น้ำมัน ทฤษฎีเกม และ จิตเภทพลวัต 2016

ความล้มเหลวของคณะทำงานหาตัวเลขโควตาลดการผลิตและส่งออกน้ำมันของโอเปกและนอกโอเปกที่เวียนนา ใช้เวลา 18 ชั่วโมงเศษในการประชุมโดยไม่สามารถหาข้อตกลงอะไรได้เลย อธิบายด้วยทฤษฎีเกมเรื่องการต่อรองในลักษณ์ "ทางสองแพร่งของผู้ต้องหา" (prisoners' dilemma)


วิษณุ โชลิตกุล

 

ความล้มเหลวของคณะทำงานหาตัวเลขโควตาลดการผลิตและส่งออกน้ำมันของโอเปกและนอกโอเปกที่เวียนนา ใช้เวลา 18 ชั่วโมงเศษในการประชุมโดยไม่สามารถหาข้อตกลงอะไรได้เลย อธิบายด้วยทฤษฎีเกมเรื่องการต่อรองในลักษณ์ “ทางสองแพร่งของผู้ต้องหา” (prisoners’ dilemma) 

การเลื่อนเจรจาออกไปเพราะยังไม่สามารถหาข้อต่อรองได้ ต้องรอผลการหารือระดับรัฐมนตรีในปลายเดือนพฤศจิกายนต่อไปว่า จะมีผลรูปธรรมแค่ไหน แม้จะมีคณะทำงานในที่ประชุมบางคนจะออกมาให้ข่าวกลบเกลื่อนว่า “บรรลุความสำเร็จขั้นต้นไปได้แล้ว” ซึ่งไม่มีความหมายอะไรเลย เพราะอิหร่านและอิรักยังตีรวนการประชุมต่อไป

อิหร่านและอิรัก ยังคงยื่นข้อเสนอที่เข้าข้างตัวเองแบบสีข้างเข้าถูว่า ต้องการให้ทั้งสองชาติตัดทั้งสองประเทศออกจากโปรแกรมการลดการผลิตลง เพราะต้องการเพิ่มการผลิตออกไป ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะท่าทีเช่นนี้ ต้องการให้ส่วนแบ่งในโควตาการผลิตของอิหร่านและอิรักเพิ่มสัดส่วนในโอเปกมากขึ้น

ภายใต้ทฤษฎีเกม ชาติส่งออกน้ำมันทุกชาติรู้ดีว่า กำลังการผลิตน้ำมันดิบในปัจจุบันของโลก เกินกว่าอุปสงค์ของตลาดน้ำมันในสภาพที่เศรษฐกิจของโลกยังเติบโตช้ามาก ไม่สามารถดื้อรั้นเพิ่มกำลังการผลิตต่อไปได้ตามกำลังการผลิตที่แท้จริง เพราะมันหมายถึงการฆ่าตัวตายในระยะยาว

รายได้จากการขายน้ำมันในราคาต่ำกว่า 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล กับรายได้จากการขายน้ำมันดิบที่ระดับเหนือ 45 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล มีผลต่องบประมาณของรัฐบาล และต่อทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศอย่างมาก ประสบการณ์จริงในปีที่ผ่านมาบอกได้ชัดว่าหากปราศจากการลดกำลังการผลิตที่จริงจัง หายนะของรัฐบาลชาติส่งออกน้ำมันจะตามมาในไม่ช้า

การลดท่าทีลงของรัสเซีย และซาอุดีอาระเบีย ชาติผลิตและส่งออกน้ำมันหลักของโลก หลังจากความพยายาม “เล่นกล” กับการเสนอลดกำลังการผลิตที่จบลงด้วยความล้มเหลวหลายครั้ง นำมาสู่ข้อตกลงที่ดูจริงจังในเดือนก่อนนี้ในการประชุมที่เมืองแอลเจียร์ ประเทศแอลจีเรีย ซึ่งเป็นที่มาของการประชุมระดับปฏิบัติการเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา สะท้อนถึงเจตจำนงทางนโยบายการเมืองเรื่องน้ำมันของชาติส่งออกที่ชัดเจน และมีส่วนยกระดับความมั่งคั่งของชาติส่งออกน้ำมันในปีนี้ขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ข้อเท็จจริงที่ราคาน้ำมันดิบสามารถยืนเหนือ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเป็นครั้งคราว เป็นสิ่งที่ตัวแทนอันชาญฉลาดอย่างอิหร่านและอิรัก ย่อมมองเห็นอยู่ว่าการเล่นเกมตัวเลขการผลิตน้ำมัน ที่ส่งผลต่อราคาและสะท้อนกลับมาในรูปรายได้จากการขายน้ำมันของตนเอง มีประโยชน์มากกว่าโทษ

โดยข้อเท็จจริง ชาติส่งออกน้ำมันทั่วโลกรู้ดีว่า ขีดจำกัดของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในปัจจุบัน และอนาคตอันใกล้ จะต้องไม่สูงกว่า 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพราะเมื่อใดที่สูงกว่าระดับดังกล่าว สหรัฐในฐานะชาตินำเข้าใหญ่ที่มีเทคโนโลยีระเบิดหลุมน้ำมันหรือ เชล ออยล์ สามารถเพิ่มกำลังการผลิตทดแทนได้ทันทีเพื่อทำให้ราคาไม่สามารถสูงขึ้นได้

