สรุปปัจจัยสำคัญตลาดทุน-การเงิน-เศรษฐกิจวันนี้

สรุปปัจจัยสำคัญตลาดทุน-การเงิน-เศรษฐกิจประจำวันที่ 25 ม.ค.59


– เงินเยนอยู่ที่ระดับ 118.36 เยน/ดอลลาร์ จากตอนเช้าที่อยู่ที่ระดับ 118.75 เยน/ดอลลาร์

– เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0818 ดอลลาร์/ยูโร จากตอนเช้าที่อยู่ที่ระดับ 1.0802 ดอลลาร์/ยูโร

– ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,267.70 จุด ลดลง 0.33 จุด หรือ 0.03% มูลค่าการซื้อขาย 43,900.58 ล้านบาท

– สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 107.49 ล้านบาท (SET+MAI)

 

– ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จุดสนใจของตลาดการเงินของไทยในช่วง 1-3 เดือนข้างหน้านั้นตลาดให้น้ำหนักความสนใจไปที่การพัฒนาการเศรษฐกิจของจีน เนื่องจากประเทศจีนเป็นหนึ่งในคู่ค้าสำคัญของไทย และเป็นประเทศที่มีบทบาทอย่างมากในเอเชีย โดยหากพัฒนาการเศรษฐกิจจีนชะลอตัวเหนือการควบคุม ก็อาจจะกดดันให้ทางการจีนต้องดำเนินมาตรการดูแลเศรษฐกิจที่เข้มงวดขึ้น อันจะส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินในภูมิภาค รวมถึงไทยให้เผชิญกับความผันผวนดังที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ในทางกลับกัน หากทางการจีนสามารถควบคุมการชะลอตัวของเศรษฐกิจได้ ก็น่าจะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาครวมทั้ง เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ได้

– นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การขับเคลื่อนการใช้จ่ายของภาครัฐตามโครงการต่างๆ ถือว่ามีความคืบหน้าไปพอสมควร และได้เร่งรัดให้การทำสัญญาจะต้องเกิดขึ้นภายในไตรมาสแรกของปีนี้ หรืออย่างช้าไม่เกินครึ่งปีแรก เพื่อให้เม็ดเงินสามารถไหลลงสู่ระบบได้เร็วที่สุด

– ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2559 จะเติบโต 2.5% โดยมีแรงสนับสนุนมาจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายใน ทั้งจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่มีการตั้งงบประมาณลงทุนเพิ่มสูงขึ้นกว่า 20% จากปี 2558 และการลงทุนของภาคเอกชนที่จะกลับมาขยายตัวอีกครั้งหลังจากหดตัวในปีที่ผ่านมา โดยได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล อาทิ มาตรการเร่งรัดโครงการ PPP และ การเพิ่มแรงจูงใจในการลงทุนผ่านสิทธิประโยชน์จาก BOI เป็นต้น

– นายสันติ กีระนันทน์ รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า แนวโน้มผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในปี 59 จะไม่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับปี 58 โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญคือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ภาครัฐทยอยประกาศออกมาอย่างต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้านี้ ขณะที่งบการเงินในปีก่อนได้รับผลกระทบจากช่วงไตรมาส 3/58 ที่มองว่าเป็นจุดต่ำสุดแล้ว เนื่องจากมีรายการพิเศษค่อนข้างมาก อาทิ การตั้งสำรองเพิ่มขึ้นของธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น

– สถาบันวิจัยเศรษฐกิจไต้หวันได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตประจำปีของเศรษฐกิจลงมาอยู่ที่ระดับ 1.57% เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่อ่อนแอทั่วโลก ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ในเดือน พ.ย. 0.27%

– ธนาคารกลางสิงคโปร์เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสิงคโปร์ในเดือนธ.ค.ปรับตัวลง 0.6% เมื่อเทียบรายปี หลังจากที่ร่วงลง 0.8% ในเดือนพ.ย.

– นายเค ซี ชาน รัฐมนตรีคลังฮ่องกงเปิดเผยว่า เศรษฐกิจฮ่องกงมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลงในปี 2559 เมื่อเทียบกับปี 2558 ซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมส่งออก และยอดการใช้จ่ายของนักลงทุนต่างชาติที่ปรับตัวลดลง

 

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์

Back to top button