ระเบิดเวลาจากเฟดพลวัต 2016

ค่าดอลลาร์ ในยุคของโดนัลด์ ทรัมป์ คือ ระเบิดเวลาลูกใหม่ของตลาดหุ้นไทย อย่างไม่ต้องสงสัย


ค่าดอลลาร์ ในยุคของโดนัลด์ ทรัมป์ คือ ระเบิดเวลาลูกใหม่ของตลาดหุ้นไทย อย่างไม่ต้องสงสัย

ประเด็นปัญหาเรื่องที่วงการเมืองตั้งคำถามคือความสัมพันธ์ระหว่างนางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด กับทีมงานของทรัมป์จะเป็นอย่างไรไม่ใช่สาระสำคัญ เป็นแค่สีสัน แม้หลายคนอาจเชื่อว่าความขัดแย้งระหว่างทำเนียบขาวและเฟดภายใต้นางเยลเลน จะมีมากขึ้น หลังจากในช่วงหาเสียง นายทรัมป์โจมตีนางเยลเลนว่า เข้าข้างพรรคเดโมแครตมากเกินขนาด

นางเยลเลนเอง ยืนยันว่า จะไม่ลาออก แต่จะอยู่จนครบเทอมในอีก 2 ปีข้างหน้า และไม่ต่ออายุ เพราะปัจจุบันอายุมากแล้ว

ข้อสรุปว่า เฟดและทำเนียบขาวจะขัดแย้งกันมากหรือขัดแย้งกัน จะมีลักษณะเป็นแค่ “พายุในถ้วยชา” เท่านั้นเนื่องจากประวัติศาสตร์การเมืองของสหรัฐนั้น ทำเนียบขาวคือผู้ทำทางการเมืองและการทหาร แต่เฟดคือเสาหลักของนโยบายการเงินและความแข็งแกร่งของตลาดทุนตลาดเงินสหรัฐ

ที่สำคัญ ไม่ว่าเฟดจะขัดแย้งกับทำเนียบขาวหรือไม่ แต่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะต้องเกิดขึ้นในเดือนธันวาคมนี้แน่นอน

ที่ผ่านมา โจทย์ที่ท้าทายเฟดเสมอมาคือ  เศรษฐกิจของสหรัฐมีความพร้อมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากเพียงใด โดยผู้นำของสายเหยี่ยวเฟด ระบุว่า ถึงเวลาที่จะต้องขึ้นมาหลายครั้ง โดยยืนยันคำเดิมแบบย้ำคิดย้ำทำว่า ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐจะต้องย่ำแย่อย่างรุนแรงมาก ถึงจะทำให้เขาไม่ลงมติสนับสนุนการปรับขึ้นดอกเบี้ย

การขึ้นดอกเบี้ยของเฟด มีผลสองด้านพร้อมกันคือ ต้นทุนการเงินของธุรกิจในสหรัฐสูงขึ้น และค่าดอลลาร์แข็งขึ้น ซึ่งอย่างหลังนี้ ไม่เคยเป็นผลดีกับดัชนีตลาดหุ้นส่วนใหญ่ รวมทั้งไทยมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ประหนึ่งความสัมพันธ์ระหว่างงู กับเชือกกล้วย

เมื่อใดก็ตามที่มีข่าวเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เมื่อนั้นตลาดหุ้นส่วนใหญ่ (ยกเว้นญี่ปุ่น) จะร่วงแรง จากการที่ต่างชาติจะถอนตัวจากตลาดหุ้นเกิดใหม่กลับไปถือดอลลาร์

หลายเดือนมานี้ คณะกรรมการเฟดพยายามยื้อเวลาเพื่อให้มั่นใจว่า การจ้างงาน และเป้าหมายเงินเฟ้อจะบรรลุเป้า ท่ามกลางแรงกดดันของคนที่รู้สึกว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำติดพื้นระดับ 0%ของเฟดนานเกิน ฝืนธรรมชาติของกลไกตลาด อาจนำไปสู่สภาวะฟองสบู่ของเศรษฐกิจ ทำนองเดียวกับที่เฟด ยุคนายอลัน กรีนสแปน เคยกดดอกเบี้ยต่ำนานเกิน จนเป็นรากเหง้าของวิกฤตซับไพรม์มาแล้ว

