อนาคตธุรกิจพลังงานภาคใต้

สัปดาห์ที่ผ่านมา ติดตามคำเชิญของกระทรวงพลังงาน ไปกับทริปดูงานโรงไฟฟ้าหลายชนิดกับกระทรวงพลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับสื่อไทยหลายหลากที่เกาะคิวชู ทางใต้ของญี่ปุ่น ท่ามกลางลมหนาว และโปรแกรมที่แน่นขนัด ที่มีนักจับผิดรัฐบาล (ด้วยเจตนาดี ประสงค์ร้าย) พากันโพสต์ขึ้นเครือข่ายสังคมว่า เป็นแผนการ “ซื้อสื่อ” ด้วยพาเที่ยวชมแต่โปรแกรมที่จัดวางล่วงหน้า


พลวัต 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

 

สัปดาห์ที่ผ่านมา ติดตามคำเชิญของกระทรวงพลังงาน ไปกับทริปดูงานโรงไฟฟ้าหลายชนิดกับกระทรวงพลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับสื่อไทยหลายหลากที่เกาะคิวชู ทางใต้ของญี่ปุ่น ท่ามกลางลมหนาว และโปรแกรมที่แน่นขนัด ที่มีนักจับผิดรัฐบาล (ด้วยเจตนาดี ประสงค์ร้าย) พากันโพสต์ขึ้นเครือข่ายสังคมว่า เป็นแผนการ “ซื้อสื่อ” ด้วยพาเที่ยวชมแต่โปรแกรมที่จัดวางล่วงหน้า 

ก็ว่ากันไป เพราะตลอด 30 กว่าปีของอาชีพสับปะรังเคนี้ ติดตามไปกับคณะทริปแบบนี้นับร้อยๆ ครั้งแล้ว โดนข้อหาสารพัดจนชาชิน จะบอกว่า มีภูมิคุ้มกันเยอะ หรือ หนังด้าน ก็ได้ทั้งนั้น

ใครไม่มาทำอาชีพสื่อที่ต้องเจอแหล่งข่าวสารพัด ก็ให้มันรู้กันไป 

ว่าไปแล้วทริปแบบนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ก่อนหน้านี้ 2 ปีก่อน ทางกฟผ.เคยนำสื่อมวลชนไทยชุดใหญ่ ไปให้ข้อมูลเรื่องเทคโนโลยี USC ที่โรงไฟฟ้าฮิตาชินากะ มาแล้ว ก็ไม่เห็นจะมีอะไรขึ้นมา

บทเรียนและข้อคิดจากการดูงาน ผสมกับข้อมูล และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนับแต่อังคารที่ 17 กุมภาพพันธ์ที่ผ่านมาจนถึงล่าสุด ได้จุดประกายความคิด (ตามสูตรทำตัวเป็นกลางสุดๆ ตามรอยพระพุทธองค์ ไม่เข้ากับนิกาย สำนัก หรือสีไหน) ว่า ถ้าหากโครงการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. (ซึ่งถนัดกับแผนสร้างแหล่งผลิตไฟฟ้าชนิด “เล็กๆ ไม่ ใหญ่ๆ ทำ” ที่จะสร้างโรงไฟฟ้าพลังไอน้ำใช้เชื้อเพลิงถ่านหินที่กระบี่ ขนาด 800 เมกะวัตต์ มูลค่ารวมท่าเรือและอื่นๆ ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท (ไม่รวมกับค่าสายส่งที่ต้องใหม่ทั้งภาคใต้แทนสายส่งรุ่นเดิมมูลค่า 3 แสนล้าน) ถูกระงับไป เพราะเหตุอันใดก็ตาม โรงไฟฟ้าพลังถ่านหินอีก 2 โรงที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ขนาดโรงละประมาณ 1 พันเมกะวัตต์ มูลค่ารวมกันอีกประมาณ 7-8 หมื่นล้านบาท ก็จะก่อสร้างขึ้นไม่ได้ มีความหมายต่อราคาหุ้นบริษัทพลังงานผลิตไฟฟ้าในตลาดหุ้นไทยทั้งบวกและลบอย่างมาก 

