NOK เจ็บวันนี้ ดีวันหน้า?

ปี 2559 เป็นปีแห่งความเลวร้ายสุดๆ ที่ผู้บริหารของบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK อยากจะลืม เพราะเป็นยิ่งกว่าฝันร้ายธรรมดา


แฉทุกวันทันเกมหุ้น

 

ปี 2559 เป็นปีแห่งความเลวร้ายสุดๆ ที่ผู้บริหารของบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK อยากจะลืม เพราะเป็นยิ่งกว่าฝันร้ายธรรมดา

เริ่มต้นปีด้วยปัญหานักบินขาดแคลนและพากันนัด “หยุดงาน” อย่างจงใจ (ไม่ผิดระเบียบ) โดยอาศัยสถานการณ์ขาดแคลนนักบินทั่วเอเชียเป็นต้นเหตุ

ผลพวงของการแก้ปัญหาชนิดเกาไม่ถูกที่คันของผู้บริหารลุกลามเป็นปัญหาการให้บริการที่เที่ยวบินล่าช้าจนเป็นภาพลักษณ์เลวร้าย และเป็นต้นธารของการขาดทุนจากการลดเที่ยวบินลง ทำให้รายได้ลด จนขาดทุนบักโกรกมากที่สุดเป็นประวัติการณ์มากถึง 3,269 ล้านบาท แต่บันทึกเฉพาะในส่วนของบริษัทแม่เพียงแค่ 2,795.09 ล้านบาท

ผลลัพธ์ของการขาดทุนหนักสุดนับแต่เข้าจดทะเบียนในตลาด ทำให้ส่วนผู้ถือหุ้นสิ้นงวดปี 2559 เหลือเพียงแค่ 238.92 ล้านบาท ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปเพื่อทำธุรกิจได้ หากไม่มีการเพิ่มทุน เพราะเทียบกับหนี้สินรวมที่มากถึง 6,340.58 ล้านบาท จะมีสัดส่วนดี/อีมากถึง 28 เท่า

โอ้….พระเจ้า จอร์จ … ให้ตายเถอะ คุณพี่พาที สารสิน … ทำอะไรถึงมาถึงจุดนี้ได้

เพียงแต่ ข้อเท็จจริงเลวร้ายที่เกิดขึ้นกับฐานะทางการเงินของ NOK เป็นประเด็นที่ไม่ใช่ทางตัน เพราะทางออกยังมีที่บ่งชี้ว่า บริษัทนี้ ยังมีอนาคตแจ่มใส และยุทธศาสตร์ธุรกิจมาถูกทางพอสมควร แม้ว่าตัวเลขขาดทุนจะมาก เป็นประเด็นปัญหาชั่วคราว ที่เกิดจากการแข่งขันที่รุนแรง…. ซึ่งเกิดขึ้นได้

ธุรกิจมีขาขึ้น และขาลง ความผิดพลาด จนทำให้ขาดทุนมหาศาล เป็นปัจจัยที่เกิดขึ้นได้

ที่บอกว่ามีอนาคตคือ การหันเหเป้าหมายการแข่งขันไปสู่เวทีสายการบินระหว่างประเทศ ของบริษัทย่อย  บริษัท สายการบินนกสกู๊ต จำกัด ซึ่งถือเป็น “สตาร์” ในทางการตลาด ที่นับวันจะ “โตวันโตคืน” ชัดเจนกับตลาดจีน

ผลงานของสายการบินนกสกู๊ต ตลอดปี 2559 พบว่า บริการเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำจากประเทศไทยไปยังจีน เพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นตลอดทั้งปี จาก 473 เที่ยวบินไป-กลับในปี 2558 เป็น 636 เที่ยวบิน ไป-กลับ เพิ่มมากถึง 34.46% แม้ว่าช่วงหนึ่งจะได้รับผลกระทบระยะสั้นในไตรมาส 4 จากมาตรการปราบปรามทัวร์จีน จนถูกผู้เช่าเหมาลำขอลดเที่ยวบินลงมาก

