ตาบอดคลำดอลลาร์

คำอธิบายว่าด้วยการอ่อนค่าของดอลลาร์ในตลาดเงิน และดัชนีดอลลาร์ ที่ดูจะสวนทางกับโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดฯ ในยามนี้ ล้วนเป็นคำอธิบายที่มีลักษณะ"ตาบอดคลำช้าง" ทั้งสิ้น


พลวัต 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

 

คำอธิบายว่าด้วยการอ่อนค่าของดอลลาร์ในตลาดเงิน และดัชนีดอลลาร์ ที่ดูจะสวนทางกับโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดฯ ในยามนี้ ล้วนเป็นคำอธิบายที่มีลักษณะ”ตาบอดคลำช้าง” ทั้งสิ้น

ปรากฏการณ์อ่อนค่าของดอลลาร์ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ครั้งนี้ สาเหตุและปัจจัยขับเคลื่อนค่อนข้างทำให้มึนงงกันพอสมควร

การเคลื่อนตัวของดัชนีค่าดอลลาร์นับแต่เดือนพฤศจิกายน2559 นับว่าน่าสนใจอย่างมาก ก่อนรู้ผลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ  ดัชนีค่าดอลลาร์อยู่ที่ระดับ 1,200 จุด แต่พุ่งขึ้นรวดเร็วจนถึงต้นเดือนมกราคมที่จุดสูงสุดเกือบ 1,290 จุด แล้วค่อยถดถอยลงมาต่อเนื่อง จนล่าสุดวันศุกร์ที่ผ่านมา ดัชนีลงมาที่ระดับ 1,200 จุดอีกครั้ง

หากไม่ใส่ใจกับคำอธิบายต่างๆ รอบตัว แล้วพิเคราะห์ความหมายและสาเหตุของการเหวี่ยงขึ้นสูงแล้วอ่อนค่าที่เดิมครั้งนี้ จะพบว่า มีตัวแปรที่เกี่ยวข้องอยู่กับค่าดอลลาร์แค่ 2 รายการหลักเท่านั้นคือ 1) ตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีนี้ และต่อไป 2) ตัวเลขฟันด์โฟลว์ของกองทุนเก็งกำไรทั่วโลก

แล้วทั้ง 2 รายการหลักดังกล่าวก็หนีไม่พ้นโยงเข้ากับดอกเบี้ยของเฟดฯชนิดแยกไม่ออก

การย้อนกลับไปดูทิศทางดอกเบี้ยเฟดฯ จึงมีความหมายที่บ่งชี้อนาคตค่าดอลลาร์

นับแต่เดือนพฤศจิกายนปีก่อนมี 2 เหตุการณ์ประจวบเหมาะที่ทำให้เฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คือ ดัชนีเศรษฐกิจที่บ่งบอกว่าแข็งแกร่งขึ้นชัดเจนเข้าสู่ช่วงเวลาดอกเบี้ยผงกตัวขึ้นจากฐานต่ำหรือ Reflation Era และนโยบายเศรษฐกิจที่หาเสียงเอาไว้ของ โดนัลด์ ทรัมป์ โดยมีทีมงานของ โกลด์แมน แซคส์อยู่เบื้องหลัง ที่ทำให้ตลาดเงินเชื่อมั่นว่าทีมงานของโดนัลด์ ทรัมป์กำลังปัดฝุ่นนำกฎหมายเก่าแก่ Glass-Steagall Act ที่ถูกยกเลิกในปี1999 โดยกฎหมาย Gramm-Leach-Bliley Act (GLB Act or GLBA) ที่เป็นต้นเหตุของวิกฤตซัพไพรม์ใน ปี 2008 (และแทนที่ด้วยกฎหมายปัจจุบันที่เข้มงวดมากเกิน Dodd-Frank ACT 2012) มาใช้อีกครั้งในรูปโฉมใหม่ สร้างความคึกคักให้กับตลาดธนาคารอย่างมาก

ช่วงเวลาเดียวกัน ยังมีปัจจัยเสริมว่า ธนาคารกลางยุโรปได้ตัดสินใจคงดอกเบี้ยต่ำที่เดิม และคงวงเงิน QE ที่เดิมเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะลดลงในเดือนหน้า ที่ส่งสัญญาณบวกว่าเศรษฐกิจยูโรโซนเริ่มพ้นจุดต่ำสุดแล้ว

สถานการณ์ใหม่ที่ส่งสัญญาณชัดเจน ทำให้ดัชนีค่าดอลลาร์พุ่งสูงขึ้น จนกระทั่งเริ่มมีความไม่ชัดเจนับตั้งแต่ก่อนทรัมป์จะเข้ารับตำแหน่งว่า เขาต้องการให้ค่าดอลลาร์อ่อน ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วคือการแสดงความไม่เห็นด้วยกับท่าทีปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดฯ

