ทำความรู้จัก Auto Pause หยุดซื้อขายอัตโนมัติรายหลักทรัพย์

วันนี้ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” จะพาไปทำความรู้จักกับมาตรการหยุดการซื้อขายโดยอัตโนมัติ (Auto Pause) รายหลักทรัพย์


เส้นทางนักลงทุน

วันนี้ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” จะพาไปทำความรู้จักกับมาตรการหยุดการซื้อขายโดยอัตโนมัติ (Auto Pause) รายหลักทรัพย์ เนื่องจากตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จะนำมาตรการดังกล่าวออกมาบังคับใช้อย่างเป็นทางการ

Auto Pause รายหลักทรัพย์ เป็นหนึ่งในมาตรการเพื่อยกระดับการกำกับดูแลและเพิ่มความเชื่อมั่นแก่ผู้ลงทุนในการซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ดำเนินการตามแผนที่กำหนดไว้โดยได้ทยอยดำเนินการไปแล้วในปี 2567 เช่น มาตรการกำกับดูแลการขายชอร์ต, มาตรการกำกับดูแล Program Trading, มาตรการป้องปรามการกระทำอันไม่เป็นธรรม

สำหรับมาตรการ Auto Pause รายหลักทรัพย์ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์และผู้ลงทุนมีเวลาในการตรวจสอบและจัดการคำสั่งซื้อหรือคำสั่งขาย ด้วยการขึ้นเครื่องหมาย Pause (P) กับหลักทรัพย์ที่มีคำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายที่สูงกว่าปกติ ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการจับคู่การซื้อขายที่ผิดปกติ และลดความเสี่ยงให้แก่ผู้ลงทุน

ทั้งนี้ สามารถสรุปแนวทางการใช้มาตรการ Auto Pause ได้ดังนี้

ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะใช้มาตรการ Auto Pause รายหลักทรัพย์ เพื่อหยุดการซื้อขายโดยอัตโนมัติเป็นเวลา 60 นาที เมื่อพบว่าหลักทรัพย์ใดมีจำนวนรวมของปริมาณคำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายของหลักทรัพย์ในทุกระดับราคามากกว่า 15% ของจำนวนหลักทรัพย์จดทะเบียนนั้น ด้วยการขึ้นเครื่องหมาย Pause (P) เป็นเวลา 40 นาที และ Pre-Open เป็นเวลา 20 นาที ก่อนกลับเข้าสู่การจับคู่ซื้อขายตามปกติ

การใช้มาตรการ Auto Pause จะใช้ไม่เกิน 1 ครั้ง/วัน/หลักทรัพย์ โดยจะใช้กับหุ้นสามัญ, REIT, Property Fund และ Infrastructure Fund ซึ่งเมื่อหลักทรัพย์ใดถูก Auto Pause แล้ว จะมีผลให้หลักทรัพย์อื่นที่ใช้หลักทรัพย์ดังกล่าวเป็นสินทรัพย์อ้างอิง เช่น Warrant, DW, Single Stock Futures เป็นต้น ถูกหยุดการซื้อขายด้วย

ทั้งนี้ ยกเว้นไม่ใช้มาตรการ Auto Pause กับหลักทรัพย์ที่มีเหตุที่อาจทำให้มีปริมาณการซื้อขายสูงกว่าปกติ เช่น หลักทรัพย์ที่เริ่มซื้อขายในวันแรก (New Listing) หลักทรัพย์ที่เปิดให้ซื้อขายชั่วคราวก่อนถูก SP เป็นเวลานานหรือก่อนถูกเพิกถอน เป็นต้น ในระหว่างการขึ้นเครื่องหมาย P ผู้ลงทุนยังคงสามารถแก้ไขหรือยกเลิกคำสั่งซื้อขายได้

ก่อนที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการให้มาตรการ Auto Pause รายหลักทรัพย์ เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2568 เป็นต้นไปดังกล่าว ได้มีการส่งหนังสือเวียนเพื่อรับฟังความคิดเห็นกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

