2 มุมประชามติทายท้าวิชามาร

ผลประชามติ “รับล้นหลาม” ถามว่าผิดคาดและผิดหวังไหม ในฐานะที่ประกาศตัวไม่รับ และพยายามชี้ให้เห็นปัญหามาตลอด ก็ยอมรับว่าผิดคาด ผิดหวัง แม้ไม่ถึงกับ “หน้าแหก” เพราะไม่เคยฟันธงว่าฝ่ายไม่รับชนะแหง เพียงแต่คิดว่ามีลุ้น หรือถ้าแพ้ก็ควรสูสีกว่านี้


ใบตองแห้ง

 

ผลประชามติ “รับล้นหลาม” ถามว่าผิดคาดและผิดหวังไหม ในฐานะที่ประกาศตัวไม่รับ และพยายามชี้ให้เห็นปัญหามาตลอด ก็ยอมรับว่าผิดคาด ผิดหวัง แม้ไม่ถึงกับ “หน้าแหก” เพราะไม่เคยฟันธงว่าฝ่ายไม่รับชนะแหง เพียงแต่คิดว่ามีลุ้น หรือถ้าแพ้ก็ควรสูสีกว่านี้

อะไรที่คาดผิด อันดับแรกคือคาดพรรคประชาธิปัตย์ผิด ไม่คิดว่าอภิสิทธิ์-ชวน กลับไม่มีอิทธิพลต่อฐานเสียง กทม.และภาคใต้แม้แต่น้อย ตลอดด้ามขวานมีแค่ 3 จังหวัด ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ที่ฝ่ายไม่รับชนะล้นหลาม ขณะที่ภาคอีสานและภาคเหนือตอนบน ฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย ก็ยังชนะ แต่ไม่ชนะมากเท่ากับปี 2550

อันดับสองที่คาดผิด และเป็นข้อสำคัญ คือความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ที่ไป “รับ” ซึ่งเอาเข้าจริง ไม่ใช่ว่าคน 15-16 ล้านรับเพราะเป็น กปปส. รับเพราะนิยมชมชอบ คสช. รับเพราะเกลียดนักการเมือง หรือรับเพราะเห็นด้วยกับเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ “ดูแลตั้งแต่ท้องแม่จนแก่เฒ่า” หรือปราบโกง ฯลฯ

ปัจจัยที่ว่ามีอยู่บ้าง เพียงแต่ส่วนข้างมากน่าจะรับเพราะเชื่อว่าเป็นหนทางกลับไปสู่เลือกตั้งอย่างสงบ กลัวว่าถ้าไม่รับแล้วจะวุ่นวาย กลัวอนาคตที่มองไม่เห็น อย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เตือนไว้

แน่ละ มันประกอบกับการโหมรณรงค์ข้างเดียวของกลไกรัฐ ขณะที่ฝ่ายไม่รับถูกปิดกั้น ถูกจับกุม ถูกบล็อกไม่ให้เคลื่อนไหว

เช่นที่นายทวิสันต์ โลณานุรักษ์ อดีตเลขาธิการหอการค้าภาคอีสาน ให้สัมภาษณ์ว่าบรรยากาศการลงประชามติที่นครราชสีมาไม่ค่อยคึกคัก คนทำงานต่างถิ่นไม่ค่อยกลับมาใช้สิทธิ์ เหลือแต่คนในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับการขอร้องจากนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้ออกมาใช้สิทธิ์เยอะๆ โดยเกือบ 100% ไม่เข้าใจเนื้อหา เพียงแต่ต้องการให้มีเลือกตั้ง เพื่อให้ประเทศกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ขณะที่ถ้าร่างไม่ผ่านก็ยังไม่รู้จะได้เลือกตั้งเมื่อไหร่

กระแสรักสงบ กลัวความวุ่นวาย กลัวอนาคตไม่รู้จะเกิดอะไร เป็นกระแสที่พลิกไปมาได้เสมอ ถ้าย้อนไปดูเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 ที่ กปปส.ขัดขวาง ยังมีคนไปใช้สิทธิ 20 ล้านเสียง ผมเชื่อว่ามีหลายล้านคนในวันนั้นที่โหวตรับในวันนี้ ด้วยเหตุผลเดียวกันคือไม่อยากเห็นความวุ่นวาย

อย่างไรก็ดี มองอีกด้าน คะแนนไม่รับก็ยังใกล้เคียงปี 2550 คือเกือบ 10 ล้านเสียง ทั้งที่ถูกปิดกั้น ถูกบล็อก ถูกขัดขวาง นี่คือฐานมวลชนที่มั่นคงแข็งแกร่ง และไม่เปลี่ยนแปลงถอยหลัง

พูดอย่างนี้ยอมรับผลประชามติไหม ยอมรับสิครับ ยอมรับการตัดสินใจของคน 16 ล้านคน แต่ไม่ยอมรับกติกาที่ปิดกั้นตั้งแต่ต้น และขณะเดียวกันก็สงวนสิทธิที่จะต่อสู้ทางความคิดเพื่อเปลี่ยนใจคน 16 ล้านคน เพราะแม้เขาลงมติรับ แต่ก็อาจไม่เห็นด้วยบางประเด็น โดยเฉพาะเมื่อเห็นผล เช่น เห็นการแต่งตั้ง ส.ว. เห็น ส.ว.เลือกนายกฯ แล้วเขาจะตระหนักว่าตัดสินใจผิดไป

ผมพูดไว้ก่อนแล้วว่า ไม่ว่าประชามติผ่าน หรือไม่ผ่าน ก็ไม่มีทางเกิดความสงบอย่างที่หลายคนต้องการ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นกลไกสร้างความขัดแย้งไม่รู้จบ ความเป็นจริงมันไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิดกันแบบมักง่ายว่า รับร่างรัฐธรรมนูญ มีเลือกตั้งปีหน้า แล้วเศรษฐกิจจะดี

อ้าว นี่แค่เริ่มต้น ปู่มีชัยก็บอกแล้วว่าจะมีเลือกตั้งปลายปี 2560 หรือต้นปี 2561

 

                                                                                                                ใบตองแห้ง

X
Back to top button