ปมกอร์เดียนถูกผ่าทางตันพลวัต 2016

เบื้องหลังความกล้าหาญของซาอุดีอาระเบีย และรัสเซียในการผลักดันให้มีข้อตกลงลดการผลิตน้ำมันดิบ (ตามด้วยการส่งสัญญาณเพิ่มของซาอุดีอาระเบียว่า อาจจะมีการลดมากกว่าข้อตกลงด้วยซ้ำ) เป็นมากกว่าข่าวดีของธุรกิจน้ำมัน แต่เป็นการกระทำคล้ายเรื่องราวของอเล็กซานเดอร์มหาราช ในตำนานกรีกโบราณสองพันกว่าปีมาแล้ว ว่าด้วย ปมกอร์เดียน


วิษณุ โชลิตกุล

 

เบื้องหลังความกล้าหาญของซาอุดีอาระเบีย และรัสเซียในการผลักดันให้มีข้อตกลงลดการผลิตน้ำมันดิบ (ตามด้วยการส่งสัญญาณเพิ่มของซาอุดีอาระเบียว่า อาจจะมีการลดมากกว่าข้อตกลงด้วยซ้ำ) เป็นมากกว่าข่าวดีของธุรกิจน้ำมัน แต่เป็นการกระทำคล้ายเรื่องราวของอเล็กซานเดอร์มหาราช ในตำนานกรีกโบราณสองพันกว่าปีมาแล้ว  ว่าด้วย ปมกอร์เดียน

ปมกอร์เดียน เป็นตำนานของเมืองกอร์เดียม  แคว้นฟรีเจีย และเกี่ยวข้องกับพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของคาบสมุทรกรีก เมื่อกษัตริย์ที่ปกครองอยู่สวรรคตโดยไม่มีการแต่งตั้งผู้สืบทอดไว้ ศาสดาพยากรณ์ได้พยากรณ์ว่ากษัตริย์องค์ใหม่ของฟรีเจียจะเป็นผู้ที่ขับเกวียนเข้าเมืองมา กระทั่งครอบครัวของกอร์เดียส (Gordias) และลูกชาย อาไมดาส (Ahmidas) นั่งเกวียนเข้ามาในเมือง อาไมดาสจึงได้แต่งตั้งเป็นกษัตริย์องค์ใหม่ของฟรีเจีย

อาไมดาสผูกเกวียนที่เขานั่งมาไว้กับเสาวิหารในเมืองกอร์เดียม (Gordium) เมืองซึ่งถูกตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติให้กับบิดาของเขา ปมเงื่อนที่อาไมดาสผูกนั้นแน่นมาก กระทั่งศาสดาพยากรณ์ได้มีคำทำนายออกมาอีกว่า ผู้ที่แก้ปมนี้ได้จะเป็นผู้ที่ได้ครอบครองเอเชีย

เมื่อ 333 ปีก่อนคริสต์ศักราช อเล็กซานเดอร์มหาราชเสด็จมาที่กอร์เดียม และลองแก้ดูแต่พระองค์ก็แก้เชือกไม่ได้ อเล็กซานเดอร์คว้าดาบมาฟันเชือกขาดออกเป็นสองท่อนทันที ซึ่งในภาษาอังกฤษนำมาใช้สื่อถึงการแก้ปัญหายุ่งยากแบบฉับไวว่า Cutting the Gordian knot

และกลายมาเป็นอุปมาถึงปัญหาที่ยากเกินกว่าจะแก้ไข แต่แก้ได้ด้วยความกล้าหาญ

ปัญหาของโอเปกและชาติส่งออกนอกโอเปก ในอดีตคือการบิดพลิ้วข้อตกลงในบรรดาชาติสมาชิก และไม่ใช่ ทำให้การคุมโควตาที่ตกลงกันไว้ถูกละเมิดเสมอมา แต่การที่รัสเซียที่ปัจจุบันเป็นชาติส่งออกน้ำมันอันดับหนึ่งของโลกมาร่วมทำข้อตกลงด้วย สถานการณ์ก็เปลี่ยนไป

