“จุลพันธ์” โต้กลับ“ศิริกัญญา” หลังใช้วาทกรรม “โกง GDP” อภิปรายงบปี 67

“จุลพันธ์” ผิดหวัง “ศิริกัญญา” หลังอภิปรายตั้งข้อสังเกต พ.ร.บ. งบปี 67 ใช้วาทกรรม “โกง GDP” หวังโจมตีให้มีประเด็น


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (4 ม.ค. 67) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่ น.ส. ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.พรรคก้าวไกล อภิปรายตั้งข้อสังเกตร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ต่อสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งพบว่ามีความเข้าใจผิดและสร้างความสับสนให้กับสังคมในหลายประเด็น โดยเฉพาะกรณีที่ระบุว่า คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ในปี 2566  ในเอกสารงบประมาณ 2 ชุดไม่ตรงกัน และใช้วาทกรรมว่า “โกง GDP” นั้น  ส่วนตัวรู้สึกผิดหวังที่ น.ส.ศิริกัญญา หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาอภิปราย เพราะเข้าใจว่าน.ส.ศิริกัญญา มีความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจมากกว่านั้น แต่กลับนำมาเป็นวาทกรรมทางการเมือง ซึ่งโดยปกติแล้วการคาดการณ์ GDP มี 2 รูปแบบ คือ

1. ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่เป็นตัวเงิน หรือ Nominal GDP คือค่า GDP ที่ได้จากการคำนวณมูลค่าของสินค้า หรือการลงทุนแบบตรงไปตรงมา โดยไม่ได้นำอัตราเงินเฟ้อ เงินฝืด หรือค่าเงิน ณ ขณะนั้นมาคำนวณด้วย ซึ่งตัวเลข GDP ที่แสดงในเอกสารงบประมาณ ที่ 5.4% เป็นการแสดงตัวเลขการคำนวณรายได้ของสำนักงบประมาณ เป็นการทำงานโดยปกติ หน้าอื่นของงบประมาณแสดงตัวเลขเป็น Real GDP มีเพียงหน้านั้นหน้าเดียวที่โชว์เป็น nominal สาเหตุที่ต้องรวมผลกระทบเงินเฟ้อ เพื่อให้สอดคล้องกับงบประมาณการจัดเก็บรายได้ซึ่งเป็นตัวเลข nominal เช่นเดียวกัน ถ้าจะโกงตัวเลข ทุกหน้าก็ต้องเปลี่ยนเป็น 5.4% แต่ น.ส.ศิริกัญญา กลับหยิบยกหน้านี้ขึ้นมาโดยหวังให้มีประเด็น

สำหรับ GDP ที่ 3.2% เป็นการคำนวณ GDP ในแบบที่ 2. ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริง หรือ Real GDP คือ ค่า GDP ที่ได้จากการนำอัตราเศรษฐกิจต่างๆ เช่น อัตราเงินเฟ้อ เงินฝืด และอัตราค่าเงินมาคิดคำนวณด้วย ซึ่งต้องให้สอดคล้องกับการจัดทำประมาณการจัดเก็บรายได้ และโดยปกติในการรายงาน GDP ของทุกสำนักจะใช้ตัวเลขนี้ ซึ่งในเอกสารงบประมาณทุกหน้า ก็ใช้ตัวเลขนี้ทั้งเล่ม

“เป็นแค่วาทกรรม คงไม่ได้สร้างความสับสนให้ประชาชน โดยเฉพาะหากเป็นผู้ที่อยู่ในสายการเงิน กลางการคลัง จะเข้าใจอยู่แล้วครับ เป็นตัวเลขหนึ่งที่นำเสนอในเอกสารงบประมาณเท่านั้น ซึ่งเอกสารทุกหน้าแสดงตัวเลข GDP ที่ 3.2%  เวลาเปรียบเทียบกับงบประมาณ คือการจัดเก็บจริง จึงเอาตัวเลขที่เป็น Nominal GDP มาแสดงให้เห็น ซึ่งตรงนี้มันเป็นหลักการที่ทำมาโดยตลอด” นายจุลพันธ์ กล่าว

Back to top button