คัด 41 หุ้นรับประโยชน์ “ไทย” เล็งดึงยักษ์ใหญ่ ลงทุน 1 ล้านลบ.

ไทยเล็งดึงยักษ์ใหญ่ลงทุน ตั้งเป้าเม็ดเงินลงทุน 1 ล้านล้านบาท ภายในระยะเวลา 4 ปี เน้น 5 กลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ กลุ่ม BCG (เกษตร อาหาร การแพทย์ พลังงานสะอาด), ยานยนต์ไฟฟ้า, อิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, ดิจิทัลและสร้างสรรค์ และการตั้งศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศในไทย


นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) นัดแรกภายใต้รัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้มอบหมายให้นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานบอร์ดบีโอไอ เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกในระยะ 4 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2567 – 2570) โดยให้ความสำคัญกับ 5 อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ ที่จะผลักดันประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจใหม่ ได้แก่ อุตสาหกรรมกลุ่ม BCG (โดยเฉพาะเกษตร อาหาร การแพทย์ และพลังงานสะอาด) อุตสาหกรรมยานยนต์ (โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (โดยเฉพาะต้นน้ำและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ) อุตสาหกรรมดิจิทัลและสร้างสรรค์ และการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ บีโอไอจะมุ่งขับเคลื่อน 5 วาระสำคัญเพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็นฐาน การผลิตของอุตสาหกรรมชั้นนำระดับโลก ที่มุ่งตอบโจทย์กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ได้แก่ 1) การเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Transformation) 2) การพัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี (Technology Development) 3) การพัฒนาและดึงดูดบุคลากรทักษะสูง (Talent Development & Attraction) 4) การส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ (Cluster-based Investment) และ 5) การอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน (Ease of Investment)

โดยบีโอไอจะทยอยออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนชุดใหม่ เพื่อขับเคลื่อนการลงทุนของประเทศให้บรรลุเป้าหมายการเป็นฐานผลิตของอุตสาหกรรมชั้นนำระดับโลก และตอบโจทย์ 5 วาระสำคัญเพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ เช่น การออกมาตรการสนับสนุนการจัดการด้านคาร์บอนเครดิตเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการรายเดิมเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ มาตรการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมของรัฐหรือที่ดำเนินการร่วมกับรัฐไปผลิตต่อยอดในเชิงพาณิชย์ มาตรการส่งเสริมการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและการจ้างงานในภูมิภาคเพื่อกระจาย การลงทุนไปสู่พื้นที่ทั่วประเทศ เป็นต้น

ขณะที่ข้อมูลจาก fDi Markets ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ติดตามการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมระบุว่า ในขณะที่ไทยสามารถดึงดูดเงินลงทุนจากบริษัทจีนหลายแห่ง ซึ่งรวมถึงบีวายดี, เกรท วอลล์ มอเตอร์ และเอสเอไอซี มอเตอร์นั้น ทิศทางด้านการลงทุนในอุตสาหกรรม EV ในปี 2565 แสดงให้เห็นว่าไทยต้องเร่งดำเนินการอย่างมากเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ขณะที่สหรัฐ, ฮังการี, เม็กซิโก, อินโดนีเซีย และเยอรมนีได้รับเงินลงทุนจากมูลค่าทั้งหมดกว่า 1.06 แสนล้านดอลลาร์ที่ลงทุนในโครงการ EV ทั่วโลกเมื่อปีที่แล้ว

ด้านศูนย์ปฏิบัติการพิเศษเพื่อการลงทุนเชิงกลยุทธ์ (Special Operation Center For Strategic Investment) ซึ่งอยู่ในกรุงเทพฯนั้น กำลังทำงานเกือบจะตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อดึงดูดนักลงทุนที่มีศักยภาพสูง และจัดการประชุมระดับสูงให้กับรัฐบาล รวมทั้งคอยสนับสนุนนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับทริปการเดินทางไปต่างประเทศที่สำคัญ เพื่อพยายามทำข้อตกลงด้านการลงทุน