ปฏิบัติการลดกำลังการผลิตของชาติส่งออกน้ำมันดิบ จึงมีประเด็นสำคัญที่ว่าจะต้อง 1) ไม่ลดมากเกินไป หรือน้อยเกินไป จนทำลายเสถียรภาพของราคาน้ำมัน 2) ต้องรักษาวินัยของการผลิตระหว่างชาติที่เข้าทำข้อตกลง ที่ไม่รวมสหรัฐและจีน ซึ่งเป็นชาติผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลกที่ไม่ได้ส่งออก

ทฤษฎีเกมของกรณีน้ำมันนี้จึงอยู่ที่การกำหนดว่า 1) ชาติที่เข้าประชุมจะ “มอบตัวรับสารภาพอย่างมีเงื่อนไข” มากน้อยแค่ไหน 2) จะมีใครในชาติที่เข้าร่วมตกลง “หักหลัง” มติการประชุมลับหลังอย่างเงียบๆ แต่เป็นที่รู้กันอยู่

กรณีของอิหร่านและอิรักนั้น ท่าทีของตัวแทนที่เข้าเจรจาบอกไว้ชัดเจนว่าติดในข้อแรกอย่างมีนัยสำคัญ และไม่ยืนยันในข้อที่สอง หากว่าตนเองเสียเปรียบ แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะต้องการทำตัวเป็น “เด็กเกเร” แต่อย่างใด แม้ว่าจะมีความเป็นไปได้สูง

อิหร่านนั้นมีบทเรียนมาแล้วจากการถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากกรณีการสร้างเตาปฏิกรณ์ปรมาณูเมื่อหลายปีก่อนจนเศรษฐกิจทรุดโทรมรุนแรง จึงคงไม่ต้องการกลับไปสู่สถานะเดิมอีกครั้งแน่นอน 

ส่วนอิรักนั้น ความล่มสลายจนทุกด้าน ชาติเกือบแตกสลายจากการยึดครองของอเมริกานานหลายปี เป็นบทเรียนสำคัญมาแล้ว จึงรู้ดีว่า การทำตัว “แหกคอก” จากมติของกลุ่มนั้น มีผลลบอย่างไรบ้าง

การ “เล่นตัว” ด้วยการติดเขี้ยวเล็บแบบนักเจรจาระดับฮาร์ดคอร์ กับข้อเสนอไม่ยอมลดกำลังการผลิต จึงเป็นเพียง “ข้อเสนอเมื่อมีแต้มต่อในช่วงยังเหลือเวลา” ของผู้ต้องหา ตามทฤษฎีเกมเท่านั้น เพราะฉันทามติที่เมืองแอลเจียร์เมื่อเดือนที่แล้ว มีกรอบใหญ่ที่ชัดเจนในตัวเอง

การเล่นเกมของอิรักและอิหร่าน ชาติที่เข้าร่วมเจรจาที่เวียนนาในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา รู้ดีว่าเป็นแค่การซื้อเวลาตราบใดที่ยังไม่ถึงเส้นตาย และทุกชาติก็พร้อมจะรอได้ เพราะในระยะเฉพาะหน้านี้ ปริมาณสำรองน้ำมันดิบของสหรัฐยังลดต่ำลง ไม่ได้ทำให้ความล้มเหลวของข้อตกลง สามารถกดดันจนกระทั่งราคาร่วงไปต่ำกว่าหลักหมุดระดับ 45 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลแต่อย่างใด

ประสบการณ์นับแต่ต้นปีที่คุ้นเคยของชาติส่งออกน้ำมัน และตลาดเก็งกำไรทั่วโลกคือ เมื่อใดที่กระแสข่าวบรรดาชาติส่งออกน้ำมัน ยังคงหล่อเลี้ยงตลาดว่าการหารือกันเพื่อวางแผนที่จะเปิดการประชุมเพื่อตรึงผลผลิตน้ำมันดิบยังไม่ล่มสลาย โอกาสที่ราคาจะถูกแรงขายถล่มลงไปต่ำกว่า 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แบบในช่วงหลังเดือนธันวาคมปีก่อนที่มีมติของชาติโอเปกให้ปล่อยเสรีการผลิต โดยไม่มีโควตาสำหรับชาติสมาชิกจะไม่เกิดขึ้นอีก

ในระยะสั้น ความล้มเหลวของข้อตกลงที่เวียนนา อาจจะเป็นข่าวร้ายสำหรับราคาน้ำมันดิบ และหุ้นพลังงานทั่วโลกในสัปดาห์นี้ แต่ไม่ถือเป็นขาลงของธุรกิจปิโตรเลียมอีกแล้ว เพราะเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมาของขาลงราคา ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเรียนรู้ความเจ็บปวดของการเป็นผู้แพ้ได้ดีและชัดเจน

ถ้าชาติส่งออกน้ำมันยังไม่ยอมเรียนรู้อีก ทฤษฎีเกมที่พยายามเล่นกันอยู่ก็ไร้ประโยชน์ และอาจจะกลายเป็น “เกมเหนือจริง” ของคนป่วยระดับจิตเภทเท่านั้น

Back to top button