โดยระบุว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้กำหนดให้มีมาตรการห้ามการซื้อขายหลักทรัพย์ใดหลักทรัพย์หนึ่งเป็นการชั่วคราวโดยอัตโนมัติ (Auto Pause) เป็นรายหลักทรัพย์ ในกรณีที่พบว่ามีจำนวนรวมของปริมาณคำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายของหลักทรัพย์ใดมากเกินกว่าอัตราที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนด เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์และผู้ลงทุนได้มีเวลาในการตรวจสอบและจัดการคำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายที่มีความผิดปกติดังกล่าว ซึ่งจะเป็นการช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการจับคู่การซื้อขายที่ผิดปกติอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมโดยรวม

ลักษณะการทำงานคือ เมื่อพบว่าหลักทรัพย์ที่ Monitor หลักทรัพย์ใดหลักทรัพย์หนึ่งมีจำนวนรวม (ปริมาณหุ้นรวม หรือ Total Quantity) ของคำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายของหลักทรัพย์นั้น ในทุกระดับราคารวมกันมากกว่า 15% ของจำนวนหลักทรัพย์จดทะเบียนนั้น (คำนวณเฉพาะการซื้อขายด้วยวิธีการซื้อขายแบบจับคู่อัตโนมัติ หรือ Automated Order Matching : AOM)

ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะดำเนินการดังนี้ 1.ห้ามการซื้อขายหลักทรัพย์นั้นโดยอัตโนมัติ (รวมทั้ง Odd lot และ Foreign) และหลักทรัพย์ที่ใช้หลักทรัพย์ดังกล่าวเป็นสินทรัพย์อ้างอิง เป็นเวลา 60 นาที โดยการขึ้นเครื่องหมาย Pause (P) 40 นาที และเข้าสู่ Pre-Open 20 นาที ก่อนกลับเข้าสู่การจับคู่ซื้อขายตามปกติ 2.ในระหว่างที่หลักทรัพย์ขึ้นเครื่องหมาย P ผู้ลงทุนยังคงสามารถแก้ไข หรือยกเลิกคำสั่งซื้อขายของตนได้

ส่วนการยกเว้นการใช้ Auto Pause ได้ระบุว่า กรณีมีเหตุอื่นใดที่อาจทำให้ปริมาณการเสนอซื้อหรือการเสนอขายของหลักทรัพย์จดทะเบียนใดหลักทรัพย์หนึ่ง เกินกว่าอัตราที่กำหนด และตลาดหลักทรัพย์ฯ พิจารณาแล้วเห็นว่าเหตุที่ทำให้ปริมาณการเสนอซื้อหรือการเสนอขายของหลักทรัพย์จดทะเบียนนั้นไม่ขัดต่อสภาพปกติของตลาดตามแนวทางที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนด เช่น หลักทรัพย์ใหม่ที่เริ่มซื้อขายในวันแรก (New Listing) หรือหลักทรัพย์ที่เปิดให้ทำการซื้อขายเป็นการชั่วคราว (ก่อนถูกห้ามซื้อขายเป็นการชั่วคราว (SP) เป็นระยะเวลานาน/ก่อนถูกเพิกถอนจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน) เป็นต้น

ทั้งนี้ หากการหยุดการซื้อขายจาก Auto Pause ทำให้เหลือช่วงเวลาทำการซื้อขายไม่เกินกว่า 60 นาที ระบบการซื้อขายจะหยุดซื้อขายตามเวลาที่เหลือใน Session นั้น โดยไม่มี Pre-Open Session อย่างไรก็ตามกำหนดให้ 1 หลักทรัพย์ Trigger Auto Pause ได้ไม่เกินวันละ 1 ครั้ง

มาตรการหยุดการซื้อขายโดยอัตโนมัติ หรือ Auto Pause รายหลักทรัพย์ ถือเป็นมาตรการใหม่ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป ดังนั้นนักลงทุนจึงควรทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้

Back to top button