3 หุ้นตัวเต็งโรงไฟฟ้าวิ่งคึก! ลุ้นแบ่งเค้ก “พลังงานหมุนเวียน” 5,000 MW รู้ผล 5 เม.ย.นี้

3 หุ้นตัวเต็งโรงไฟฟ้าวิ่งคึก! ลุ้นแบ่งเค้ก “พลังงานหมุนเวียน” 5,000 เมกะวัตต์ รู้ผล 5 เม.ย.นี้ โบรกคาด GUNKUL คว้าโครงการเข้าราว 27 แห่ง รวม 1,100 เมกะวัตต์ ฟาก BGRIM ลุ้นคว้าลม-แดดกว่า 500 เมกะวัตต์ ส่วน SUPER ลุ้น 22 โครงการ โซลาร์ฯ พ่วงแบตเตอรี่และขยะอุตสาหกรรม


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(31 มี.ค.66) ราคาหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้ากอดคอวิ่ง นำโดยบริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SUPER ราคาหุ้น ณ เวลา 11:20 น. อยู่ที่ 0.66 บาท บวก 0.04 บาท หรือเพิ่มขึ้น  6.45% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 106.39 ล้านบาท

บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL ณ เวลา 11:36 น. อยู่ที่ 4.02 บาท บวก 0.10 บาท หรือเพิ่มขึ้น 2.55% มูลค่าซื้อขาย 260.13ล้านบาท

บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM ราคาหุ้น ณ เวลา 11:37 น. อยู่ที่ 40.50 บาท บวก 0.25 บาท หรือเพิ่มขึ้น 0.62% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 33.35 ล้านบาท

อนึ่งก่อนหน้านี้นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SUPER เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานในช่วง 3 ปี (ปี 2566-2568) บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโตต่อเนื่อง โดยในปีนี้คาดว่าจะมีรายได้ 10,359 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีรายได้รวม 9,571.41 ล้านบาท จากนั้นในปี 2567 คาดจะมีรายได้ 12,022 ล้านบาท และปี 2568 รายได้จะเพิ่มเป็น 13,062 ล้านบาท

ทั้งนี้การเติบโตของรายได้มาจากโครงการที่จะทยอยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) เข้ามา ทั้งโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) และพลังงานลม (วินด์ฟาร์ม) ในประเทศไทยและเวียดนาม ได้แก่ โครงการ Soc Trang กำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์ (MW), โครงการ Bac Lieu จำนวน 70 เมกะวัตต์, โครงการโซลาร์รูฟท็อป เพื่อขายไฟฟ้าให้กับมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 15 เมกะวัตต์, Enserv Private จำนวน 11 เมกะวัตต์ และ Private PPA จำนวน 50 เมกะวัตต์ รวมทั้งโครงการ SPP HYBRID จ.สระแก้ว กำลังการผลิต 16 เมกะวัตต์ จะช่วยสนับสนุนการสร้างรายได้ ส่งผลให้กำลังการผลิตไฟฟ้าที่จ่ายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์เพิ่ม ซึ่งบริษัทจะมีกำลังการผลิตที่ COD เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 1,592 เมกะวัตต์ เป็น 1,652 เมกะวัตต์ภายในปีนี้ ตามแผนขยายการลงทุนรองรับการเติบโตในช่วง 3 ปี (ปี 2566-2568) ภายใต้วงเงินลงทุนกว่า 40,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน SUPER บริษัทยังมีโครงการลงทุนใหม่ที่คาดว่าจะทยอยเข้ามา โดยล่าสุดอยู่ระหว่างรอผลการประมูลภายใต้โครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน แบบ FiT พ.ศ. 2565-2573 ระยะแรก จำนวน 5,203 เมกะวัตต์ เป็นโครงการ โซลาร์ฯ พ่วงแบตเตอรี่ ยื่นไป 19 โครงการ และโครงการขยะอุตสาหกรรม จำนวน 3 โครงการ จะทราบผลในช่วงต้นเดือน เม.ย.นี้ นอกจากนี้บริษัทยังเตรียมยื่นร่วมประมูลพลังงานหมุนเวียน ระยะที่สอง ที่ภาครัฐจะเปิดรับซื้อเพิ่มอีก 3,668.5 เมกะวัตต์ด้วย ส่วนการขยายลงทุนในประเทศเวียดนามนั้น ยังรอแผน PDP8 และอัตราค่าไฟใหม่ก่อน

ด้านนายสมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GUNKUL เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตแตะระดับ 1,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันอยู่ที่ 600 เมกะวัตต์ โดยจะมาจากโครงการลงทุนใหม่ที่จะทยอยเข้ามา โดยเฉพาะโครงการพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะประกาศผลผู้ชนะในวันที่ 5 เม.ย.นี้ โดยมีโครงการของบริษัทที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติและเทคนิคขั้นต่ำจำนวน 25 โครงการ ทั้งโซลาร์ฟาร์ม โซลาร์พ่วงแบตเตอรี่ และพลังงานลม รวม 1,100 เมกะวัตต์