นักวิเคราะห์ธุรกิจน้ำมันประเมินเป้าหมายราคาน้ำมันกันใหม่หมดว่า ภายในกลางปี 2560 ราคาน้ำมันดิบควรจะอยู่เหนือระดับ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ราคาจะแค่ไหนไม่สำคัญเท่ากับว่า ยุคน้ำมันราคาต่ำใต้ 45 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลผ่านไปแล้ว

วานนี้ ราคาน้ำมันกระโดดเป็นขาขึ้นระลอกใหม่ชัดเจน ส่งผลต่อหุ้นพลังงานอย่างจริงจัง อย่างน้อยที่สุดกำไรจากสต๊อกน้ำมันไตรมาสนี้ น่าจะโดดเด่นอย่างมาก

ผลข้างเคียงของที่ราคาน้ำมันกลับเป็นขาขึ้นระลอกใหม่ (แม้จะมีคนไม่เห็นด้วยบางส่วน โดยอ้างถึงกรณีสหรัฐผลิตน้ำมันจากชั้นหินใต้ดินมาถ่วงดุล) คือ การที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นที่ตกต่ำมาตลอด 3 ปีนี้ จะพากันเปลี่ยนทิศ กลับเป็นขาขึ้นระลอกใหม่กันถ้วนหน้า ถือเป็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่สำคัญของชาติส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์อย่างมีนัยสำคัญ

ความกล้าหาญของชาติส่งออกน้ำมัน ไม่ว่าจะเกิดจากแรงจูงใจอะไร แต่ผลลัพธ์ที่ตามมา อย่างเลี่ยงไม่พ้นคือบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้น จะเปลี่ยนไปจากเดิมในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

การวิ่งขึ้นกะทันหันและรุนแรงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์และตลาดหุ้นทั่วโลกตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมารวมทั้งสัปดาห์นี้ เป็นมากกว่าแค่ “การวิ่งยาวจากอิทธิพลของทรัมป์” (Trump’s Rally)  แต่สอดคล้องกับศัพท์เทคนิคของการเก็งกำไรที่ว่า breaking out (ผ่าทางตันขาขึ้น)

ภาวะดังกล่าว ทำให้เกิดภาวะกระทิงที่ยาวนานกว่าปกติ และการตัดสินใจขายเมื่อมีกำไรโดยไม่ต้องสนใจราคาสูงสุด (โดยอาศัยเกณฑ์ margin of safety ตามสูตรของเบนจามิน แกรห์ม)  เป็นแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายมาก

คำถามที่เคยเกิดขึ้นกับนักลงทุนในสถานการณ์ที่ต้องระวังรอบคอบจากช่วงเวลาตลาดผันผวนใน 2 ปีมานี้ ว่า ราคาหุ้นในตลาดแพงเกินหรือยัง จะค่อยๆ ลดความสำคัญลงไป เพราะคำตอบที่ได้รับเริ่มไม่ชัดเจนหรือพร่าเลือนไป แต่สำหรับนักลงทุนแบบวีไอ และผู้จัดการกองทุนระดับ “ขาใหญ่” ระดับเซียน พวกเขายืนยันว่า ราคาหุ้นสูง กับราคาหุ้นแพงคนละเรื่องกัน

เมื่อพิจารณาปัจจัยแวดล้อม จะเห็นว่า ความมั่นใจของแรงซื้อในตลาดหุ้นนับจากสัปดาห์นี้ไป มาจากปรากฏการณ์ที่หลายคนประเมินว่า ราคาหุ้นในปัจจุบันมีการ “คลาดเคลื่อน” ของนักวิเคราะห์ในยามที่เศรษฐกิจต่ำเตี้ย และราคาน้ำมันมีวิกฤตมายาวนานกว่า 1 ปี

ปัจจัยบวกที่ส่งเสริมให้เกิดแรงซื้อในตลาดหุ้นทั่วโลกโดยไม่ใส่ใจกับประเด็นซานต้า คลอส แรลลี่ มีหลากหลายประการ นับแต่

 -ท่าทีของเฟด (ที่จะขึ้นดอกเบี้ยค่อนข้างแน่) ที่เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจสหรัฐกลับมาเข้มแข็งครั้งใหม่