มุมมองของตลาดเงินและตลาดทุนในสหรัฐปัจจุบัน ถือว่าขณะนี้ค่าดอลลาร์อ่อนเกินจริงไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ เพราะแม้ดอลลาร์ต่ำจะช่วยให้การส่งออกสินค้าของสหรัฐดีขึ้นต่ำ แต่ขีดจำกัดการแข่งขันของภาคการผลิตสินค้ามีคุณูปการต่อเศรษฐกิจ น้อยกว่าความได้เปรียบในสินค้าบริการทางการเงินในตลาดโลก

ค่าดอลลาร์ที่ต่ำเกิน เปิดช่องให้ธุรกิจและชาติต่างๆ ในโลก โดยเฉพาะญี่ปุ่นและจีน อาศัยประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยสหรัฐต่ำ กู้ยืมเงินจากตลาดในรูปดอลลาร์ทำกำไรผ่านแคร์รี่เทรด และลดต้นทุนการเงินต่อเนื่องตลอดหลายปีนี้

ยุคของดอลลาร์แข็งกำลังจะย้อนกลับมาใหม่ พร้อมกับการขึ้นสู่อำนาจของพรรครีพับลิกัน และการกลับมาของเรแกนโนมิกส์กลายพันธุ์ในยุคของทรัมป์ ทำให้ต้องย้อนกลับไปถึงทำเนียบขาวในยุคของบิล คลินตัน และเฟดยุคของอลัน กรีนสแปน ก่อนวิกฤตซับไพรม์

ดอลลาร์แพงเท่าใด เศรษฐกิจสหรัฐจะแข็งแกร่งเพียงนั้น ประวัติยุคปลายของบิล คลินตัน บันทึกไว้ชัดเจน 

ในระหว่างปี ค.ศ.1993-มกราคม ค.ศ.2001 คลินตัน (เดโมแครต) และอลัน  กรีนสแปน (รีพับลิกัน) ได้พบกันครั้งแรก และสนทนากันด้วยภาษาดอกไม้ แต่หลังจากนั้นไม่นานคนทั้งคู่ก็มึนตึงต่อกัน เมื่อความปรารถนาของคลินตัน ที่ต้องการให้เฟดลดดอกเบี้ยให้ต่ำ ได้รับการตอบสนองตรงกันข้าม

ในช่วงก่อนลงสมัครประธานาธิบดีรอบสอง คลินตันพยายามโน้มน้าวให้กรีนสแปนกดอัตราดอกเบี้ยไว้ต่ำๆ แต่ผลลัพธ์คือ นอกจากจะไม่ปฏิบัติตามคำขอของประธานาธิบดีแล้ว กรีนสแปนและเฟดกลับทำในสิ่งตรงข้าม นั่นคือ เพิ่มอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้น

ว่ากันว่าครั้งนั้นคลินตัน ถึงขนาดจะออกมาวิพากษ์วิจารณ์กรีนสแปนในที่สาธารณะ แต่ถูกคณะที่ปรึกษาห้ามปรามไว้ และเมื่อกาลเวลาผ่านไป ด้วยฝีมือของกรีนสแปนเศรษฐกิจอเมริกายิ่งแข็งแกร่ง สังคมให้การยกย่องและเชื่อมั่นในกรีนสแปนเป็นอย่างสูง ทำให้คลินตันจำใจเสนอชื่อกรีนสแปน ขึ้นเป็นผู้ว่าการธนาคารกลาง อีกวาระหนึ่ง เป็นวาระที่ 4 เนื่องจากไม่สามารถหาใครที่มีความเก่งกาจเทียบเท่ากรีนสแปนได้อีกแล้วในเวลานั้น

บทบาทแบบ “ลิ้นกับฟัน” ของทำเนียบขาวในยุคทรัมป์และเฟดในยุคนางเยลเลน จึงน่าจะเทียบเคียงได้กับยุคของคลินตัน กับกรีนสแปนในอดีตนั่นเอง

ในช่วงหลังวิกฤตซับไพรม์ การที่ค่าดอลลาร์อ่อนสะเทือนไปทั่วทั้งโลก โดยเฉพาะชาติที่ส่งออกเป็นเสาหลักทางด้านเศรษฐกิจ เพราะทำให้ความสามารถในการส่งออกลดลง แต่ช่วงเวลาของทรัมป์ ดอลลาร์แข็ง คงสร้างผลสะเทือนทางลบได้ไม่แพ้กัน เพียงแต่คนละด้านเท่านั้น

ผลสะเทือนที่กำลังเกิดขึ้นยามนี้ เป็นแค่การเริ่มต้นเท่านั้น!?

Back to top button