ไทยเนื้อหอม “ญี่ปุ่น”จ่อย้าย “ฐานผลิต” จากจีนมาไทย

เอกชนไทย-ญี่ปุ่น หารือร่วมกันผลักดันการลงทุน พร้อมเผยข่าวดีนักลงทุนญี่ปุ่น เล็งย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังไทย


 การประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าและเศรษฐกิจ ไทย – ญี่ปุ่น สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น หรือ เคดันเร็น ยกทัพนักธุรกิจยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น มาตกลงความร่วมมือในการค้าและการลงทุนกับเอกชนไทย เพื่อตอกย้ำความมั่นใจและความเชื่อมั่น เน้นหนักด้าน BCG และ Low Carbon Society โดยญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญกับประเทศไทยในการเป็นฐานการผลิตในอาเซียน และมีแผนที่จะย้ายฐานการผลิตจากจีนมาไทยเพิ่มขึ้น

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถานบัน หรือ กกร. เปิดเผยว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมา นายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนพฤษภาคม ในฐานะแขกของรัฐบาลไทย โดยเป็นการเยือนไทยครั้งแรกในรอบ 9 ปี ของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น  โดยผลการหารือระหว่างผู้นำทั้งสองฝ่ายในครั้งนั้น ได้บรรลุผลเพื่อเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น โดยได้ยกระดับสถานะความสัมพันธ์จาก หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน (Comprehensive Strategic Partnership) อันเป็นผลทำให้เกิดการริเริ่มและความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นอีกหลายด้าน

สำหรับการจัดประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าและเศรษฐกิจ ไทย – ญี่ปุ่น (Thai-Japan Joint Trade and Economic Committee 2023) ในวันนี้ (16 มี.ค.66) เป็นความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) อันประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ สมาคมธนาคารไทย ร่วมกับ สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น หรือ เคดันเร็น ซึ่งเป็นองค์กรภาคเอกชนขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น โดยทั้ง กกร. และ เคดันเร็น ได้มีความร่วมมือที่ใกล้ชิดกันมาเป็นระยะเวลานาน โดยญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญกับประเทศไทยในการเป็นฐานการผลิตในอาเซียน และมีแผนที่จะย้ายฐานการผลิตจากจีนมาไทยเพิ่มขึ้น

นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย ได้ระบุ การจัดงานในครั้งนี้ ได้มีผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้งสองประเทศ ร่วมให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และนำไปสู่การหารือเชิงลึก โดยมีประเด็นที่ที่มีความสนใจร่วมกัน เป็นหัวข้อที่สะท้อนถึงมุมมองที่กว้างขวางและหลากหลายของพัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันของทั้งสองประเทศ อันได้แก่ เศรษฐกิจ BCG, การบริหารจัดการพลังงานสะอาด, การลงทุนด้าน EV, การบริหารจัดการด้าน Logistics ร่วมทั้ง การขยายการผลิตในไทย เป็นต้น

Back to top button