-ท่าทีของธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB (ที่ลด QE รายเดือนลง แต่ยืดอายุให้นานขึ้น) สะท้อนว่ายูโรโซนพ้นจุดต่ำสุดของเงินฝืดมาแล้ว

-ดัชนีเศรษฐกิจจีนที่ตอกย้ำความแข็งแกร่งหลังผ่านช่วงชะลอตัวในยุคปรับดุลยภาพเศรษฐกิจ 

-เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่มีท่าทีฟื้นตัวต่อเนื่อง

-ราคาน้ำมันจะพุ่งขึ้นเหนือระดับ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นรวมทั้งสินค้าเกษตรทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น ลดผลกระทบจากการแข็งค่าของดอลลาร์จากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด

ปัจจัยบวกเหล่านี้ กล่าวโดยสรุปคือการ “ก้าวข้าม” ยุคหลังวิกฤตซับไพรม์ที่มีภาวะเงินฝืดเป็นปรากฏการณ์หลัก เพื่อกลับมาสู่ช่วงเวลาปกติอีกครั้ง

นับตั้งแต่วิกฤตซับไพรม์ ค.ศ.2008 เมื่อ 8 ปีก่อน ได้เกิดภาวะที่กดดันขาขึ้นระลอกใหม่ของเศรษฐกิจโลกด้วยปัจจัยหลายด้านพร้อมกันดังนี้

– ภาวะผลผลิตสินค้าเกือบทุกชนิดตั้งแต่สินค้าอุตสาหกรรมและโภคภัณฑ์ ล้นเกินอุปสงค์ของตลาดยาวนาน ตัวอย่างเช่น สิ่งทอที่ท่วมโลกมากถึงขนาดว่าหากปิดโรงงานทอผ้าทั้งโลก จะมีผ้าเหลือใช้นานกว่า 10 ปี หรือเหล็กที่ผลิตล้นเกินความต้องการมากกว่า 150 ล้านตัน/ปี ปัจจัยนี้ส่งผลพวงให้ราคาสินค้าวัตถุดิบหรือโภคภัณฑ์ร่วงลงต่อเนื่อง มาถึงจุดปะทุเมื่อปีที่ผ่านมาจากการพังทลายของราคาน้ำมันดิบ

– ความพยายามกอบกู้วิกฤตทางเศรษฐกิจด้วยการทุ่มมาตรการทางการคลังจนยอมขาดดุลงบประมาณเรื้อรังตามแนวทางเคนส์ ทำให้หนี้สาธารณะของชาติสำคัญทั่วโลกมาถึงขีดอันตราย ใช้มาตรการทางการคลังต่อไม่ได้ เพราะรายได้จากการส่งออกลดลงต่อเนื่อง ทำให้โมเดลเศรษฐกิจที่พึ่งการลงทุนจากต่างประเทศและการส่งออก ใช้การได้น้อยลง

– ทางเลือกสุดท้ายของการซื้อเวลารอเศรษฐกิจฟื้นตัวตามธรรมชาติ คือใช้มาตรการทางการเงินอย่างจริงจัง ผลพวงที่ตามมาคือ การพิมพ์ธนบัตรจำนวนมหาศาลมาซื้อหนี้เอกชนผ่านมาตรการ QE ที่ส่งผลข้างเคียง 3 ประการตามมานั่นคือ สงครามลดค่าเงินอย่างไม่เป็นทางการ สงครามลดดอกเบี้ยเงินฝากอย่างไม่เป็นทางการ และปริมาณเงินส่วนเกินที่ท่วมตลาด จนกลายเป็นทุนเก็งกำไรระหว่างประเทศ โดยไม่ถูกดูดซับเข้ามาในภาคการผลิตและบริการที่แท้จริง

