ว่าแล้ว! โซลาร์ฟาร์มราชการ-สหกรณ์ ส่อเจอโรคเลื่อน-นำไปสู่การฟ้องร้อง

ว่าแล้ว! โซลาร์ฟาร์มราชการ-สหกรณ์ ส่อเจอโรคเลื่อน-นำไปสู่การฟ้องร้อง


แหล่งข่าววงการผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เปิดเผยว่า คาดว่าโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร (โซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯ) ระยะแรก 600 เมกะวัตต์ (MW) ที่จะมีการจับสลากเพื่อหาผู้ที่ได้รับคัดเลือกในวันที่ 21 เม.ย.นี้ อาจประสบปัญหาหลังการประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นนั้นยังมีข้อสงสัยว่าจะมีความเป็นธรรมหรือไม่ เนื่องจากกกพ.ได้ตัดสิทธิโครงการในกลุ่มราชการทั้งหมด

ขณะที่ผู้ที่มีรายชื่อผ่านการคัดเลือกรอบแรก บางแห่งเป็นโครงการที่อยู่ในพื้นที่สีเขียว และสหกรณ์บางแห่งมีผลการดำเนินงานขาดทุน ซึ่งน่าจะผิดหลักเกณฑ์ในการเข้าร่วมเสนอขายไฟฟ้า ส่งผลให้มีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การฟ้องร้องได้ในอนาคต

“เท่าที่คุยกันตอนนี้กลุ่มราชการทั้ง อบต., อบจ.แม้จะยังไม่เห็นท่าทีที่ชัดเจน แต่มีความไม่พอใจ เพราะทุกเรื่องรู้กันก่อนวันที่ 20 พฤศจิกายน 58 แล้วว่าทำไม่ได้ แต่ทาง กกพ.ก็รับเอกสารไป ทางฝั่งของกลุ่มสหกรณ์ ซึ่งมีหลักเกณฑ์ทั้งเรื่องของพื้นที่สีเขียว และเรื่องมาตรฐานของสหกรณ์ ทั้งเรื่องการทุจริตและมีผลขาดทุน ซึ่งในกลุ่มของสหกรณ์ก็รู้กันว่ารายชื่อที่ผ่านคุณสมบัติเข้ามานั้นก็มีผลขาดทุน แต่ทำไมถึงผ่านคุณสมบัติ ซึ่งคนที่ติดเงื่อนไขนี้น่าจะมีราว 10% หรืออาจจะมากถึง 30% ในรายชื่อทั้ง 167 โครงการที่ผ่านคุณสมบัติเข้ามา ทำให้มีจำนวนผู้เข้าร่วมจับสลากมากขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น”แหล่งข่าวรายเดิม กล่าวกับ”อินโฟเควสท์”

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า สำหรับกลุ่มหน่วยงานราชการที่ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ตัดสิทธิการเข้าร่วมจับสลากในครั้งนี้ ด้วยเหตุผลว่าขัด พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ) นั้น ในการประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกในครั้งแรกเมื่อเดือน ธ.ค.58 มีกลุ่มหน่วยงานราชการผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นถึง 121 โครงการ ทั้งที่ กกพ.ใช้หลักเกณฑ์ในการพิจารณาเดียวกัน โดยยึดข้อมูล ณ วันที่ 20 พ.ย.58 แต่ในการพิจารณาประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกครั้งล่าสุด กลับไม่มีโครงการของกลุ่มหน่วยงานราชการเข้ามาเลย

ขณะที่ในกลุ่มสหกรณ์ภาคการเกษตร กลับมีจำนวนผู้ผ่านการคัดเลือกครั้งล่าสุดในปริมาณมากถึง 167 โครงการ จากเดิมที่ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกในครั้งแรกมีเพียง 98 โครงการ แม้ภาครัฐจะให้เหตุผลว่าเป็นการยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองที่ออกมาเมื่อวันที่ 20 ม.ค.59 แต่ตามข้อเท็จจริงเห็นว่ากฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง เพราะ กกพ.ใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาโดยยึดข้อมูล ณ วันที่ 20 พ.ย.58 ซึ่งทำให้การประกาศผู้ผ่านคุณสมบัติล่าสุดนั้นทำให้ผู้ที่ติดปัญหาผังเมือง หรืออยู่ในพื้นที่สีเขียวบางส่วนกลับเข้ามาร่วมจับสลากในครั้งนี้ได้

