หอการค้าไทยมองบวก! โอกาสรอด “ภาษีสหรัฐ” หากรัฐบาลตอบโจทย์ทัน 7 ก.ค.นี้

ประธานหอการค้าฯ เชื่อทีมไทยแลนด์เดินหน้าเร่งประชุมหน่วยงานภาครัฐ หวัเพื่อหาแนวทางเจรจาและส่งข้อเสนอ 7 ก.ค. นี้ พร้อมคาดไทยอาจเจอภาษี 15-18%


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ 5 ก.ค. 68 หลังจาก นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมคณะเจรจาขอลดภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) กับสหรัฐ เดินทางกลับไทย ก็สั่งการให้ประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในโจทย์ประเด็นที่สหรัฐมีข้อต่อรองเพิ่มเติมในการเจรจาแลกกับการลดอัตราภาษี Tariff ที่กำหนดไว้ถึง 36% ซึ่งเป็นการประชุมภายในช่วงวันที่ 5-6 ก.ค. นี้ ก่อนเร่งส่งกลับให้สหรัฐภายในวันที่ 7 ก.ค. นี้ หวังให้ทันกำหนดที่สหรัฐกำหนดเลื่อนบังคับใช้ภาษีTariff 90 วัน และจะสิ้นสุดวันที่ 8 ก.ค. นี้

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เชื่อว่ารัฐบาลพยายามหาข้อเสนอที่ทำให้สหรัฐพึ่งพอใจ เพื่อไทยจะไม่เจออัตราภาษี Tariff สูงจนเกินไป และยังสามารถแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้ ตอนนี้ภาคเอกชนต้องรอความชัดเจนของผลการตัดสินใจของสหรัฐ จากนั้นถึงจะชัดเจนในสิ่งที่ภาคเอกชนต้องดำเนินการอย่างไรกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

“ผมเชื่อว่ารัฐบาลและทีมเจรจายต้องพยายามตอบโจทย์สหรัฐให้ทันเวลา และยังมองในแง่ดีว่าอัตราภาษีที่ไทยเจอจะไม่สูงเกินไปจนไม่อาจแข่งขันได้ในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกด้วยกัน” นายพจน์ กล่าว

ด้านแหล่งข่าวในคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ระบุเสริมว่า เอกชนมองใน 2 แง่ คือ หากทีมงานนำโดยรนายพิชัย ตอบโจทย์ที่สหรัฐให้มาได้ดี ก็มีหวังที่ไทยจะเจออัตราภาษี 15-18% แต่หากตอบได้ไม่ดีจนเป็นที่พอใจของสหรัฐ ไทยมีโอกาสโดนอัตราภาษี 30-36% และเชื่อว่าที่ติดขัดจะเป็นอัตราภาษีนำเข้าและชนิดสินค้าที่สหรัฐต่อการให้ไทยยกเว้น

นอกจากนี้ ภาคเอกชนเสนอให้รัฐไปทำการสำรวจข้อตกลงที่ได้ทำไว้กับนานาประเทศ ซึ่งมีอะไรที่ต้องปรับเปลี่ยน เพื่อสร้างสมดุลการค้าระหว่างประเทศ อาทิ เอฟทีเอไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) เอฟทีเอฉบับแรกที่ไทยทำกับกลุ่มประเทศในยุโรป ทั้งนี้ ภาคเอกชนเห็นว่าการนำเข้าของไทยให้สหรัฐ ก็ควรมองเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟตา) เป็นฐานด้วย

Back to top button