PS เก่าไป …PSH ใหม่มา

วันพุธที่ผ่านมา ถือเป็นวันสุดท้ายสำหรับผู้ถือหุ้นของ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ PS ที่จะมีโอกาสทำคำเสนอซื้อ บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ PSH ซึ่งมีระยะเวลา ตั้งแต่วันที่ 19 ต.ค. 2559 ถึงวันที่ 23 พ.ย. 2559 เพื่อให้บริษัทหลัง เข้ามาเป็นบริษัทจดทะเบียนแทนบริษัทแรกที่จะถอนตัวออกจากตลาดฯไป


แฉทุกวัน ทันเกมหุ้น

 

วันพุธที่ผ่านมา ถือเป็นวันสุดท้ายสำหรับผู้ถือหุ้นของ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ  PS ที่จะมีโอกาสทำคำเสนอซื้อ บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ PSH ซึ่งมีระยะเวลา ตั้งแต่วันที่ 19 ต.ค. 2559 ถึงวันที่ 23 พ.ย. 2559 เพื่อให้บริษัทหลัง เข้ามาเป็นบริษัทจดทะเบียนแทนบริษัทแรกที่จะถอนตัวออกจากตลาดฯไป

อัตราส่วนการแลกเปลี่ยนหุ้น PS และ PSH เท่ากับ 1 หุ้นสามัญของ PS ต่อ 1 หุ้นสามัญที่ออกใหม่ของ PSH

นั่นหมายความว่า ราคาหุ้นที่ซื้อขายบนกระดานของ PS นับแต่วานนี้เป็นต้นมา จะหมดสภาพการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดในเวลาที่กำหนดเอาไว้แล้ว  นั่นคือ วันที่ 1 ธันวาคม 2559

ในวันดังกล่าว หุ้นสามัญของ PSH จะเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในขณที่วันที่หุ้นของ PS จะถูกเพิกถอนออก กลายเป็นหุ้นนอกตลาดเช่นกัน

นั่นหมายความว่า นับแต่วันที่ 1 ธันวาคมเป็นต้นไป ผู้ที่ถือหุ้นของ PS ที่เป็นบุคคลธรรมดาจะไม่ได้รับสิทธิทางด้านภาษีจากการขายหุ้นของPS ต่อไป เพราะไม่มีตลาดรอง ทำให้ไม่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้อีก แม้ว่าการถือหุ้น PS ต่อยังได้เงินปันผลตอบแทน ในกรณีที่บริษัทมีกำไรและมีการจ่ายเงินปันผลในอนาคต

ราคาหุ้น PS จึงร่วงลง ตามที่นักวิเคราะห์แนะนำให้เลิกการเข้าซื้อหุ้น PS ในช่วงตั้งแต่วันพุธที่ผ่านมา เพราะไม่สามารถนำไปแปลงเป็นหุ้น PSH แล้ว…รอวันถอนตัวออกจากตลาดอย่างเดียว

ทั้งหมดนี้คือ กระบวนการเปลี่ยนผ่านยุคสมัยจาก PS ที่จะหายไปจากตลาด โดยมี PSH เข้ามารับช่วงสร้างตำนานต่อไปในอนาคต แม้ว่าในช่วงแรกของ PSH จะยังคงพึ่งพาสัดส่วนรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ของ PS เกือบ 100% ก็ตาม

การเปลี่ยนหน้า (เฟซ ออฟ) ของ PS มาเป็น PSH เป็นไปตามขั้นตอน หลังมติของที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท PS เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 ให้ขอถอนหุ้น PS ออก แล้วเอาบริษัทแม่ที่เป็นโฮลดิ้งเข้าแทน โดยการสว็อปหุ้นเดิมกับหุ้นใหม่ในราคาเท่ากัน เพื่อปรับโฉมธุรกิจใหม่ตามคำชี้แนะของบริษัทที่ปรึกษา คือ อินดิโก คอนซัลติ้ง กรุ๊ป เมื่อหลายปีก่อน

หลังจากกระบวนการนี้สิ้นสุดลง  PSH จะมีนายทองมา  วิจิตรพงศ์พันธุ์เป็นซีอีโอของบริษัทโฮลดิ้ง PSH ที่เป็นบริษัทจดทะเบียน ส่วนนายเลอศักดิ์ จุลเทศ อดีตผู้บริหารการเงินของธนาคารออมสิน จะเป็นซีอีโอของ PS ที่กลายเป็นบริษัทนอกตลาดไป

