6 หุ้นแบงก์วิ่งคึก! รับดอกเบี้ยขาขึ้น-ลุ้น Q2 โตต่อ โบรกชู BBL-KTB เด่นกลุ่ม

6 หุ้นแบงก์วิ่งคึก! รับดอกเบี้ยขาขึ้น-ลุ้น Q2/66 กำไรโตต่อ “บล.เอเซีย พลัส” คาดดอกเบี้ยนโยบายจะขึ้นมาที่ 2.25-2.50% แนะ BBL-KTB เด่นสุดในกลุ่ม พร้อมเผยหุ้นไทยปรับฐานลงมาแล้ว 8% จากต้นปี ถือว่า Laggard กว่าตลาดหุ้นโลกที่ปรับขึ้น 8% ทำให้มีมูลค่าน่าสนใจ ด้านแบงก์กรุงเทพ นำร่องขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก 0.05-0.25% และเงินกู้ 0.20%


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (2 มิ.ย.66) ราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ปรับตัวขึ้นยกแผง นำโดยบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ณ เวลา 10.55 น. อยู่ที่ระดับ 105.50 บาท บวก 1.50 บาท หรือ 1.44% สูงสุดที่ระดับ 106.00 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 104.00 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 713.61 ล้านบาท

ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ณ เวลา 11:02 น. อยู่ที่ระดับ 19.40 บาท บวก 0.30 บาท หรือ 1.57% สูงสุดที่ระดับ 19.40 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 19.10 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 606.04 พันล้านบาท

ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ณ เวลา 11:03 น. อยู่ที่ระดับ 131.50 บาท บวก 2.50 บาท หรือ 1.94% สูงสุดที่ระดับ 132.00 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 130.00 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย  557.48 ล้านบาท

ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB ณ เวลา 11:04 น. อยู่ที่ระดับ 1.64 บาท บวก 0.02 บาท หรือ 1.23% สูงสุดที่ระดับ 1.64 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 1.61 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย  367.79 ล้านบาท

ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ณ เวลา 11:06 น. อยู่ที่ระดับ  163.50 บาท บวก 0.50 บาท หรือ 0.31% สูงสุดที่ระดับ 164.00 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 163.00 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย  119.26 ล้านบาท

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY ณ เวลา 11:06 น. อยู่ที่ระดับ 31.00 บาท บวก 0.50 บาท หรือ 1.64% สูงสุดที่ระดับ 31.25 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 30.75 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 16.87 ล้านบาท

ด้านนายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด หรือ ASPS เผยว่า หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามตลาดคาดอีก 0.25% มาที่ 2.00% (จุดเริ่มต้นของวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นรอบนี้ที่ 0.50%) และยังไม่ส่งสัญญาณหยุดขึ้นดอกเบี้ยชัดเจนในการประชุมรอบนี้ ซึ่งในความเห็นของ ASPS หากการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน หรือ Core CPI ปี 2566-2567 สอดคล้องกับมุมมองของกนง. ภายใต้หลักอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเป็นบวก บ่งชี้ปลายทางของขาขึ้นในวัฏจักรดอกเบี้ยรอบนี้จะอยู่ที่ 2.25-2.50%

สำหรับการปรับเพิ่มของอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ คาดเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของกลุ่มฯ ให้สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในลำดับถัดไป ประกอบกับการเพิ่ม M-Rate ช่วงเดือน เม.ย. 2566 ประเมินเป็นแรงส่งต่อรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิงวดไตรมาส 2/2566 และต่อเนื่องไตรมาส 3/2566 โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ภาพรวมผลักดันกําไรสุทธิกลุ่มฯ ไตรมาส 2-3/2566 ขยายตัว ทั้งเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาและช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมองว่าธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL เด่น

ขณะที่ กลุ่มแบงก์มีความน่าสนใจในเชิงของมูลค่า (Valuation) มีราคาตลาดต่อหุ้น (P/BV) ซื้อขาย 0.69 เท่า และ PER ที่ 8.7 เท่า อีกทั้งให้ดิวิเดนด์ยีลด์สูงเมื่อเทียบกับหุ้นใน SET100 โดยกลยุทธ์การลงทุนสำหรับกลุ่มฯ เลือกแบงก์ที่คุณภาพสินทรัพย์แกร่งเมื่อเทียบกับกลุ่มฯ รวมทั้งอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ในการพิจารณา

