4 หุ้นอาหาร! ขาลง หวั่นตัวเลขส่งออก Q1 หด 8%

4 หุ้นอาหารไตรมาสแรก ราคาร่วงหนัก หลังตัวเลขส่งออกหดตัวต่อเนื่อง ล่าสุดเดือนก.พ. หดตัว 4.6% ฟาก “กระทรวงพาณิชย์” คาดตัวเลขส่งออกไตรมาส 1/66 หดตัว 8% ทำหุ้น BTG นำทีมราคาดิ่งหนัก 29%


ผู้สื่อข่าวรายงาน กลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารที่เน้นส่งออกไปต่างประเทศพบว่า ราคาหุ้นมีการปรับตัวลงต่อเนื่องในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ จนราคาอ่อนตัวลงมาทำนิวโลว์รอบใหม่อย่างเช่น บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน)  หรือ BTG ราคาหุ้นปรับตัวลงจากระดับสูงสุด ณ วันที่ 30 ธ.ค.65 อยู่ที่ระดับ 34.00 บาท ลงมาปิดล่าสุดวันนี้ (31มี.ค.66) ที่ระดับ 26.25 บาท หรือลดลง 29.52%

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)  หรือ TU ราคาหุ้นปรับตัวลงจากระดับสูงสุด ณ วันที่ 30 ธ.ค.65 อยู่ที่ระดับ 16.90  บาท ลงมาปิดล่าวันนี้ที่ระดับ 14.10 บาท หรือลดลง 19.85%

ด้านบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ราคาหุ้นปรับตัวลงจากระดับสูงสุด ณ วันที่ 30 ธ.ค.65 อยู่ที่ระดับ 24.80 บาท ลงมาปิดล่าสุดวันนี้ (31 มี.ค.66) ที่ระดับ 21.20 บาท หรือลดลง 16.98%

บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) หรือ GFPT ราคาหุ้นปรับตัวลงจากระดับสูงสุด ณ วันที่ 30 ธ.ค.65 อยู่ที่ระดับ 12.80 บาท ลงมาปิดล่าสุดวันนี้ (31มี.ค.66) ที่ระดับ 11.30 บาท หรือลดลง 13.27%

โดยวานนี้(30มี.ค.66)กระทรวงพาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนก.พ.66 พบว่า มูลค่าการส่งออก อยู่ที่ 22,376 ล้านดอลลาร์ หดตัว 4.7% ส่วนมูลค่าการนำเข้า อยู่ที่ 23,489 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 1.1% ส่งผลให้ในเดือนก.พ. ไทยขาดดุลการค้า 1,113 ล้านดอลลาร์

ขณะที่ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.พ.66) มูลค่าการส่งออก อยู่ที่ 42,625 ล้านดอลลาร์ หดตัว 4.6% มูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 48,388 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 3.3% ส่งผลให้ช่วง 2 เดือนแรกปีนี้ไทยขาดดุลการค้า 5,763 ล้านดอลลาร์

กระทรวงพาณิชย์ ยังประเมินด้วยว่า การส่งออกของไทยในไตรมาสแรกปีนี้ จะหดตัวราว 8% ซึ่งเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ได้หารือร่วมกับภาคเอกชนผู้ส่งออกสินค้า เนื่องจากประเทศผู้นำเข้ายังมีสต็อกสินค้าอยู่ในปริมาณสูง จึงทำให้ชะลอการนำเข้าสินค้าจากไทย ประกอบกับเมื่อเทียบกับฐานที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อน (ไตรมาส 1 ปี 65) ที่มูลค่าการส่งออก เพิ่มขึ้นถึง 14.7%

โดยการส่งออกยังมีโอกาสจะติดลบต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ และคาดว่าตั้งแต่ครึ่งหลังของปีนี้เป็นต้นไป ทิศทางการส่งออกจะเริ่มดีขึ้นได้

อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์ ยังคงเป้าหมายการส่งออกของไทยในปีนี้ไว้ตามเดิมที่ 1-2%

นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า สำหรับการส่งออกในเดือนก.พ. หากแยกเป็นรายกลุ่มสินค้า พบว่า

-กลุ่มสินค้าเกษตร มีมูลค่าการส่งออก 1,883 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 1.5% ขยายตัวครั้งแรกในรอบ 5 เดือน สินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ ผลไม้สดแช่เย็น-แช่แข็ง, ทุเรียนสด, ลำไยสด, ไก่สดแช่เย็น-แช่แข็ง, ข้าว, ทุเรียนแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง

-กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร มีมูลค่าการส่งออก 2,024 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 5.6% กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 3 เดือน สินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์, น้ำตาลทราย เป็นต้น

-กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม มีมูลค่า 1,621 ล้านดอลลาร์ ลดลง 6.2% โดยเป็นการหดตัวต่อเนื่อง 5 เดือน แต่สินค้าที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) , รถยนต์, รถจักรยานยนต์, หม้อแปลงไฟฟ้า เป็นต้น

สำหรับตลาดส่งออกของไทยที่ขยายตัวสูงสุด 5 อันดับแรกในเดือนก.พ. ได้แก่ อันดับ 1 ตลาดซาอุดีอาระเบีย ขยายตัว 56.2% อันดับ 2 บรูไน ขยายตัว 45.2% อันดับ 3 ฮ่องกง ขยายตัว 28.6% อันดับ 4 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ขยายตัว 23.8% และอันดับ 5 แอฟริกาใต้ ขยายตัว 22.2%

ด้านบริษัท หลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์(27 มี.ค.66) ว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ราคาไก่ทรงตัวที่ 35.5 บาท เพราะผลผลิตเข้าสู่ตลาดน้อยลง สอดคล้องกับการบริโภค ราคาสุกรไทยตามรายงานกรมการค้าภายในโต 1.91% เทียบสัปดาห์ก่อนหน้ามาที่ 85.5 บาท เพราะอากาศร้อน สุกรโตช้า ผลผลิตเข้าสู่ตลาดน้อยลง

ส่วนราคาสุกรเวียดนาม โต 2.06% เทียบสัปดาห์ก่อนหน้ามาที่ 49,500 ดองหรือ 64.3 บาท เพราะผลผลิตเข้าสู่ตลาดน้อยลง ขณะที่ราคาสุกรจีน ลดลง 0.22% เทียสัปดาห์ก่อนหน้ามาที่ 15.15 หยวนหรือ 75.7 บาท เพราะการบริโภคลดลงและสต๊อกในตลาดมีมากขึ้น

โดยให้น้ำหนักกลุ่มฯ NEUTRAL ให้ CPF ราคาเป้าหมาย 29.5 บาท ส่วน GFPT ราคาเป้าหมาน 15.30 บาท เป็น Top pick ชอบบริษัทที่มีธุรกิจหรือส่งออกไปยังญี่ปุ่น-จีน และธุรกิจที่เกี่ยวข้องการบริโภคในไทย เพราะคาดเศรษฐกิจขยายตัว และการท่องเที่ยวฟื้นตัวจะทำให้ความต้องการอาหารเพิ่มขึ้น

ส่วนบริษัทที่ธุรกิจหรือส่งออกสินค้าไปสหรัฐ-ยุโรปยังดูไม่น่าสนใจเพราะความเสี่ยงเรื่องอัตราเงินเฟ้อสูง อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น และการขึ้นค่าแรง

Back to top button