ทั้งนี้ หลังจากที่นายเศรษฐาเดินทางเยือนสหรัฐเมื่อเดือนที่แล้ว บีโอไอพยายามโน้มน้าวบริษัทรายใหญ่ ซึ่งรวมถึงไมโครซอฟท์, กูเกิล และอะเมซอน เว็บ เซอร์วิส ให้เข้ามาสร้างหรือเพิ่มฐานธุรกิจในประเทศไทยผ่านทางการลงทุนใหม่ ๆ

อย่างไรก็ตามประเทศไทยได้รับฉายาเป็น “ดีทรอยต์แห่งเอเชีย” (Detroit of Asia) ในแง่ของการผลิตรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน โดยได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ระดับแถวหน้าของโลก

ดังนั้นฝ่ายวิจัยประเมินว่าบริษัทที่คาดจะได้ประโยชน์ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ผู้ให้บริการสถานีชาร์จพลังงาน ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV Charger ซึ่งปัจจุบันเริ่ม มีการทยอยติดตั้งมากขึ้นแล้ว อาทิ สถานีบริการน้ำมัน, ที่จอดรถตามห้างสรรพสินค้าหรือร้านสะดวกซื้อ ฯลฯ

สำหรับหุ้นที่คาดได้ประโยชน์จากอุปกรณ์ EV Charger ได้แก่ บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA, บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA, บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ FORTH

ตามด้วยหุ้นที่คาดได้ประโยชน์จากการให้บริการพื้นที่ ได้แก่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP, บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL, บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN, บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT, บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG

รวมถึงหุ้นที่คาดได้ประโยชน์จากการปล่อยสินเชื่อยานยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB, ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP

นอกจากนี้ ประเมินว่าหุ้นที่คาดได้ประโยชน์จากการขยายพื้นที่โรงงานและระบบสาธารณูปโภค ได้แก่ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA, บริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ PIN, บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) หรือ ROJNA, บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA, บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP

อีกทั้งหุ้นที่คาดได้ประโยชน์จากการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เกี่ยวข้องในส่วนของแบตเตอรี่ ได้แก่ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA , บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC, บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน)  หรือ ROJNA, บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU และ บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ซึ่งถือหุ้นใน Banpu NEXT

ขณะที่หุ้นที่คาดได้ประโยชน์จากชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่  บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)  หรือ DELTA, บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA, บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE

ประกอบกับหุ้นที่คาดได้ประโยชน์จากชิ้นส่วนประกอบรถ EV แบ่งเป็น ช่วงล่าง, เกียร์, เบรค, สปริง ได้แก่ บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) หรือ AH, บริษัท พี.ซี.เอส.แมชีน กรุ๊ปโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ PCSGH, บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SAT ต่อด้วยในส่วนของหลังคาครอบกระบะ, บันไดข้างรถกระบะ คือ บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG

อีกทั้งมีพวกคอยล์ร้อน, คอยล์เย็น สำหรับเครื่องปรับอากาศในรถยนต์ คือ บริษัท เพรสซิเด้นท์ ออโตโมบิล อินดัสทรีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PACO ขณะที่อุปกรณ์ส่องไฟคือ บริษัท ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) หรือ FPI, บริษัท ไทยสแตนเลย์การไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ STANLY

ในส่วนของเบาะหนัง สีรถยนต์ คือ บริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CWT, บริษัท อินเตอร์ไฮด์ จำกัด (มหาชน) หรือ IHL, บริษัท ไทยนามพลาสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TNPC, บริษัท ไทยรุ่งยูเนียนคาร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TRU, บริษัท อีซึ่น แอนด์ โค จำกัด (มหาชน) หรือEASON

ส่วนยางรถยนต์ คือ บริษัท กู๊ดเยียร์(ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ GYT, บริษัท อีโนเว รับเบอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)  หรือ IRC, บริษัท เอ็น.ดี.รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NDR, บริษัท ฮั้วฟง รับเบอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ HFT

รวมทั้งในส่วนของตัวถังรถ, คานนิรภัย คือ บริษัท อิงเกรส อินดัสเตรียล (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ INGRS อีกทั้งตกแต่งภายใน คือ บริษัท ที.กรุงไทยอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ TKT และสายเคเบิ้ล คือ บริษัท ไทยสตีลเคเบิล จำกัด (มหาชน) หรือ TSC

Back to top button