การเปลี่ยนโฉมธุรกิจที่กินเวลายาวนานหลายเดือน และผ่านหลายขั้นตอนอย่างมากนี้ เป็นไปเพื่อให้สอดรับกับวิสัยทัศน์ของผู้นำ ที่กำหนดไว้ว่าภายใน 5 ปีข้างหน้า บริษัทในกลุ่มจะมุ่งเน้น 3 กลยุทธ์หลัก คือ

1) คงความเป็นผู้นำในตลาดอสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้ระดับต่ำถึงปานกลาง (Value)

2) เพิ่มส่วนแบ่งการตลาดของบริษัทในตลาดที่อยู่อาศัยระดับบน (Premium)

3) หาโอกาสในการดำเนินธุรกิจใหม่ๆ โดยมุ่งเน้นธุรกิจที่มีความสามารถในการสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง (Recurring Income) ที่มั่นคงและยั่งยืน

เป้าหมายของการปรับเปลี่ยนโฉมที่เป็นรูปธรรม ส่วนหนึ่งมาจากการพยายาม “สลัดให้พ้นจากอดีต” เนื่องจากที่ผ่านมา ค่ายนี้ทำธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในตลาดล่างและตลาดกลางเป็นหลัก แต่ต้องการรุกเข้าสู่ฐานตลาดที่อยู่อาศัยระดับบนให้มากขึ้น เพราะยังมีสัดส่วนรายได้จากกลุ่มนี้น้อยมาก แต่อนาคตจะมีมากขึ้น

 ในอดีตที่ผ่านมา PS ได้ชื่อว่า เป็นผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่มุ่งมั่นกับกลยุทธ์ของตนเองคือ ใช้กระแสเงินสดที่มั่นคงแข็งแกร่ง มุ่งสร้างโครงการตามความถนัดโดยไม่สร้างหนี้มากเกิน ผสมผสานกับเทคโนโลยีการก่อสร้างอาคารที่ทันสมัยเป็นตัวเร่งการตลาดที่มีนัยสำคัญ

จุดเด่นในการก่อสร้าง กลายเป็นความแข็งแกร่ง ถือเป็นกลยุทธ์นอกเหนือจากการซื้อที่ดินมาพัฒนา มาเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง และลงมือเป็นผู้ก่อสร้างด้วยตนเองแทนการจ้างบริษัทก่อสร้างจากภายนอก ทำให้มีความสามารถในการเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนสำหรับงานก่อสร้างเองเกือบทั้งหมด จากโรงงานผลิตชิ้นส่วน Precast ที่มีกำลังการผลิตยืดหยุ่น สามารถประเมินต้นทุนของวัสดุก่อสร้างในแต่ละขั้นตอนได้เป็นอย่างดี เป็นกระบวนการทำงานที่สอดคล้องลงตัวทั้งการตลาด การเงินและการก่อสร้างโครงการเพื่อส่งมอบ

จุดเด่นทั้งหมดที่ประมวลไว้อย่างบูรณาการผ่านระบบบริหารจัดการ ได้สร้างกุญแจสำคัญของ PS ให้อยู่ที่ความสามารถในการโอนโครงการที่แล้วเสร็จให้กับลูกค้าได้เร็ว มีลักษณะ economy of speed มากขึ้นตามระบบบันทึกบัญชีที่ปรับปรุงใหม่ ทำให้ตัวเลขรายได้และกำไรมีความโดดเด่น ซึ่งจะทำให้ปัญหาเรื่องของหนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้น หรือดี/อีลดความสำคัญลง

การเปลี่ยนฉากที่เป็นมากกว่าชื่อของ PSH จะซ้ำรอยกับการเถลิงความยิ่งใหญ่ของ IVL หรือ BTS หรือ INTUCH ในอดีตที่ผ่านมา …(ก่อนจะตามมาด้วยโมเดลคล้ายกันที่ PTT)…สะท้อนถึงการสร้างอาณาจักรธุรกิจไทยร่วมสมัยยุคหลังวิกฤติต้มยำกุ้งได้โดดเด่นยิ่งนัก

จากนี้ไป PSH จะก้าวกระโดดไกล…. Up… Up… and Away

Back to top button