มติผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งศาลรธน.วินิจฉัย ปมชงชื่อ ‘พิธา’ นายกฯอีกรอบได้หรือไม่

ผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงผลการประชุม ปมกรณีเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกฯซ้ำไม่ได้ ชี้ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ส่งศาลรธน.วินิจฉัย


เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2566  พันตำรวจโท กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน เรื่อง การขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นคำร้องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญตีความกรณีรัฐสภาลงมติวินิจฉัยว่าการเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีซ้ำ ถือเป็น “ญัตติ” ที่ไม่เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 41 นั้น เป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพหรือไม่

โดยเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องจากที่ประชุมของรัฐสภา เมื่อวันที่ 19 ก.ค.2566 ได้มีการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 โดยมีสมาชิกรัฐสภาเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในที่ประชุมพิจารณาเป็นครั้งที่ 2 แต่มีประเด็นโต้แย้งว่าการเสนอชื่อนั้นเป็นการเสนอญัตติซ้ำ อันเป็นการต้องห้ามตามข้อบังคับการประชุมของรัฐสภา ข้อที่ 41 หรือไม่ โดยข้อบังคับกำหนดว่าญัตติใดที่ตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกัน ขึ้นเสนออีกในการสมัยประชุมเดียวกัน

กรณีนี้ประธานรัฐสภาได้ดำเนินการใช้ข้อบังคับการประชุมตามข้อที่ 151 ขอให้สมาชิกลงมติวินิจฉัยว่าเป็นการเสนอญัตติซ้ำหรือไม่ ซึ่งที่ประชุมมีมติ 395 ต่อ 312 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง ซึ่งสรุปว่าการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ครั้งที่ 2 เป็นการขัดต่อข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 41 ทำให้ไม่สามารถชื่อบุคคลดังกล่าวได้อีกต่อไปในสมัยการประชุมนี้

ซึ่งนับตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค.2566 เป็นต้นมา เป็นที่ทราบกันดีว่าทั้งในรัฐสภา นักวิชาการ และประชาชน มีความสงสัยว่าการดำเนินการของรัฐสภาในกรณีดังกล่าว ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งนับแต่วันดังกล่าว ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและผู้ตรวจการแผ่นทั้ง 2 คน ได้มอบหมายให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินติดตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการของรัฐสภาดังกล่าว

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 21 ก.ค. จนถึงวันนี้ (24 ก.ค.) มีสมาชิกรัฐสภาและประชาชนได้ยื่นคำร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้พิจารณาวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว ซึ่งขณะนี้รับเรื่องไว้ทั้งสิ้น 17 คำร้อง ซึ่งในคำร้องเหล่านั้นมีคำขอที่สำคัญที่จะพิจารณาใน 12 เรื่อง เช่น

  1. การกระทำของรัฐสภาที่มีมติไม่ให้มีการเสนอรายชื่อบุคคลเพื่อให้ความเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นการกระทำที่เสนอเสนอญัตติซ้ำเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
  2. ผู้ร้องเรียนมีความประสงค์ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำขอไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญออกมาตรการหรือวิธีการชั่วคราว เพื่อให้ชะลอการให้ความเห็นชอบในการที่จะเห็นชอบบุคคลที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ ไว้ชั่วคราวก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

ซึ่งในกรณีนี้ปรากฏว่าจากการที่ได้ติดตามข้อมูลข่าวสารได้รับทราบว่าในวันที่ 27 ก.ค.2566 รัฐสภาได้มีการประกาศว่าให้มีการลงมติให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ ซึ่งกรณีนี้ทางผู้ตรวจการแผ่นดินทุกท่านมีความเห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะพิจารณาให้เสร็จสิ้นก่อนที่จะมีการนัดประชุมครั้งต่อไป เนื่องจากยังมีประเด็นเรื่องข้อสงสัยการมีมติของรัฐสภาในวันที่ 19 ก.ค.ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

พันตำรวจโท กีรป กล่าวว่า ในวันนี้ (24 ก.ค.) ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีการประชุมปรึกษาหารือและเห็นชอบร่วมกันแล้ว มีมติดังต่อไป  1. ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า การดำเนินการเพื่อที่จะให้ความเห็นชอบรายชื่อบุคคลที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ นั้น เป็นการกระทำตามขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ซึ่งมิใช่เป็นกรณีที่จะต้องปฏิบัติในเรื่องของการเสนอญัตติตามข้อบังคับของที่ประชุมรัฐสภาข้อที่ 41 เพราะว่าการเสนอรายชื่อบุคคลที่จะได้รับการให้ความเห็นชอบดำรงตำแหน่งนายกฯ มีกำหนดไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญและในข้อบังคับ ซึ่งคนละหมวดกันกับในเรื่องของการเสนอญัตติเข้าที่ประชุมรัฐสภา

ผู้ตรวจการแผ่นดินปรึกษาหารือและเห็นชอบร่วมกันว่าการดำเนินการขอรัฐสภาวันที่ 19 ก.ค.2566 ถือว่าเป็นหน่วยงานที่ใช้อำนาจรัฐและมีการกระทำที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญตามมาตรา 88 และมาตรา 159 ประกอบมาตรา 272 จึงมีมติร่วมกันที่จะให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

  1. ผู้ตรวจการแผ่นดินได้พิจารณาคำร้องเรียนของผู้ร้องเรียนจำนวนหนึ่งที่ขอให้มีการยื่นคำพร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวเพื่อชะลอการให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไว้เป็นการชั่วคราว

ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินได้ดำเนินการแล้วเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวมีลักษณะที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ประกอบกับปล่อยให้มีการดำเนินการคัดเลือกหรือให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกฯแล้ว หากมีการดำเนินการใด ๆ ต่อไป ก่อนที่ศาลจะมีคำวินิจฉัยว่าขัดหรือแย้งต่อศาลรัฐธรรมนูญ อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรง และยากต่อการที่จะเยียวแก้ไข

ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงมีความเห็นชอบร่วมกันที่เห็นด้วยกับคำร้องเรียนของผู้ร้องที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวเพื่อชะลอการให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีออกไปก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

 

X
Back to top button