นอกจากนี้ ในประเด็นมาตรฐานของกลุ่มสหกรณ์นั้น แม้จะได้รับการรับรองจากกรมส่งเสริมสหกรณ์จังหวัดก็ตาม แต่ในความเป็นจริงมีบางแห่งที่ได้รับการคัดเลือกให้ร่วมจับสลากก็มีผลการดำเนินงานขาดทุน ซึ่งผิดเงื่อนไขคุณสมบัติของ กกพ. ทำให้เป็นที่กังวลว่าอาจจะมีกลุ่มอื่นร้องฟ้องเรื่องดังกล่าวขึ้นมา ซึ่งจะทำให้การเดินหน้าโครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯอาจจะมีปัญหาตามมาได้

อนึ่ง กกพ.ได้ออกประกาศและหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าโครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯ โดยการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวมีปริมาณรวมไม่เกิน 800 เมกะวัตต์ แบ่งการรับซื้อเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรกจำนวน 600 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโครงการหน่วยงานราชการ 300 เมกะวัตต์และสหกรณ์ 300 เมกะวัตต์ มีกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์(COD) ไม่เกินวันที่ 30 ก.ย.59 ส่วนระยะที่สอง มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าในช่วงวันที่ 1 ม.ค.-30 มิ.ย.61

เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.58 กกพ.ได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติเพื่อเข้าร่วมจับสลากรวมทั้งสิ้น 219 ราย จำนวนรวม 1,028.67 เมกะวัตต์ จากผู้ที่ยื่นทั้งหมด 604 ราย จำนวนรวม 2,835.50 เมกะวัตต์ แต่ก็ได้รับการร้องเรียนจากผู้ที่ไม่ผ่านคุณสมบัติ ซึ่งส่วนใหญ่ติดปัญหาผังเมืองไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าได้ ทำให้ต้องเลื่อนการจับสลากออกไป

พร้อมกันนี้รัฐบาลได้มีการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่างๆ รวมถึงการยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองเมื่อวันที่ 20 ม.ค.59 และคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ได้ปรับปรุงขั้นตอนเพื่อให้ลดปัญหาและอุปสรรคตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ขณะที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้เลื่อนการ COD ของโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯ ระยะแรกไปเป็นภายในวันที่ 31 ธ.ค.59

ขณะที่เมื่อวานนี้ กกพ.ได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติเข้าร่วมจับสลากโครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 21 เม.ย.นี้ จำนวน 167 ราย กำลังการผลิตสูงสุดรวม 835 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นกลุ่มสหกรณ์ภาคการเกษตรทั้งหมด ขณะที่กลุ่มราชการถูกตัดสิทธิเพราะขัดหลักเกณฑ์พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ทำให้การจับสลากครั้งนี้จะคัดเลือกให้เหลือเพียง 300 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโควตาในส่วนของกลุ่มสหกรณ์เท่านั้น โดยโควตาของกลุ่มราชการที่ไม่ได้รับการคัดเลือกในรอบนี้จะถูกนำไปรวมในการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการในระยะที่ 2 ที่คาดว่าจะมีขึ้นในปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า ที่คาดว่าจะเปิดรับซื้อทั้งสิ้นรวม 500 เมกะวัตต์ จากเดิมที่จะเปิดเพียง 200 เมกะวัตต์เท่านั้น

สำหรับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯหลายแห่ง ได้ยื่นเป็นผู้สนับสนุนโครงการของกลุ่มสหกรณ์และกลุ่มราชการ โดยในส่วนของบมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งส์ (RATCH) ได้ยื่นเป็นผู้สนับสนุนโครงการดังกล่าวรวม 6-7 โครงการ ซึ่งเป็นกลุ่มราชการทั้งหมด ทำให้ไม่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมจับสลากในครั้งนี้ ส่วน บมจ.บางจากปิโตรเลียม (BCP) ระบุว่าได้ยื่นเข้าร่วมสนับสนุนโครงการวม 40-50 เมกะวัตต์ ซึ่งได้รับสิทธิเข้าร่วมจับสลากในครั้งนี้ด้วย แต่ไม่เปิดเผยจำนวนโครงการที่ผ่านการคัดเลือก

ด้านบล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่าจากข้อมูลเบื้องต้นพบว่า บมจ.โรงพิมพ์ตะวันออก (EPCO) มีโครงการผ่านคุณสมบัติ 10 โครงการ,บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น (IFEC) ผ่าน 2 โครงการ,บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) ผ่าน 3 โครงการ, บมจ.ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ (TSE) ผ่าน 3 โครงการ เป็นต้น

Back to top button