเติบโตต่อเนื่อง

สำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจในปี 66 บริษัทฯ ได้สั่งนำเข้าระบบออโตเมชั่นและหุ่นยนต์ เข้ามาเพิ่มเติม ในการเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าแบรนด์ KJL สินค้าสั่งผลิต สินค้าที่เกี่ยวกับระบบไฟฟ้า และสินค้าโลหะพิเศษแปรรูปสั่งผลิตพิเศษ ให้เพิ่มขึ้น 10-15% จากเดิมที่มีกำลังผลิตสินค้า 20 ล้านชิ้นต่อปี

นอกจากนี้ จะรุกตลาดการออกแบบและผลิตสินค้าโลหะแผ่นแปรรูปสั่งผลิตพิเศษในรูปแบบต่างๆ ที่บริษัทมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ เช่น  ตู้กดบัตรคิว ตู้ ATM ตู้เติมเงิน ตู้เวนดิ้งแมชชีน (Vending Machine) เครื่องมือทางการแพทย์ เฟอร์นิเจอร์โลหะต่าง ๆ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ให้เพิ่มมากขึ้น พร้อมสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นในตลาดโลก ตลอดจนการนำ “โซลาร์รูฟท็อป” มาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าช่วยแก้วิกฤตโลกร้อนและปัญหาค่าไฟแพง ในฐานะที่เป็น “ผู้นำนวัตกรรม ตู้ไฟรางไฟ ขับเคลื่อนไฟฟ้า เพื่ออนาคตคุณ”

Back to top button