“ศาลรธน.” ไม่รับคำร้องปมเสนอชื่อ “พิธา” เป็นนายกรัฐมนตรีซ้ำ

ศาลรัฐธรรมนูญ ปัดตกปมผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องรัฐสภามีมติห้ามเสนอชื่อโหวตนายกฯ ซ้ำขัดรัฐธรรมนูญ ชี้ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง ไม่สามารถใช่ช่องมาตรา 213 ได้


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (16 ส.ค.66) คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นัดประชุมเพื่อพิจารณากรณีผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผู้ร้อง) ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 กรณีที่รัฐสภา (ผู้ถูกร้อง) มีมติตีความว่าการเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบในรอบที่สอง เป็นญัตติทั่วไป ต้องห้ามนำเสนอญัตติซ้ำอีกตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อ 41 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เป็นการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของผู้ร้องเรียนประกอบด้วย นายพรชัย เทพปัญญา ที่ 1 นายบุญส่ง ชเลธร ที่ 2 และนางปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์ และคณะ ที่ 3 ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 5 วรรคหนึ่ง มาตรา 25 วรรคสาม และมาตรา 27

โดยผู้ร้อง กล่าวอ้างว่าผู้ร้องที่ 1 และ 2 เป็นประชาชนที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยเลือกพรรคก้าวไกลซึ่งมี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นบุคคลเพียงรายชื่อเดียวที่พรรคก้าวไกลเสนอชื่อ เป็นบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี และผู้ร้องที่ 3 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล การที่รัฐสภามีมติดังกล่าวละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของผู้ร้องเรียนทั้งสาม และขอให้กำหนดมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญโดยให้มีคำสั่งยุติการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

ในเวลาต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญได้ออกเอกสารข่าวกรณีผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผู้ร้อง) ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่ากรณีรัฐสภา (ผู้ถูกร้อง) มีมติตีความว่าการเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบในรอบที่สอง เป็นญัตติทั่วไป ต้องห้ามนำเสนอญัตติซ้ำอีกตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อ 41 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 272

ข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำร้องแก้ไขเพิ่มเติมคำร้อง และเอกสารประกอบ สรุปได้ว่า ผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผู้ร้อง) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากรองศาสตราจารย์พรชัย เทพปัญญา (ผู้ร้องเรียนที่ 1) และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญส่ง ชเลธร (ผู้ร้องเรียนที่ 2) ซึ่งเป็นบุคคลผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของพรรคก้าวไกล และนางปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล และคณะซึ่งเป็นประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งและเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล จำนวน 17 คน (ผู้ร้องเรียนที่ 3)

กับผู้ร้องเรียนเพิ่มเติมอีก 13 คน ซึ่งเป็นประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยผู้ร้องเรียนทุกคนกล่าวอ้างว่า การที่รัฐสภามีมติดังกล่าวละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของผู้ร้องเรียนทุกคน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 5 วรรคหนึ่ง มาตรา 25 วรรคสาม และมาตรา 27 และขอให้กำหนดมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญโดยให้มีคำสั่งยุติการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

ผลการพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 46 เป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์ให้ศาลรัฐธรรมนูญคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลจากการกระทำละเมิดโดยใช้อำนาจรัฐ แต่บุคคลที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต้องเป็นบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรง

สำหรับกระบวนการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบเฉพาะจากบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอและเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 เท่านั้น ดังนั้น ผู้มีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาให้ความเห็นชอบจากรัฐสภาต้องเป็นผู้ที่พรรคการเมืองเสนอตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง อันเป็นสิทธิเฉพาะบุคคลที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ก่อตั้งขึ้นเป็นหลักการใหม่ของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นอกเหนือจากสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยที่บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในหมวด 3 เมื่อผู้ร้องเรียนทุกคนไม่ใช่บุคคลที่พรรคการเมืองแจ้งรายชื่อไว้ว่าจะเสนอรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี

ทั้งไม่ได้เป็นบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอชื่อต่อรัฐสภา ผู้ร้องเรียนทุกคนจึงไม่ใช่บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรง ไม่อาจใช้สิทธิยื่นคำร้องเรียนได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 กรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 46 วรรคหนึ่ง ประกอบมีช่องทางในการยื่นคำร้องที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นการเฉพาะแล้ว ดังนั้นผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ได้

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย เมื่อมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว คำขออื่นย่อมเป็นอันตกไป.

Back to top button