ในทางยุทธศาสตร์ของกระทรวงพลังงานที่เรียกว่าแผน PDP 2007 (Power Development Plan 2558-2579) และ ปรับปรุงใหม่เป็น PDP 2015 การก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ รวม 4,800 เมกะวัตต์ เป็นความรับผิดชอบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 

ในระยะแรก กฟผ.ระบุ 2 โครงการที่ชัดเจนคือ โรงไฟฟ้ากระบี่ และเทพา จังหวัดสงขลา รวม 3 โรง มีความจำเป็นเร่งด่วนเพราะในอนาคตอันใกล้ พื้นที่ภาคใต้มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง และมีปริมาณความต้องการไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมากกว่าพื้นที่อื่นๆ

ข้อสรุปดังกล่าว มีคนค้านมาตั้งแต่ต้น แต่รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานก็ยืนยันความจำเป็นมาตลอด จนล่าสุดมาเป็นมติ กพช. วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 และมติครม.วันอังคารที่ผ่านมา

ในกรณีที่รัฐบาลยังคงยืนยันเดินหน้าต่อ เราจะได้เห็นข่าวดีในระยะสั้นจากราคาหุ้นของ ITD ที่ชนะประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่นานแล้ว แต่ยังไม่ได้เซ็นสัญญาก่อสร้าง แต่จะเป็นข่าวร้ายในระยะยาวสำหรับหุ้นผลิตไฟฟ้าต่างๆ รุนแรง 

เหตุผลเพราะ หากโรงไฟฟ้ากระบี่ (และเทพา) สำเร็จลุล่วง ปริมาณอุปทานของกระแสไฟฟ้าในภาคใต้ ที่ยามนี้ปริ่มๆ กับอุปสงค์ที่พุ่งขึ้นรวดเร็ว โอกาสทำกำไรของบริษัทผลิตพลังงานไฟฟ้าเอกชน ที่เคยเป็นหุ้นแห่งอนาคต จะเหือดหายไปรุนแรง เพราะกระทรวงพลังงานไม่จำเป็นต้องออกมาตรการใหม่มาจูงใจให้ใบอนุญาตโรงไฟฟ้าใหม่อีก (โดยไม่ต้องพูดถึง โรงไฟฟ้าใช้ถ่านหินที่ทับสะแก ขนาด 2,000 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นอีกทางเลือก ซึ่งเคยถูกประท้วงหนักจนรัฐบาลสุรยุทธ์จำต้องยอมทำบันทึกความเจ้าใจว่าจะไม่มีการก่อสร้างใหม่อีก) และถึงออกมาก็จะมีเงื่อนไขที่ทำให้เกิดอาการ “หมาเมิน” ขึ้นมา เพราะเอกชนจะรู้สึกไม่คุ้มในการลงทุนอีกต่อไป

อาศัยตัวเลขกระทรวงพลังงานและ กฟผ. (ซึ่งเป็นตัวเลขทางการ ที่จะเถียงว่าถูกหรือผิดว่ากันทีหลัง) จะพบว่า หลายปีมานี้ ค่าเฉลี่ยของอุปสงค์ไฟฟ้าในเขตภาคใต้ (โดยเฉพาะตอนล่าง) มีอัตราสูงกว่าภาคอื่นๆ ที่ระดับปีละ 4.7% โดยสิ้นปี 2559 มีอุปสงค์รวมในช่วงสูงสุด (ในช่วงปลายเดือนเมษายน) ที่ 2,713 เมกะวัตต์ ซึ่งใกล้เคียงกับ อุปทานสูงสุดที่พึ่งพาได้ตามปกติ 2,747 เมกะวัตต์ 

ปัญหาคือ หากบังเอิญช่วงเวลาใด อุปทานเกิดหดหายไปกะทันหัน (จากการปิดซ่อมบำรุง หรืออุบัติเหตุ หรือ ฯลฯ) ไฟฟ้าในภาคใต้จะขาดแคลนหรือ “ไฟตก” หรือ “ดับๆ ติดๆ” ทันที

