อนาคตบนเส้นลวดของสื่อไทย

ปรากฏการณ์ปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อความอยู่รอดหรือ survival game ของธุรกิจสื่อทุกชนิดของไทย เนื่องจากเผชิญกับกระแสสูงของการเปลี่ยนเทคโนโลยีรุนแรงกะทันหันจนตั้งตัวแทบไม่ทัน


พลวัตปี 2017 :วิษณุ โชลิตกุล

ปรากฏการณ์ปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อความอยู่รอดหรือ survival game ของธุรกิจสื่อทุกชนิดของไทย เนื่องจากเผชิญกับกระแสสูงของการเปลี่ยนเทคโนโลยีรุนแรงกะทันหันจนตั้งตัวแทบไม่ทัน

ปรากฏการณ์เช่นนี้ ปัจจุบันมีคำอธิบายว่าเป็น disruptive innovation ซึ่งนักทฤษฎีอย่าง เคลย์ตัน คริสเตนเซ่น นำเสนอ แต่นี่ก็ไม่ใช่ของใหม่ เพราะในอดีต นักคิดทุนนิยมยุคหลังมาร์กซ อย่าง โจเซฟ ชุมปีเตอร์ ก็เคยนำเสนอภาพกว้างของ การทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์ หรือ creative destruction มาแล้ว

หากพิจารณาปรากฏการณ์ของประวัติศาสตร์ธุรกิจ สถานการณ์ที่ธุรกิจสื่อไทยกำลังเผชิญยามนี้ มีลักษณะคล้ายคลึงสถานการณ์ที่โธมัส คุห์น นักประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์เรียกว่า การเปลี่ยนกระบวนทัศน์หรือ paradigm shift นั่นเอง

ทั้งสามแนวคิดต่างสมัยข้างต้น ถือเป็น “มองต่างมุม” ที่ให้ภาพชัดเจนว่า แม้จะมีความยากลำบากในเฉพาะหน้า แต่โลกจะไม่ล่มสลายไปทั้งหมด เพราะนี่คือระยะเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยที่รุนแรงกว่าธรรมดา ทำนองเดียวกับยุคสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19 ของยุโรปอันเต็มไปด้วยเรื่องราวสารพัด

เพียงแต่บนเส้นทางของการเปลี่ยนผ่านนี้ คงเลี่ยงไม่พ้นที่จะเกิดปรากฏการณ์ล่มสลายของอาณาจักรย่อยจำนวนหนึ่งหรือเกือบทั้งหมด ที่ตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์เพราะพ่อมดและแม่มดที่เคยยิ่งใหญ่เสื่อมมนต์ขลังกะทันหัน

การถดถอยรุนแรงของธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ และวิทยุ พร้อมกับความเฟื่องฟูของสื่อออนไลน์ และอุปกรณ์พกพาสารพัด ที่ส่งผลสะเทือนไปถึงกระบวนการยุติธรรมลึกซึ้ง (สาระของคำฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาทในสื่อ ที่อ้างถึงข้อบังคับของมาตราต่างๆ ใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์หรือไอทีของนักกฎหมายร่วมสมัยทั่วโลก กลายเป็นทิศทางหลักที่พ่วงต่อเข้ามาอย่างแยบยล) ก็สะท้อนการเปลี่ยนผ่านที่มีนัยสำคัญอย่างยิ่ง อย่างน้อยก็บอกว่าจะไม่มีการหวนกลับไปเหมือนเดิมอีกครั้ง

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับธุรกิจสื่อยามนี้ อาจจะทำให้ทฤษฎีสื่อของมาร์แชล แม็กลูฮัน ที่เคยโด่งดังเมื่อ 5 ทศวรรษก่อน ไม่เพียงแต่ได้รับการยืนยันอย่างแม่นยำเท่านั้น หากยังมีโอกาสทำให้ข้อเสนอในประโยคอมตะ the media is message” ถูกเบียดขับให้พ้นยุคไปได้ง่ายมาก เสมือนธรรมะของปรัชญาปรมิตาสูตรของพุทธมหายานที่เคยบอกว่า “เมื่อบรรลุธรรมะแล้ว ธรรมะก็กลายเป็นมายา”

แม็กลูฮัน บอกว่า ในการพิจารณาอิทธิพลของสื่อต่อชีวิตจิตใจ พฤติกรรม และผลกระทบทางสังคม จะต้องไม่มองเพียงแค่ “เนื้อหา” เท่านั้น แต่ต้องดูองค์ประกอบของความสัมพันธ์ของรูปแบบ (ภาพนิ่ง หรือเคลื่อนไหว ตัวอักษร เสียง ท่าทาง) ช่องทาง (แพลตฟอร์ม) ภาษา วัฒนธรรมของการบริโภคของผู้รับ เทคโนโลยี และผลประโยชน์ที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งเรียกรวมๆ กันว่า วิถีของการสื่อความ หรือ modes of communication