ทุนที่ล้นเกินจากการที่ปริมาณเงินซึ่งชาติหลักของโลก (สหรัฐ ยูโรโซน และญี่ปุ่น) ได้พิมพ์ออกมาในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาจนท่วมตลาด และทำท่ามีแนวโน้มว่าจะกลายเป็นการ “เสพติดนโยบาย” จนเกินความสามารถที่ภาคการผลิตและบริการจะรองรับหรือดูดซับไหว  ไม่สามารถแปรสภาพเป็นการผลิตซ้ำใหม่ จนเกิดการจ้างงานหรือกำลังซื้อใหม่ ให้เศรษฐกิจเป็นขาขึ้นยั่งยืน แต่กลับจมปลักกับภาวะเงินเฟ้อติดลบ หรือเงินฝืดเรื้อรัง

ทุนล้นเกินซึ่งได้กลายสภาพเป็นทุนเก็งกำไรระหว่างประเทศนี้ ประเมินกันว่ามีมูลค่าสูงกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ ที่แต่ละวันจะเที่ยวเร่ร่อนเป็นสัมภเวสีไปยังแหล่งตลาดเก็งกำไร 4 แหล่ง ได้แก่ ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงิน ตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ และตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้า ซึ่งล้วนเชื่อมโยงกันต่อเนื่องภายใต้กระแสทุนนิยมโลกาภิวัตน์

แรงจูงใจในการลาดตระเวนของทุนเก็งกำไรที่มีขนาดมหึมาเปรียบเสมือน “ยักษ์นอกตะเกียงอะลาดิน” ได้แก่ ผลตอบแทนระยะสั้นของการลงทุน เมื่อใดที่ตลาดใดก็ตาม ที่ตลาดโดยรวมเกิดสภาพราคาหลักทรัพย์ต่ำกว่าพื้นฐาน ทุนเหล่านี้จะดาหน้ากันเข้าไปหาประโยชน์

แล้วเมื่อใดที่ตลาดดังกล่าวเริ่มเข้าเขตอิ่มตัวของขาขึ้น หรือมีอัพไซด์แคบลงจนไม่คุ้ม ทุนเหล่านี้จะอำลาจากไปโดยไม่เหลือเยื่อใย

การหาทางออกของผู้นำรัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแลกลไกเศรษฐกิจในช่วงเกือบ 1 ทศวรรษมานี้ ล้วนมีลักษณะ “ลิงแก้แห” ในขณะที่บรรดาธนาคารพาณิชย์ทั่วโลกต้องเผชิญแรงกดดัน 2 ด้าน คือ ปัญหาการควบคุมสัดส่วนหนี้เน่าให้ควบคุมได้ และการเผชิญหน้ากับสงครามลดดอกเบี้ย โดยไม่รู้ว่า เมื่อใดภาวะดังกล่าวจะจบสิ้นลง

ปัจจัยบวกที่กล่าวมาข้างต้นหลายประการ ที่บ่งชี้ว่า ช่วงเวลาของเงินฝืด ดอกเบี้ยต่ำติดพื้น เงินท่วมโลก สงครามค่าเงิน ดอกเบี้ยต่ำติดพื้น และอุปทานสินค้าท่วมล้นอุปสงค์ กำลังเดินมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ โดยผ่านข้อตกลงเรื่องผลผลิตน้ำมันของชาติส่งออก 25 ชาติ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา อันถือเป็นจุดเริ่มเชิงสัญลักษณ์การเปลี่ยนยุคสมัยที่สอดรับกับข้อสรุปเก่าแก่ของนักคิดทางเศรษฐศาสตร์การเมืองชื่อดัง โยเซฟ ชุมปีเตอร์ ว่าด้วยการทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์ หรือ creative destruction

แม้การเปลี่ยนยุคสมัยที่เกิดขึ้น อาจจะยังมีคำถามมากมาย แต่จุดสำคัญที่ต้องตระหนักชัดคือ สถานการณ์ที่เคยดำเนินมาเกือบ 1 ทศวรรษอันวนเวียนซ้ำซาก จะทยอยยุติลงและพ้นจากความน่าอึดอัดเสียที

ไม่ต่างอะไรกับตำนานเรื่องการแก้ปัญหา “ปมกอร์เดียน” ของอเล็กซานเดอร์มหาราช ในอดีตกว่า 2,000 ปีก่อน 

Back to top button