TKT พุ่งเกือบ 27% แรงในรอบเกือบ 6 เดือน-สวนตลาดฯติดลบ

TKT พุ่งเกือบ 27% แรงในรอบเกือบ 6 เดือน-สวนตลาดฯติดลบ


บริษัท ที.กรุงไทยอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ TKT ณ เวลา 15.18 น. อยู่ที่ระดับ 2.46 บาท บวก 0.52 บาท หรือ 26.80% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 54.65 ล้านบาท ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นแรงในรอบเกือบ 6 เดือน โดยนับตั้งแต่หุ้นปรับตัวขึ้นไปทดสอบระดับ 2.46 บาท เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 58

ขณะเดียวันราคาหุ้นวิ่งส่วนทิศทางตลาดหุ้นไทยติดลบ โดย ณ เวลา 15.28 ดัชนีอยู่ที่ระดับ 1,298.93 จุด ลบ 5.03 จุด หรือ 0.39% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 19,993.03 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้นายจุมพล เตชะไกรศรี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ที.กรุงไทยอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ TKT ระบุเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 58 ว่า บริษัทคาดรายได้ปี 59 จะลดลงต่อเนื่องจากปีนี้มาอยู่ที่ 1.2 พันล้านบาท ขณะที่คาดว่ารายได้ในปีนี้จะลดลงราว 15% จากปีก่อนมาอยู่ที่ 1.3-1.4 พันล้านบาท โดยรายได้ที่ลดลงในปีหน้ายังเป็นผลจากภาวะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่จะอยู่ระดับ ทรงตัวจากปีนี้ เนื่องจากยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศอย่างชัดเจน ประกอบกับกำลังซื้อของประชาชนในประเทศยังถูกกดดันจากหนี้สินภาคครัวเรือน ราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ ส่งผลให้ยอดการผลิตรถยนต์ในไทยในปี 59 จะอยู่ที่ 1.8-1.9 ล้านคันใกล้เคียงกับปีนี้ อย่างไรก็ตามบริษัทยังมีมูลค่างานในมือ (Backlog) ที่จะทยอยรับรู้ในปีหน้าอีกราว 1 พันล้านบาท

ส่วนผลการ ดำเนินงานในไตรมาส 4/58 คาดว่ากำไรและรายได้จะต่ำกว่าไตรมาส 3/58 เนื่องจากเป็นช่วงโลซีซั่นของธุรกิจรถยนต์เพราะมีวันหยุดยาว อีกทั้งงานแม่พิมพ์ล๊อตใหญ่ที่บริษัททำให้กับฟอร์ดหยุดการใช้งานไปแล้ว ทำให้ไม่มีกำไรพิเศษเข้ามา 3-4 ล้านบาทเหมือนในไตรมาส 3/58 ซึ่งนับว่าเป็นไตรมาสที่มีผลการดำเนินงานดีที่สุดของปีนี้

ทั้งนี้ จากภาวะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ชะลอตัวประกอบกับการเลิกเปลี่ยนโมเดลของรถกระบะ ไฮลักซ์วีโก้ ทำให้รายได้ของบริษัทหายไปปีละ 200-300 ล้านบาท นอกจากนี้ฟอร์ดซึ่งเป็นลูกค้าใหม่ได้มีการดำเนินงานล่าช้าส่งผลให้รับรู้ราย ได้การผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ให้ฟอร์ดได้เพียง 4 เดือน ส่งผลกระทบไปถึงกำไร ทำให้คาดว่ากำไรสุทธิปีนี้ต่ำกว่าปีก่อนเล็กน้อย โดยปี 57 บริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 19.45 ล้านบาท ซึ่ง 9 เดือนที่ผ่านมาบริษัทมีกำไรแล้ว 14.14 ล้านบาท

นายจุมพล กล่าวว่า บริษัทตั้งงบลงทุนรวมในปี 59 อยู่ที่ 25-30 ล้านบาท เพื่อใช้สำหรับปรับปรุงเครื่องจักร อีกทั้งในปีหน้าคาดว่าจะได้เห็นข้อสรุปในการถูกเลือกจากทางค่ายรถยนต์อีซูซุ ในการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ให้ แต่จะสามารถเริ่มดำเนินงานได้จริงในช่วงปลายปี 60 เป็นต้นไป

ส่วนแผนการแตกไลน์ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับบริษัทเพื่อ กระจายความเสี่ยงในภาวะที่แนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทยทรงตัวนั้น ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อซื้อกิจการ (M&A) หรือการร่วมทุน (Joint Venture) กับบริษัทในประเทศ เพื่อสร้างการเติบโตของบริษัทในอนาคต และขยายฐานลูกค้าไปในประเทศเพื่อนบ้านได้ ทั้งนี้บริษัทคาดว่าอาจจะได้ข้อสรุปเรื่องดังกล่าวในปีหน้า

X
Back to top button