ปี 2559 นกสกู๊ต ถือว่าเดินทางถูกทางแล้ว เป็นข่าวดียิ่ง แม้จะมีตัวเลขขาดทุนสุทธิ 612 ล้านบาท แต่ก็ถือว่าลดลงจากปี 2558 ที่มีผลขาดทุน 1,223.33 ล้านบาท โดยมีรายได้รวมที่ 3,905.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 952.93 ล้านบาท เนื่องจากมีการให้บริการเที่ยวบินไปยังประเทศจีนได้มากขึ้นเต็มปี

แถมล่าสุด ผู้บริหารของ นกสกู๊ต ยังแสดงความมั่นใจเพิ่มว่า ปี 2560 นี้ ได้ตั้งเป้ารายได้ที่ 5,787 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2559 ที่มีรายได้ 3,895 ล้านบาท หรือ เติบโต 48% โดยจำนวนผู้โดยสารปีนี้ ตั้งเป้าเพิ่มมาเป็น 1,070,000 คน เพิ่มขึ้นราว 20% จากปีก่อนที่มีจำนวน 800,000 คน ส่วนอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (cabin factor) ปีนี้ตั้งเป้าที่ 81% จากปีก่อนอยู่ที่ 80% โดยที่ลูกค้าหลัก ยังมีสัดส่วนผู้โดยสารจีนมากกว่า 90% แต่ก็ยังคาดว่า สายการบินนกสกู๊ตยังขาดทุน 170 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่ขาดทุน 612 ล้านบาท เนื่องจากยังมีความเสี่ยงเรื่องราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งคาดราคาน้ำมันเบรนต์เฉลี่ย 70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

ไม่เพียงเท่านั้น นกสกู๊ต ยังคาดเดาว่า เป้ารายได้ในปี 2561 จะยังโดดเด่นทะยานเป็นขาขึ้นต่ออีก จากการรับมอบเครื่องบินโบอิ้ง 777-200 อีก 2 ลำ เพื่อรองรับเส้นทางญี่ปุ่น (นาริตะ และโอซาก้า) และเกาหลี (โซล) ตามแผนเดิม โดยตั้งเป้ารายได้เพิ่มเป็น 9,714 ล้านบาท ซึ่งหากทำได้ตามเป้า จะช่วยทำให้กลับมามีกำไรได้

เมื่อลูกกลับมาทำกำไรได้ และแม่อย่าง NOK ก็แก้ปัญหาภายในได้ อนาคตก็ไม่หนีหายไปไหนไกล

แสงสว่างปากอุโมงค์อย่างนี้ ใครบอกว่า NOK ไร้อนาคต หรือกลายเป็น “นกปีกหัก” ก็ถือว่ามีมุมมองโลกทางร้ายแบบสุดลิ่มทิ่มประตูเกินไป

นกที่ปีกหัก ย่อมบินไม่ได้… คาริล ยิบราน บอกเอาไว้เช่นนั้น

อย่างน้อยที่สุด ถ้ามองในเชิงบวก เรื่องภาพลักษณ์เลวร้ายของเที่ยวบินที่ดีเลย์ซ้ำซาก ก็บรรเทาไปเยอะ และบริการบนเครื่องของ “สาวนก” ทั้งหลาย ก็ยังแจ่มแจ๋วต่อไป …. ไม่หน้าง้ำงอหรืองกสุดๆ แบบสายการบินโลว์คอสต์บางสายที่ระยะหลังติดนิสัยผู้บริหารขี้เต๊ะกันเป็นแถบ

การเพิ่มทุนก่อนส่วนผู้ถือหุ้นติดลบของ NOK จึงเป็น “ปัญหาเทคนิคการเงินเฉพาะหน้า” ที่ยืดอนาคตให้หวนย้อนกลับมาโฉบเฉี่ยวในอนาคตอีกครั้ง

ถือเป็น “ยกเครื่องการเงินแก้สภาพคล่อง” ที่ไม่ต้องรอให้คนบอก เพราะนกตัวนี้ แค่ป่วยต้องเข้าไอซียูชั่วคราวเท่านั้น

มติของคณะกรรมการบริษัท NOK ที่ให้เพิ่มทุนจดทะเบียนใหม่ 125% เป็น 1.41 พันล้านบาท จากเดิม 625 ล้านบาท โดยออกหุ้นใหม่ 781.25 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 1 บาท จึงเป็นทางเลือกที่จำเป็นตามสูตร “การเกิดต้องเจ็บปวด” ธรรมดา

