คุณค่าบริษัท : HARN มาดีกว่าเดิม

หลายคนยังไม่คุ้นหูคุ้นตา กับบริษัท หาญ เอ็นจิเนียริ่ง โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ HARN เพราะมีการเปลี่ยนชื่อจากเดิมที่ชื่อไฟร์วิคเตอร์ (FIRE) ที่ประกอบธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายอุปกรณ์ดับเพลิงนั่นเอง


บริษัทมีการเพิ่มทุนซื้อกิจการ 234.50 ล้านบาท ที่ราคาหุ้นละ 2.62 บาท แลกหุ้นดังกล่าวกับ บจ.ชิลแมทช์ (CM)

ที่ประกอบธุรกิจจำหน่ายระบบควบคุมความเย็นและมีบริษัทลูก คือ บจ. คิว ทู เอส (QIIS) เป็นผลให้ผู้ถือหุ้นของ CM มาถือหุ้นใน HARN 40.1% ตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย. 59 ซึ่งเข้าข่ายการ Backdoor Listing เป็นผลให้บริษัทขยายขอบเขตการจำหน่ายไปเป็นสินค้าสู่ตลาดวิศวกรรมอาคาร โดยดูได้จากสัดส่วนรายได้ในงวดไตรมาส 1 ปี 60 ดังนี้ อุปกรณ์ดับเพลิง (46%) ระบบปรับอากาศ (8%) ระบบทำความเย็นสำหรับห้องเย็น (22%) และระบบพิมพ์ดิจิทัล โดยจัดจำหน่ายให้แก่ผู้รับเหมาและผู้ใช้งานตรงเป็นหลัก มีส่วนแบ่งตลาดในประเทศไทยติดอันดับ Top 3 ในหลายส่วนธุรกิจ

สำหรับการดีล Backdoor ของ HARN นับเป็นการเพิ่มทุนที่คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพอย่างมากล้น เนื่องด้วยจำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้น และมีการหนุนกำไรไตรมาส 1 ปี 60 ให้เติบโตโดดเด่น

โดยจำนวนหุ้นของ HARN เพิ่มขึ้นถึง 67% (จากเดิม 350 ล้านหุ้น เพิ่มขึ้น 234.5 ล้านหุ้น มาเป็น 584.50 ล้านหุ้น กอปรกับการเปลี่ยนแปลงของกำไรก่อนและหลัง Backdoor ในงวดครึ่งหลังของปี 59 ที่มีการทำงบการเงินเสมือน พบว่ากำไรที่เพิ่มสูงขึ้นมากมาหักล้าง Dilution Effect จนหมด กล่าวคือ คิดเป็นการเติบโตของ EPS ก่อน (FIRE อย่างเดียว 350 ล้านหุ้น) และหลัง (FIRE + CM + QIIS 584.5 ล้านหุ้น)

นอกจากนี้ ยังเป็นสาเหตุหลักต่อการเติบโตแบบ Inorganic ในไตรมาส 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2560 เติบโตโดดเด่น บริษัทมีรายได้รวมขยับขึ้นมาอยู่ที่ 297.84 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อน 166.88 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทมีกำไรขยับขึ้นมาอยู่ที่ 26.11 ล้านบาท หรือ 0.04 บาทต่อหุ้น จากงวดเดียวกันของปีก่อน 13.43 ล้านบาท หรือ 0.04 บาทต่อหุ้น

ทั้งนี้ทำให้นักวิเคราะห์มองว่ากำไรช่วงที่เหลือของปี 60 คาดจะเติบโตแบบ Inorganic growth ต่อไป โดยคาดกำไรทั้งปี 60 เติบโต 159% จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยที่ธุรกิจของ CM ที่เพิ่มเข้ามานอกจากจะมีขนาดรายได้ที่ใกล้เคียงกับ FIRE (ธุรกิจเดิม) หนุนการเติบโตอย่างต่ำเท่าตัว ยังมีอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงกว่าเดิมมากที่ 31% (งวดไตรมาส 1 ปี 60) เทียบกับ ธุรกิจเดิมที่ 24%

นอกจากนี้ Backlog ปัจจุบันของทั้งธุรกิจขายและบริการมีมูลค่ารวมสูงถึง 400 ล้านบาท ซึ่งพร้อมรับรู้ในปีนี้แล้ว 80% และผู้บริหารยังมีกลยุทธ์ในการลดต้นทุนด้วยการใช้ Facility ร่วมกัน เพราะเดิมเป็นบริษัทเดียวกันมาก่อน รวมถึงการได้ประโยชน์ Synergy จากการรวมกลุ่มสินค้าที่มีกลุ่มลูกค้าทับซ้อนกัน (เรียกรวมว่า วิศวกรรมอาคาร) ทำให้เกิดการเพิ่มยอดขายแบบ Cross-Selling ตลอดจนการเพิ่มสินค้าใหม่ๆ อาทิ กล้องตรวจจับควันไฟ

ขณะเดียวกันการเติบโตของ HARN นับจากนี้ น่าสนใจติดตามการขยายธุรกิจสู่ประเทศข้างเคียง ที่ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการทดลองตลาดทั้งตัวแทนจำหน่ายเครื่องพิมพ์ดิจิทัลในเมียนม่า และกัมพูชา ซึ่งเชื่อว่ามีโอกาสพัฒนาไปเป็นทั้งการถือหุ้นในพันธมิตรทางธุรกิจ และการตั้งสาขาย่อยหากแนวโน้มสดใส สำหรับในประเทศไทยยังมีโอกาสจากการพัฒนาไปเป็นผู้จำหน่ายสินค้าในกลุ่มวิศวกรรมอาคารครบวงจรด้วยการเพิ่มสินค้าในกลุ่มระบบไฟฟ้า

สิ่งสำคัญปัจจุบันโครงสร้างการเงินของบริษัทมี D/E ratio ต่ำเพียง 0.23 เท่า และปราศจากหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย ล่าสุดบริษัทอยู่ในระหว่างมองหาพื้นที่เพื่อก่อสร้างโกดังสินค้าเป็นของตัวเองทดแทนคลังสินค้าที่เป็นสัญญาเช่าด้วยงบลงทุนราว 200 ล้านบาท เพื่อเพิ่มศักยภาพในการบริหารคลังสินค้าและคาดว่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายธุรกิจในอนาคตได้

ดังนั้นทาง บล. โกลเบล็ก  แนะนำ “ซื้อ” ราคาเหมาะสม 4.00 บาท มาพร้อมเงินปันผล 4.3%

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่

  1. นายวิรัฐ สุขชัย 86,905,308 หุ้น 14.87%
  2. NICE NOBLE LIMITED 73,316,475 หุ้น 12.54%
  3. นายเจน ชาญณรงค์ 66,484,220 หุ้น 11.37%
  4. นางสิริมา เอี่ยมสกุลรัตน์ 63,845,441 หุ้น 10.92%
  5. น.ส.นพพร ชาญณรงค์ 28,803,144 หุ้น 4.93%

รายชื่อกรรมการ

  1. นายถกล นันธิราภากร ประธานกรรมการบริษัท
  2. นายถกล นันธิราภากร กรรมการอิสระ
  3. นายถกล นันธิราภากร ประธานกรรมการตรวจสอบ
  4. นางสิริมา เอี่ยมสกุลรัตน์ ประธานกรรมการบริหาร 5.นางสิริมา เอี่ยมสกุลรัตน์ กรรมการ

Back to top button