แม้โดนัลด์ ทรัมป์ จะสร้างประเด็นโดยเปิดเผยว่า ดอลลาร์ควรจะอ่อนลง แต่ในโลกของความจริง คนในวงการตลาดเงินและตลาดทุนย่อมรู้ดีว่า ทรัมป์ไม่ได้มีอำนาจโดยพฤตินัยและนิตินัยในการกำหนดอัตราดอกเบี้ย เพราะอำนาจเป็นของเฟดฯ ที่เป็นคนกอดกุมใจกลางของยุทธศาสตร์การเงินหลักของสหรัฐฯ ที่สร้างขึ้นมาโดยพรรครีพับลิกันในยุคริชาร์ด นิกสัน เมื่อปี ค.ศ. 1973 และใช้มาตลอดในฐานะสมการหลายชั้นที่เรียกกันว่า “เสาหลักโลกคือดอลลาร์” (Dollar Hegemony)

เฟดฯ ยืนยันท่าทีตลาดหลายเดือนมานี้ว่า การขึ้นดอกเบี้ย “อย่างค่อยเป็นค่อยไป” ต้องเกิดขึ้น โดยคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายปีนี้ 3-4 ครั้ง และก็ทำไปตามนั้นมาแล้ว 1 ครั้ง ในเดือนมีนาคม และคาดว่าในเดือนมิถุนายนนี้จะขึ้นอีกครั้ง 

โดยทั่วไป การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดฯ จะทำให้ค่าดอลลาร์แข็งขึ้น เพราะทุนจากชาติตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกจะหันมาถือดอลลาร์แทน เกิดฟันด์โฟลว์ไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นและค่าเงินสกุลท้องถิ่นรุนแรง

ปีนี้ สถานการณ์แตกต่างออกไป ถือเป็นกรณีผิดปกติ เพราะนับแต่เฟดขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเดือนมีนาคม ค่าดัชนีดอลลาร์ถดถอยลงอย่างรวดเร็ว

ผลลัพธ์ที่ตรงกันข้ามของการขึ้นดอกเบี้ยเฟด เพราะการที่ดอกเบี้ยเพิ่ม ดอลลาร์ร่วงไม่ใช่เรื่องที่ต้องวางเฉย เนื่องจากสะท้อนความผิดปกติของกลไกทุนนิยมโลกชัดเจน 

คำอธิบายต่างๆที่งัดขึ้นมาเพื่อหาทิศทางของความผิดปกติที่เกิดขึ้น ล้วนไม่ตรงจุดทั้งสิ้น เพราะหาความสมเหตุสมผลไม่ได้กับการแข็งแกร่งของจีดีพีสหรัฐฯ บวกการจ้างงานที่มากกว่าการว่างงานติดลบ ผสมกับค่าจ้างที่มีทิศทางขาขึ้น และการขึ้นดอกเบี้ย ที่ไปคนละทางกับดัชนีค่าดอลลาร์

บางทีคำอธิบายที่ใกล้เคียงสุด และเข้าท่าสุดน่าจะเป็นคำอธิบายที่มาจากนักค้าเงินตราข้ามสกุลที่ว่า การอ่อนค่าของดอลลาร์หลังกลางเดือนมีนาคมเป็นต้นมา เป็นการปรับค่าของตลาดตามปกติ หลังจากที่ราคาถูกไล่ขึ้นมามากเกิน 

น่าเสียดายที่คำอธิบายนี้ ไม่ได้บ่งออกอะไรเลยว่าปัจจัยที่ขับเคลื่อนค่าดอลลาร์ให้ถดถอยสวนดัชนีเศรษฐกิจอื่นที่เป็นมากกว่าแรงเก็งกำไรของตลาดค้าเงินตรา มีอะไรบ้าง

นักทฤษฎีสมคบคิด เสนอแนวทางที่ดูผิดประหลาดอย่างมากว่า การอ่อนค่าดอลลาร์ สะท้อนว่าตลาดวอลล์สตรีท กำลังแสดงความไม่ไว้วางใจโดยพฤตินัยต่ออำนาจของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ผ่านมา 5 เดือนเศษ ยังไม่สามารถเสนอแผนปฏิรูปนโยบายเศรษฐกิจอันน่าหวือหวาช่วงหาเสียงของเขาอย่างเป็นรูปธรรมได้เลย

แม้ว่าดอลลาร์จะอ่อนในยามนี้ สอดรับกับท่าทีของทรัมป์ แต่เนื่องจากไม่ได้เกิดจากฝีมือของทรัมป์ คำถามต่อไปที่ตลาดเก็งกำไรทั้งหลายอยากทราบกันคือ แล้วการอ่อนค่านี้จะดำเนินต่อไปอีกนานแค่ไหน

คำตอบแบบกำปั้นทุบดินยามนี้  (และดูเหมือนจะตอบได้แค่นี้) คือ การอ่อนค่าดอลลาร์ที่ผิดธรรมชาติ จะดำรงอยู่ไม่นานแน่นอน แต่จะเป็นช่วงไหน ตอบยากมาก แม้ไม่ยากเหมือนหวยใต้ดินในชาติด้อยพัฒนาบางประเทศที่มีการล็อกล่วงหน้า

Back to top button