หุ้นเพิ่มทุนดังกล่าว แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนไม่เกิน 625 ล้านหุ้น เสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมในอัตราส่วน 1 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ที่ราคาหุ้นละ 2.40 บาท กำหนดจองซื้อระหว่างวันที่ 16-19 พ.ค.และ 22 พ.ค.60

หุ้นเพิ่มทุนจำนวนมาก แถมราคาขายถูกและต่ำกว่าราคาตลาดขนาดนี้ ไม่แปลกที่ราคาหุ้น NOK ในกระดานจะถูกทิ้งแรงชนิดหูรูดพังทลาย

ส่วนที่จัดสรรหุ้นเพิ่มทุนไม่เกิน 156.25 ล้านหุ้น รองรับการใช้สิทธิแปลงสภาพของใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ (วอร์แรนต์) NOK-W1 ที่บริษัทจะออกวอร์แรนต์ไม่เกิน 156.25 ล้านหน่วย อายุ 3 ปี ที่จะจัดสรรให้ฟรีแก่ผู้ถือหุ้นเดิมที่จองซื้อหุ้นเพิ่มทุน ในอัตราส่วน 4 หุ้นเพิ่มทุนใหม่ต่อ 1 วอร์แรนต์ โดยมีอัตราการใช้สิทธิ 1 วอร์แรนต์ต่อ 1 หุ้นใหม่ที่ราคาหุ้นละ 5.00 บาท

วอร์แรนต์ที่ออกมานี้ มีเจตนาปลอบขวัญและจูงใจคนถือหุ้น NOK ให้ช่วยกันกลับมาซื้อหุ้นเพิ่มทุน โดยให้ความหวังว่า อนาคตหุ้นแม่อย่าง NOK ในอีก 3 ปีข้างหน้า จะต้องสูงกว่าราคาแปลงสิทธิ 5.00 บาท

ถ้าประเมินเบื้องต้น ราคาหุ้นเพิ่มทุน 625 ล้านหุ้นที่ 2.40 บาท…..ที่ถือว่าถูกมากๆ แต่ก็ยังมีพรีเมียมเหนือพาร์…. จะทำให้มีเงินสดเข้ามาประมาณ 1,500 ล้านบาท (ไม่หักค่าใช้จ่ายอื่น) และทำให้ส่วนผู้ถือหุ้นกลับมาอยู่แถวๆ ระดับ 1,700 ล้านบาท       ส่วนผู้ถือหุ้นระดับนี้ นอกจากจะทำให้ค่า ดี/อี ของ NOK ลดฮวบลง มาอยู่ที่ระดับ 3.7 เท่า ปลอดภัยไร้กังวล เพราะดูเหมือนว่า ทาง NOK เองก็จะต้องก่อหนี้เพิ่มอีกนิดหน่อย เนื่องจากคณะกรรมการระบุในการเพิ่มทุนว่า  “คาดว่าจะมีความต้องการใช้เงินประมาณ 2.28 พันล้านบาท และแผนการเพิ่มทุนในครั้งนี้จะเพียงพอกับแผนการใช้เงินดังกล่าว…”

คำถามที่ท้าทายนักลงทุนคือ จะเชื่อมั่นเหตุผลของคณะกรรมการ NOK ที่อ้างว่า “เพิ่มทุนครั้งนี้ เพื่อใช้เป็นเงินทุนในการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และในการขยายเส้นทางการบิน ” หรือไม่

ถ้าเชื่อมั่น การเพิ่มทุนเพื่อพานกพ้นขึ้นจากปากขอบเหว โดยที่ยอมรับกับข้อเท็จจริงว่า ใน 2-3 ปีข้างหน้า NOK จะไม่มีการปันผล เพราะยังล้างขาดทุนสะสมไม่หมด … ก็คงผ่านฉลุย ไร้กังวล

เว้นเสียแต่มีเรื่องเลวร้ายเกินคาดเข้ามาแทรกเท่านั้น

และ/หรือ มีเหตุให้ต้องเพิ่มทุนรอบใหม่ซ้ำซากในอนาคตอันใกล้

Up, Up, and Away!!!!

Back to top button