ล้อมคอก “ระบบเตือนภัย” DES – กสทช. เตรียมดัน cell broadcast แจ้งเหตุฉุกเฉิน

เหตุสะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นในห้างดังใจกลางกรุงเทพ จนทำให้นักท่องเที่ยวชาวจีนเสียชีวิต 1 ราย กำลังถูกตั้งคำถามจากสังคมว่า ส่วนหนึ่งมาจากไทยขาด “ระบบเตือนภัย” จนเป็นที่มาที่ DES - กสทช. เตรียมดัน cell broadcast แจ้งเหตุฉุกเฉิน


เหตุกราดยิงกลางห้าง “สยามพารากอน” หนึ่งแลนด์มาร์คและหมุดหมายการท่องเที่ยวสำคัญด้านการท่องเที่ยวของไทย จนกลายเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยว เพราะภาพที่ออกไปสู่สายตาชาวโลก คือความโกลาหลของผู้คนทั้งชาวไทยและต่างชาติ ที่พากันวิ่งหนีตายทันทีที่ได้ยิงเสียงปืนดังขึ้น และยังมีอีกส่วนหนึ่งที่ติดค้างตามร้านค้าต่างๆ โดยไม่รู้ว่ามีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้น

คำถามที่เกิดขึ้นทันทีจากเหตุการณ์นี้ นั้นคือ กลไก “ระบบเตือนภัย” หรือการแจ้งเตือนเหตุการณ์สำคัญที่มีผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก ซึ่งดูเหมือนไร้ประสิทธิภาพในการจัดการ จนทำให้เกิดการสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

จึงเป็นที่มาที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส นำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับห้างดังใจกลางกรุงมาเป็นบทเรียน ถอดแบบการจัดทำ “ระบบเตือนภัย” จากภาครัฐกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยเฉพาะสถานที่สำคัญ และมีประชาชนอาศัยอยู่จำนวนมาก ผ่านระบบการแจ้งเตือนที่เรียกว่า cell broadcast

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่าขณะนี้ ดีอีเอส และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. อยู่ระหว่างการทำเรื่องระบบ cell broadcast หรือที่รู้จักกันว่า เป็นระบบการส่งข้อความแบบกระจายจากเสาโทรศัพท์ ไปยังโทรศัพท์มือถือพร้อมกันทั้งหมด ซึ่งใช้เตือนภัยแบบเจาะจง โดยจะมีการดำเนินการจัดตั้งศูนย์ command center สำหรับโอเปอร์เรเตอร์รับคำสั่งต่างๆ โดยหลังจากนี้ กสทช. จะออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และจะมีการอัพเดตซอฟแวร์ที่กระจายส่งสัญญาณ ให้ใช้ cell broadcast ได้โดยเร็วที่สุด

หากจะอธิบายง่ายๆ ระบบการแจ้งเตือน Cell Broadcast ที่รัฐบาลเตรียมนำมาใช้แจ้งเตือนกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน มีความแตกต่างกับ SMS ทั่วไป เพราะ Cell Broadcast ไม่จำเป็นต้องทราบหมายเลขโทรศัพท์ปลายทาง ทำให้การส่งข้อความแจ้งเตือนจะมีความรวดเร็วกว่าการส่ง SMS ซึ่งระบบ Cell Broadcast สามารถส่งถึงมือถือหลายล้านเครื่องในพื้นที่ที่มีสัญญาณได้ในเวลาไม่ถึง 10 วินาที และสามารถส่งข้อความได้สูงสุด 1395 ตัวอักษร เพียงพอต่อการแจ้งเหตุการณ์และคำแนะนำในการรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ ระบบ Cell Broadcast ที่ว่านี้ ประชาชนไม่ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นให้ยุ่งยาก แค่มีโทรศัพท์มือถือที่รับรองการใช้งาน SMS ซึ่งมีอยู่ทั้งในโทรศัพท์รุ่น 2G, 3G, 4G และ 5G จึงเป็นระบบที่เหมาะกับการแจ้งเตือนภัย ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกก็ใช้ระบบนี้ในการแจ้งเตือนภัย

แม้ดูเหมือนการจัดทำระบบ Cell Broadcast ในการแจ้งเตือนภัย จะไม่ใช่เรื่องยากที่จะเกิดขึ้นในไทย แต่สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลต้องพึงระลึกและตระหนักอยู่เสมอ นั่นคือ การทำอย่างไรให้สิ่งที่ทำมีความยั่งยืน และมีหน่วยงานหลักรับผิดชอบ ทั้งการสั่งการ และการดำเนินการให้เกิดความต่อเนื่อง เพราะที่ผ่านมาทางการไทยเคยมีระบบแจ้งเตือนต่างๆมากมาย แต่โครงการเหล่านั้น ได้เลือนหายไปกับกาลเวลา และขาดการใส่ใจ ทั้งในเรื่องของงบประมาณและบุคลากร จนทำให้เมื่อถึงเวลาการใช้งานจริง ก็มักจะมีข่าวความเสียหายของอุปกรณ์ และจำนวนกำลังพลที่ไม่เพียงพอ จนทำให้ระบบเตือนภัยที่ว่า ไม่สามารถใช้งานได้

Back to top button