ดังนี้ KTB ราคาเป้าหมาย 20.3 บาท ได้ประโยชน์จากการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเป็นอันดับต้น ๆ ของกลุ่มฯ รวมทั้งการขยายตัวด้านดิจิทัลผ่านแอปฯ เป๋าตังและถุงเงิน นอกจากนี้ ROE งวดไตรมาส 1/2566 สูงสุดในกลุ่มแบงก์ใหญ่ที่ 10.5% เกิน Pre-COVID ที่ 9.0% ตรงข้ามกับราคาหุ้นปัจจุบันที่ 19 บาท ต่ำกว่าปี 2562 ที่เคยทำจุดสูงสุดที่ 20.2 บาท รวมทั้งคาดดิวิเดนด์ยีลด์ 4% ต่อปี

BBL ราคาเป้าหมาย 174 บาท มี Coverage Ratio และ LLR/Loan สูงสุดในกลุ่มฯ ที่ 265% และ 9.9% ตามลำดับ พร้อมเผชิญความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ประเมินดิวิเดนด์ยีลด์ 3.2% ต่อปี

ส่วนบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ราคาเป้าหมาย 132 บาท จากดิวิเดนด์ยีลด์ประมาณ 6% ต่อปี

ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ราคาเป้าหมาย 140 บาท มองว่าราคาหุ้น Underperform แบงก์ใหญ่อื่น ๆ สะท้อนแรงกดดันด้านคุณภาพสินทรัพย์พอสมควรในปีนี้ จน P/BV ซื้อขาย 0.59 เท่า หากฟันด์โฟลว์ไหลกลับหลังการเมืองชัดเจน หรือทางพื้นฐาน Credit Cost ดีกว่า ASPA และตลาดคาดการณ์ น่าจะเป็น Catalyst ต่อราคาหุ้น

ส่วนแบงก์เล็กเลือก TISCO ราคาเป้าหมาย 108 บาท ที่มี Coverage Ratio ราว 248% และ BIS Ratio, ROE, ดิวิเดนด์ยีลด์ที่ 8.3% ล้วนสูงสุดในกลุ่มฯ และ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP ราคาเป้าหมาย 73 บาท ที่มี Coverage Ratio ราว 143% และดิวิเดนด์ยีลด์ประมาณ 5%

บล.เอเซีย พลัส เผยด้วยว่า ตลาดหุ้นไทยที่ปรับฐานมาแล้วกว่า 8% จากต้นปี 2566 ถือว่า Laggard กว่าตลาดหุ้นโลกที่ปรับขึ้น 8% จากต้นปีนี้ รวมถึง Valuation ตลาดหุ้นไทยยังถือว่ามีความน่าสนใจ ทั้ง MEYG ราว 4% ยังสูงกว่าหลายประเทศ

BBL ขยับดอกเบี้ย

ทางด้านนายสุวรรณ แทนสถิตย์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL เผยว่า ธนาคารได้ประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้เพิ่มขึ้น โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากปรับขึ้น 0.05-0.25% เงินฝากสะสมทรัพย์ เป็น 0.60% ต่อปี เงินฝากประจำ 3 เดือน เป็น 0.95% ต่อปี เงินฝากประจำ 6 เดือน เป็น 1.05% ต่อปี เงินฝากประจำ 12 เดือน เป็น 1.35% ต่อปี เงินฝากประจำ 24 เดือน เป็น 1.75% ต่อปี และเงินฝากประจำ 36 เดือน เป็น 1.90% ต่อปี ส่วนเงินฝากสะสมทรัพย์ e-Saving วงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท 1.50% ต่อปี และวงเงินส่วนที่เกิน 1 ล้านบาท 0.60% ต่อปี

ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อปรับขึ้น 0.20% โดยอัตราดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์ (MLR) หรืออัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (Minimum Loan Rate) เป็น 6.85% ต่อปี เอ็มโออาร์ (MOR) หรืออัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (Minimum Overdraft Rate) เป็น 7.30% ต่อปี และเอ็มอาร์อาร์ (MRR) หรืออัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate) เป็น 7.05% ต่อปี

และการปรับอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้เป็นไปตามการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2566

บล.กรุงศรี ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้(2 มิ.ย.66) ประเมิน SET  แกว่งตัว 1,510  1,530 จุด แม้ภาวะตลาดจะได้ sentiment บวกจากข่าวสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐลงมติผ่านร่างกฎหมายขยายเพดานหนี้รวมถึงความคาดหวังว่า FED จะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้หลังต้นทุนแรงงานต่อหน่วยชะลอตัวลง อย่างไรก็ตามแรงขายจากฟันด์โฟลว์ต่างชาติที่เข้ามาต่อเนื่อง จะกดดันให้ดัชนีสลับอ่อนตัวลง โดยกลยุทธ์การลงทุน: Selvectie buy กลุ่มแบงก์ อาทิ BBL, KTB, TTB, KBANK และ SCB แนวโน้มกำไรไตรมาส 2/66 ยังคงเติบโต

Back to top button