ทั้งนี้บริษัทมั่นใจว่ามีโอกาสที่จะคว้าหลายโครงการ ที่จะส่งผลให้กำลังการผลิตของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยบริษัทมีงบลงทุนที่เตรียมไว้กว่า 2.5 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ภาครัฐมีนโยบายเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มอีก 3,668.5 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทมีความพร้อมยื่นร่วมโครงการแน่นอน แต่ต้องรอทางภาครัฐประกาศออกมาก่อน นอกเหนือจากพลังงานทดแทนตามแผน PDP แล้ว บริษัทยังขยายการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในกลุ่มงานราชการเพิ่มขึ้นอีกด้วย

นอกจากนี้ ภายหลังจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับกลุ่มบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เพื่อพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียน ตั้งเป้ากำลังการผลิต 1,000 เมกะวัตต์ภายใน 5 ปี นอกเหนือจากจำนวนเมกะวัตต์ที่จะทยอยเพิ่มเข้ามาแล้ว ในกลุ่มธุรกิจงานรับเหมาก่อสร้างและวางระบบทางด้านวิศวกรรม (EPC) ก็จะรับผลดีจากโครงการใหม่ที่เพิ่มขึ้นด้วย

สำหรับภาพรวมธุรกิจปี 2566 เชื่อว่าจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องจากปี 2565 ที่มีกำไรสุทธิ 3,010.52 ล้านบาท ส่วนรายได้รวมเท่ากับ 9,515.10 ล้านบาท เนื่องจากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน และธุรกิจ EPC ยังเป็นตัวขับเคลื่อน

ด้านนางสาวศิริวงศ์ บวรบุญฤทัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงินและบัญชี  BGRIM เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างรอผลประกาศผู้ชนะโครงการพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 ซึ่งทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะประกาศผลในวันที่ 5 เม.ย.นี้

โดยมีโครงการของบริษัทที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติและเทคนิคขั้นต่ำจำนวน 25 โครงการ ทั้งโซลาร์ฟาร์ม และพลังงานลม รวมกว่า 500 เมกะวัตต์ ขณะเดียวกัน บริษัทยังเตรียมความพร้อม เพื่อยื่นร่วมโครงการพลังงานทดแทนรอบถัดไป ที่ภาครัฐเตรียมเปิดรับซื้อเพิ่มอีก 3,668.5 เมกะวัตต์ โดยจะยื่นโครงการโซลาร์ฟาร์มเพิ่มเติม

โดยในปีนี้บริษัทคาดว่าจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเติบโตขึ้น เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมาจากโครงการทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งโครงการ SPP Replacement ของ BGRIM ในพื้นที่ EEC รวมทั้งสิ้น 5 โครงการ กำลังการผลิตรวม 700 เมกะวัตต์ ได้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) เรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกันบริษัทคาดว่าปริมาณการขายไฟฟ้ากลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม (IU) จะเพิ่มสูงขึ้น ตั้งเป้าปริมาณขายไฟ IU ปีนี้เพิ่มขึ้นอีก 50-60 เมกะวัตต์

ทั้งนี้บริษัทวางกลยุทธ์การเติบโตในปี 2566-2573 จะมีกำลังการผลิตเติบโตขึ้นเป็น 10,000 เมกะวัตต์ จากสิ้นปี 2565 อยู่ที่ 3,338 เมกะวัตต์ โดยจะมี EBITDA มากกว่า 3.5 หมื่นล้านบาทต่อปี และมีอัตรากำไร EBITDA ที่ 35% ภายในปี 2573 โดยจะมุ่งเน้นการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น มีเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้มากกว่า 50% ในปี 2573 จากปัจจุบันที่มีอยู่ 25%

บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้ จะมีการเปิดประมูลผู้จัดหาไฟฟ้าพลังงานหมนุ เวียน กำลังการผลิตรวม 3.66 พันเมกะวัตต์รอบใหม่ เพื่อบรรลุเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดของไทย โดย NEPC คาดว่าการเปิดประมูลจะเป็นหลังเลือกตั้งคือ ราวไตรมาส 3/66

การเปิดประมูลจัดหาไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรอบนี้ โดยหลักจะเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์+ระบบเก็บไฟฟ้ารวม 2.632 พันเมกะวัตต์, โรงไฟฟ้าพลังลม 1 พันเมกะวัตต์, โรงไฟฟ้าชีวมวล355 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม 30 เมกะวัตต์

นอกจากนี้จะมีการประกาศผลการคัดเลือกผู้ชนะจัดหาไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 5.2 พันเมกะวัตต์ในวนัที่19 เม.ย.65หลังจากที่กกพ.เปิดให้บริษัทเอกชนที่สนใจสมัครเข้ารับการคัดเลือกผู้จัดหาไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรวมทั้งหมด 5.2 พันเมกะวัตต์ไปก่อนหน้านี้(โดยเป็นไบโอแก๊ส 335 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้าลม 1.5 พันเมกะวัตต์, โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 2.368 พันเมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์+ระบบเก็บไฟฟ้า 1.0 พันเมกะวัตต์)

บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้(31มี.ค.66)ว่า ใกล้ประกาศผลผู้ได้รับคัดเลือกให้ขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 5,200 MW ในวันที่ 5 เม.ย. คาด GUNKUL ที่มีโครงการเข้าพิจารณาถึง 27 แห่ง มากที่สุด น่าจะได้รับคัดเลือกในสัดส่วนที่สูงเช่นกัน ให้ราคาเป้าหมาย 4.80 บาท  ตัดขาดทุน 3.80 บาท

Back to top button