4 หุ้นยางวิ่งคึก! รับข่าวชะลอเปิดฤดูกาล “กรีดยาง” 1 เดือน หนุนดีมานด์พุ่ง

STA บวก 3% นำทีม STGT-TRUBB-NER ตอบรับข่าว กยท. จับมือเครือข่าวออกมาตรการชะลอกรีดยางพารา 1 เดือน คาดกระตุ้นคำสั่งซื้อล่วงหน้า หลังปริมาณยางหายจากตลาดโลกกว่า 3 แสนตัน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (2 พ.ค.68) ราคาหุ้น กลุ่มยางพารา บวกยกแผงตอบรับข่าว การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) มีมติร่วมกับเครือข่ายฯ เลื่อนกรีดยางพารา 1 เดือน เพื่อดันราคายางปรับตัวขึ้นนำโดย บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA ณ เวลา 11:55 น. อยู่ที่ระดับ 13.90 บาท บวก 0.40 บาท หรือ 2.96% ราคาสูงสุด 14.00 บาท ราคาต่ำสุด 13.50บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 76.77 ล้านบาท

บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT อยู่ที่ระดับ 7.10 บาท บวก 0.20 บาท หรือ 2.90% ราคาสูงสุด 7.10 บาท ราคาต่ำสุด 6.90 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 27.10 ล้านบาท

บริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TRUBB อยู่ที่ระดับ 0.61 บาท บวก 0.01 บาท หรือ1.67% ราคาสูงสุด 0.63 บาท ราคาต่ำสุด 0.61 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 0.07 ล้านบาท

บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER อยู่ที่ระดับ 4.14 บาท บวก 0.04 บาท หรือ 0.98% ราคาสูงสุด 4.16 บาท ราคาต่ำสุด 4.10 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 21.70 ล้านบาท

โดยมีรายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และ คณะกรรมการเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยาง ได้ร่วมกันออกมาตรการขอความร่วมมือให้เกษตรกรชะลอการเปิดฤดูกาลกรีดยางออกไปอีก 1 เดือน จากเดิมที่มีกำหนดเริ่มกรีดในเดือนพฤษภาคม 2568 เลื่อนเป็นเดือนมิถุนายน 2568 แทน

โดยการชะลอกรีดยางนี้คาดว่าจะทำให้ปริมาณผลผลิตยางหายไปจากตลาดโลกไม่ต่ำกว่า 300,000 ตัน อ้างอิงราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 (ไม่อัดก้อน) ที่กิโลกรัมละ 72.04 บาท (ตามประกาศราคายางจากฝ่ายเศรษฐกิจการยาง กยท. ณ วันที่ 3 เมษายน 2568) คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 14,400 ล้านบาท

ทั้งนี้ ภาวการณ์ลดลงของอุปทานในช่วงเวลาดังกล่าว สร้างแรงกดดันต่อสมดุลตลาดยางโลก จนทำให้เกิดความกังวลว่าซัพพลายอาจไม่เพียงพอในอนาคต ผู้ซื้อที่มีคำสั่งซื้อล่วงหน้าจึงเร่งซื้อยางเพื่อเก็บไว้ส่งมอบ ส่งผลให้บรรยากาศในตลาดยางกลับมาคึกคักอีกครั้ง

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร.นฤมล กล่าวว่า ในช่วงที่มีการเลื่อนการเปิดกรีดยางออกไป เกษตรกรชาวสวนยางสามารถใช้เวลานี้ในการดูแลบำรุงรักษาต้นยางให้แข็งแรงและพร้อมสำหรับการเก็บเกี่ยวผลผลิตในฤดูกาลใหม่

ขณะที่ กยท. เตรียมให้การสนับสนุนผ่านโครงการสินเชื่อระยะสั้น โดยใช้งบจากกองทุนพัฒนายางพารา ตามมาตรา 49 (3) เพื่อช่วยเหลือสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ให้สามารถจัดหาปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย วัสดุอุปกรณ์ และส่งเสริมการเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนการผลิตยางพารา ในโครงการนี้ สถาบันเกษตรกรสามารถขอสินเชื่อได้ 1 สัญญาต่อ 1 สถาบัน วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ยนาน 4 เดือน ซึ่งจะเริ่มเปิดให้เข้าร่วมตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป

Back to top button