หากฉายภาพอนาคต ติ๊งต่างว่า อัตราเติบโตของอุปสงค์ไฟฟ้าภาคใต้ยังทรงตัวที่ค่าเฉลี่ยปีละ 4.7% ภายใน 5 ปีข้างหน้า อุปสงค์ของไฟฟ้าภาคใต้ (ที่กระจุกตัวแถวภาคใต้ตอนล่างฝั่งอันดามัน) จะเกือบเท่ากับ 3,100 เมกะวัตต์ หรือ เพิ่มขึ้น 35% จากปัจจุบัน เรียกว่า โตแบบเอกซ์โปแนนเชียล ซึ่งหากอุปทานไฟฟ้าไล่ไม่ทัน (โรงไฟฟ้าใหม่ขึ้นไม่ได้ หรือต่างชาติไม่ขายไฟเพิ่ม หรือ ฯลฯ) ก็จะเกิดการขาดแคลนที่แท้จริง

ในมุมมองระดับมหภาค นี่คือความล้มเหลวของกระทรวงพลังงานและรัฐบาล ที่ปล่อยให้ความมั่นคงทางพลังงานเสียหายรุนแรง แต่ในมุมมองระดับจุลภาค นี่คือโอกาสของการลงทุน เพราะอุปสงค์ที่สูง ย่อมหมายถึงกำไรที่รออยู่ 

เหตุผลเพราะหากกฟผ.ขึ้นโครงการไม่ได้ตามแผน รัฐบาลจะเลือกไม่มีทางอื่น นอกจากยินยอมเปิดให้ใบอนุญาตรับซื้อไฟจากเอกชนหรือ PPA เพื่อให้เอกชนทำการก่อสร้างมาขายไฟให้กับ กฟผ.แทน ซึ่งในทางปฏิบัติ ยากจะมีเอกชนรายใดที่สามารถลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 1,000 เมกะวัตต์ได้ จะทำได้แต่ขนาดกลางหรือเล็กเท่านั้น ซึ่งไล่ไม่ทันอุปสงค์

กำไรจากการขาดแคลนไฟฟ้าในภาคใต้ จะทำให้ปฏิบัติการ “หาปลายามพายุ” จากกลุ่มทุนผลิตไฟฟ้าที่สามารถทำกำไรเกินคุ้มจากการสยบยอมของรัฐบาล นั่นหมายถึงโอกาสทองของรายได้ ผลกำไร และราคาหุ้น สำหรับทุนเอกชนผลิตไฟฟ้าในเขตภาคใต้ จะสูงอย่างยิ่ง

2 ทางเลือกนี้ เป็นไปได้ทั้งสิ้น ไม่มีทางเลือกสายที่สาม

เรื่องนี้ ทั้งรัฐบาลที่อ้างความมั่นคงทางพลังงานในอนาคต ด้วยเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าพลังไอน้ำจากเชื้อเพลิงถ่านหินชนิด Ultra-Supercritical (USC) ซึ่งเป็นการเพิ่มแรงดันและอุณหภูมิเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพที่ดีที่สุดยามนี้เท่าที่คิดค้นได้ และกลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มักจะ “ตกแต่ง” ข้อมูลให้น่าชวนเชื่อ และไม่ครบถ้วน ต่างไม่พยายามพูดถึง โดยไม่รู้สาเหตุ

ในขณะที่ กลุ่มทุนเอกชนที่จะได้หรือเสียจากทางเลือกใดๆ ของการที่รัฐต้องเลือก ก็ยังคงใช้ความเงียบเป็นเครื่องมือ เพื่อรอให้นโยบายหรือแผนพลังงานได้ผ่านกระบวนการถกเถียงและนำเสนอจนได้ข้อสรุปที่ชัดเจนเสียก่อน

คำถามคือ ตามรูปการแล้ว กว่าจะได้ข้อสรุปหรือฉันทามติ หุ้นบริษัทเอกชนน่าจะหมดสภาพ “หุ้นแห่งอนาคต” หรืออย่างไร 

ตอนนี้ และอนาคตอันใกล้ อย่าได้หวังเลยว่า จะมีคำตอบชัดเจน 

Back to top button