
รัฐบาลเตือนประชาชน ระวังมิจฉาชีพหลอกทำบุญ “วันอาสาฬหบูชา–เข้าพรรษา”
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เตือนประชาชนระวังช่วงวันสำคัญทางศาสนา ชี้เป็นช่องทางให้มิจฉาชีพหลอกหลวง แนะประชาชนตรวจสอบให้รอบคอบก่อนโอนเงินช่วยเหลือหรือทำบุญออนไลน์ ป้องกันตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (11 ก.ค. 68) นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เตือนประชาชนระวังตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ พร้อมเปิดเผยว่า ปัจจุบันพบว่ากลุ่มมิจฉาชีพมีวิธีในการสรรหาเหยื่อ เพื่อทำการหลอกลวง โดยบ่อยครั้งมักพบวิธีการหลอกลวงมาในรูปแบบ หลอกให้ลงทุน หลอกหารายได้พิเศษ และหลอกให้หลงเชื่อใส่ข้อมูลส่วนตัว แต่อย่างไรก็ตามการแอบแฝงและวิธีการหลอกลวงของกลุ่มมิจฉาชีพมักมีการเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยครั้ง
ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถเข้าถึงประชาชนได้ทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงระยะเวลานี้ ที่เป็นวันสำคัญทางศาสนา ทำให้กลุ่มมิจฉาชีพได้เล็งเห็นช่องว่างในการฉวยโอกาสด้วยวิธีการ หลอกโอนเงินไถ่ชีวิตโคกระบือ ช่วยเหลือสัตว์บาดเจ็บ เช่าวัตถุมงคล สะเดาะเคราะห์ หลอกให้ทำใบอนุโมทนาบัตรออนไลน์โดยอ้างเป็นการลดหย่อนภาษี เป็นต้น
เนื่องจากที่ผ่านมามิจฉาชีพเห็นว่าคนไทยสนใจทำบุญในช่วงเทศกาลสำคัญ สอดคล้องข้อมูลของ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา ว่า จากการประเมินคาดว่าวันหยุดยาวตั้งแต่ 10-13 กรกฎาคม 2568 (รวม 4 วัน) จะมีการเดินทางเข้าวัดหรือสถานที่สำคัญทางศาสนาเพื่อไปทำบุญพร้อมกับการพักผ่อนค้างคืน 1-2 คืน
อีกทั้งยังส่งผลต่อการใช้จ่ายช่วงวันอาสาฬหบูชา ต่อถึงวันเข้าพรรษา รวมประมาณ 6,000-8,000 ล้านบาท หรือขยายตัวจากปีก่อนประมาณ 2-3% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการสำรวจล่าสุดในปี 2566 ที่มีการใช้จ่าย 2 วันสำคัญนี้ รวม 6,477 ล้านบาท อีกทั้งคนไทยกว่า 80% ยังให้ความสำคัญต่อการทำบุญไหว้พระในเทศกาลวันทางศาสนา
โดยผลการสำรวจสถานการณ์การถูกหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์ ของศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) ในปี 2566 พบผู้เคยถูกหลอกลวงโดยอาศัยความสงสารหรือความสัมพันธ์ จำนวน 2.65 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายจำนวนรวมสูงถึง 2.3 พันล้านบาท
แต่ทว่าจำนวนนี้ส่วนหนึ่งตกเป็นผู้เสียหายถูกหลอกลวงจากการขอรับบริจาคช่วยเหลือหรือการระดมเงินทำการกุศล โดยหากพิจารณาจำแนกตามกลุ่ม Generation จะพบว่า กลุ่ม Gen Z และ Gen Y เป็นกลุ่มที่ถูกหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว อยู่ที่ 13% และ 10% ตามลำดับ มากกว่ากลุ่ม Gen X และ Baby Boomer นายอนุกูล ระบุ
นายอนุกูล กล่าวต่อว่า เพื่อสร้างความตระหนักรู้เท่าทันต่อกลโกงของกลุ่มมิจฉาชีพและวิธีการที่กลุ่มมิจฉาชีพมักใช้ในการหลอกลวงเหยื่อ รัฐบาลขอย้ำเตือนประชาชนควรระมัดระวัง ก่อนจะทำบุญหรือโอนเงินช่วยเหลือออนไลน์ ควรตรวจสอบช่องทางการช่วยเหลือหรือทำบุญก่อนทุกครั้ง ห้ามคลิกหรือโอนเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านเว็บไซต์และข้อความที่มีการส่งต่อผ่านทางสังคมออนไลน์โดยไม่มีแหล่งที่มา
อย่างไรก็ตามหากไม่มั่นใจสามารถตรวจสอบบัญชีเบอร์โทร หรือเว็บไซต์ได้ที่ www.checkgon.go.th ซึ่งเป็นช่องทางของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งนี้ ก่อนการโอนเงินอย่าลืมเช็กชื่อบัญชี หมายเลขบัญชีทุกครั้งว่าตรงกับบัญชีที่ได้มีการแจ้งไว้หรือไม่ และหากพบเห็นพฤติกรรมที่อาจเป็นมิจฉาชีพ สามารถเบาะแสได้ที่ thaipoliceonline.go.th