ส่องผล กนง.วันนี้! 5 กูรูประสานเสียงชี้ “คงดอกเบี้ย” แน่นอน

จับตาผลกนง.วันนี้ 5 กูรูประสานเสียงชี้ “คงดอกเบี้ย” แน่นอน


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจบทวิเคราะห์ในระยะสัปดาห์ เกี่ยวกับประเด็นการปรับอัตราดอกเบี้ยของ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)  ซึ่งพบว่านักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่ากนท.จะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% เนื่องจากคาดว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยน่าจะถึงจุดต่ำสุดแล้ว

 

โดย บล.กรุงศรี ระบุในบทวิเคราะห์ (22 มิ.ย.) ว่าผลการประชุมกนง. น่าจะคงดอกเบี้ยนโยบาย 1.50% เชื่อหุ้นกลุ่มแบงก์ขานรับข่าวนี้ แต่จะเป็นจังหวะขายทำกำไรหลังจากที่ให้ซื้อสะสมมาเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยแนะนำให้สะสมหุ้นแบงก์ตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมา เพื่อเก็งว่า ผลการประชุมกนง. จะคงดอกเบี้ยนโยบาย

อย่างไรก็ตามหุ้นกลุ่มแบงก์ที่จะปรับขึ้นในวันนี้ ถือเป็นจังหวะในการขายทำกำไรระยะสั้น แม้ราคาหุ้นในกลุ่มธนาคารจะซื้อขายกันที่ระดับ PBV เฉลี่ยต่ำกว่า 1 เท่า แต่แนวโน้มกำไรครึ่งปีหลังปี 59 ยังไม่ฟื้นตัวเพราะยังได้รับผลกระทบจากการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ 0.25% ตั้งแต่ต้นไตรมาส 2/59 เป็นต้นมา และจะยังได้รับผลกระทบจากการปรับลดค่าธรรมเนียมตั้งแต่เดือนพ.ย เป็นต้นไป ประกอบกับ NPL ยังเพิ่มต่อเนื่องแม้จะอยู่ในอัตราที่ลดลง ดังนั้นเราจึงยังให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มแบงก์เพียง Neutral

 

ด้าน บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ (22 มิ.ย.) ว่าปัจจัยในประเทศเรื่องการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันนี้ก็คาดว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามเดิม ส่วนมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ที่เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรนั้น ก็จะช่วยหนุนการลงทุนในกลุ่มค้าปลีก หรือลีสซิ่ง แต่หุ้นกลุ่มดังกล่าวไม่ได้มีมาร์เก็ตแคปใหญ่เพียงพอที่จะมีน้ำหนักต่อตลาดหุ้นมากนัก

 

ขณะเดียวกัน บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส ระบุในบทวิเคราะห์ (22 มิ.ย.) สำหรับการประชุมกนง.วันที่ 22 มิ.ย.นี้ คาดว่าคณะกรรมการจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ก่อน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรอดูผลการทำประชามติเรื่อง Brexit ซึ่งมีผลต่อตลาดเงินและตลาดทุนก่อน ขณะเดียวกันการลดดอกเบี้ยอาจไม่ช่วยกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนได้มากนักเนื่องจากภาระหนี้ครัวเรือนที่สูง & การใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ต่ำเพียง 60% และอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำก็ไม่ได้กดดันให้ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ย กลยุทธ์ : ยังคงให้เลือกลงทุนเป็นรายบริษัท (Selective Play)

 

อีกทั้ง บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ (22 มิ.ย.) สำหรับปัจจัยในประเทศในวันนี้ (22 มิ.ย.) จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งก็คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ ทำให้ประเด็นนี้น่าจะไม่ได้มีนัยยะต่อตลาด ดังนั้นจึงมองว่าในช่วง 1-2 วันนี้ ตลาดคงจะ Wait & See ไปก่อน เนื่องจากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใหม่เข้ามา

 

นอกจากนี้ นางสาวนลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) 22 มิ.ย.นี้ มีแนวโน้มคงดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังรักษาการเติบโตได้ในระดับปานกลาง โดยได้รับแรงหนุนจากมาตรการทางการคลังที่มากขึ้น ซึ่งคาดว่า ธปท.ไม่น่าจะปรับการคาดการณ์เศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญในรอบนี้ ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการรอประเมินผลกระทบจากสถานการณ์ภายนอก ท่ามกลางปัจจัยภายนอกที่มีความไม่แน่นอนเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ ธปท.ยังคง รักษาท่าทีและรอดูสถานการณ์ไปก่อน

โดยน่าจะรอดูความชัดเจนเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ ภายนอกประเทศ รวมถึงการทำประชามติของอังกฤษในการถอนตัวจาก EU และโอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย อีกทั้งการลดดอกเบี้ยนโยบายในขณะนี้อาจส่งสัญญาณเชิงลบมากเกินไป บั่นทอนความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ และชักนำไปสู่สถานการณ์ที่อ่อนไหวมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ ธปท.ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น

ทั้งนี้ ข้อมูลเศรษฐกิจไทยยังคงมีทั้งด้านบวกและลบ โดย GDP Q1/59 เติบโตดีขึ้นมากกว่าคาดที่ 3.2% เทียบกับปีก่อน ขณะที่คาดการณ์ของตลาดอยู่ที่ 2.8% แต่ข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ โดยเฉพาะการเติบโตของสินเชื่อ การส่งออก และดัชนีการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนถึงการเริ่มต้น Q2 ที่ยังอ่อนแอ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในระดับที่สามารถจะเติบโตได้ที่ 3.0% ในปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากปีก่อน แต่น่าจะเพียงพอต่อการที่ ธปท.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% เช่นเดิม

ขณะที่ ความร้ายแรงของภาวะภัยแล้งมีแนวโน้มทุเลาลงเรื่อยๆ และราคาพืชผลทางการเกษตรดูเหมือนจะผ่านระดับต่ำสุดมาแล้ว ดังนั้นการขยายตัวด้านการบริโภคน่าจะปรับตัวดีขึ้น แม้ว่าจะเป็นเพียงเล็กน้อย ตามรายได้ของเกษตรกรและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค นอกจากนี้โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการที่ได้รับการอนุมัติช่วงไม่กี่เดือนมานี้และกำลังอยู่ระหว่างการเตรียมประกวดราคาในไตรมาส 3 ปีนี้ น่าจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นภาคธุรกิจและขยายการลงทุนภาคเอกชนได้

Back to top button