ความคุ้นเคยกันมายาวนานของสื่อทางจารีต 3 ช่องทาง คือ สิ่งพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ (ที่ในอดีตหากมีการรัฐประหารครั้งใดไม่ว่าประเทศไหน ก็จะควบคุม 3 สื่อนี้เข้มงวด) ถูกท้าทายรุนแรงเมื่อมีสื่อออนไลน์เกิดขึ้นจนต้องหาทางควบคุมด้วยเครื่องมือใหม่ๆ สะท้อนวิถีของการสื่อความที่เคลื่อนย้ายยุคสมัยได้ดี

การเปลี่ยนผ่านเช่นนี้ มีคนคาดเดา หรือชี้แนะกันมากมายล่วงหน้า ทำให้ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีการลองผิดลองถูกแบบ “ตาบอดคลำช้าง” กันมาตลอดเพื่อรับมือก่อนธุรกิจสื่อเดิมจะถูกอนาคตไล่ล่า

สื่อเมืองไทยด้านข่าวสารที่ดูโดดเด่นมากในช่วงดังกล่าวในการปรับกระบวนทัศน์มากกว่าใครอย่างค่าย เดอะเนชั่น รุกนำหน้ารายอื่นๆ เพื่อทำมัลติมีเดียหลายแพลตฟอร์ม แต่กลับพบว่าการทดลองส่วนใหญ่ ถ้าไม่ใช่ “เกิดก่อนกาล” ก็หลงทาง ทำนอง “เกิดเมื่อสายเกินไป” ทำให้ผลลัพธ์เป็นการลงทุนที่ล้มเหลว

ส่วนสื่อค่ายอื่นๆ เช่น สื่อบันเทิงอย่างค่ายแกรมมี่ซึ่งครั้งหนึ่งถูกถือว่ามีไม้คทาของ “กษัตริย์ไมดาส” แตะอะไรก็กำไรไปหมด ก็ถูกอนาคตไล่ล่า จนต้องหาทางปรับกระบวนท่าธุรกิจอุตลุดในช่วง 10 ปีมานี้ แต่ผลลัพธ์ก็ยังไม่พึงปรารถนา

การเข้าสู่ธุรกิจทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวี ทีวีดิจิทัล ออนไลน์ (เว็บพอร์ทัล หยุดเสียงรอสาย หรือ iKey) ขายสินค้าทางโทรทัศน์ หรือ จัดอีเว้นท์ ฯลฯ มีตัวเลขขาดทุนมากกว่ากำไร จนต้องตามมาด้วยการขายกิจการบางส่วนหรือโละทิ้ง เพื่อลดความเสี่ยง กลายสภาพจากยักษ์ใหญ่ สู่สภาพ “แมวติดเอดส์”

ตัวอย่างเหล่านี้เป็นแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็งของธุรกิจขาลงที่ชัดเจน โดยที่ไม่มีคำตอบชัดเจนว่า ขาขึ้นระลอกใหม่ของธุรกิจ หรือแม้กระทั่งภาวะ “แมวตายเด้ง” (ที่นักลงทุนในตลาดหุ้นคุ้นเคยกันดี) จะเกิดขึ้นเมื่อใด อย่างไร และ รูปแบบไหน

ปรากฏการณ์ระยะสั้นเฉพาะหน้าว่าด้วย การขาดทุน วิศวกรรมการเงิน การลดพนักงาน ขายทรัพย์สินที่แย่ออกจากมือ ปรับโมเดลธุรกิจให้มีขนาดเบาลง การซื้อกิจการ การเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้น การหาพันธมิตรใหม่ในลักษณะ “การดิ้นรนของผู้แพ้มากกว่าสองราย” ฯลฯ ที่เป็นปรากฏการณ์หลักของธุรกิจสื่อไทยยามนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ไม่ต่างจากสื่อทั่วโลกเท่าใดนัก

หลายคนอาจจะมองไปแล้วตั้งคำถามว่า ปรากฏการณ์ขาลงของธุรกิจสื่อที่ชวนให้ “ตลก ขำ เวทนา และฝันร้าย” นี้เป็นภาพรวมของการเปลี่ยนผ่านเกิดภาวะ “ตลาดวาย” ชั่วคราวที่เลี่ยงไม่พ้น หรือปัญหาความล้มเหลวทางการจัดการ ทำนอง “คนรู้ไม่ได้ทำ และคนที่ทำก็ไม่รู้”

คำตอบในเบื้องต้นคือ เกิดจากทั้งหมดนั่นแหละ เพียงแต่ความเข้มข้นอย่างไหนมากกว่ากันอยู่ในรายละเอียด

ประวัติศาสตร์ทุนนิยมเคยบอกโดยพฤตินัยด้วยทฤษฎี “การคัดเลือกโดยธรรมชาติ” ของชาร์ลส ดาร์วิน ว่า ขาลงและวิกฤติของธุรกิจแต่ละครั้ง ล้วนเป็นการทดสอบและคัดสรรผู้ที่จะอยู่รอดในอนาคต ตามหลัก อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่มีผิด

ส่วนใครสมควรจะอยู่รอด อาจต้องถาม “ชะตาฟ้า” หรือ “โหนต่องแต่ง” ในช่วงที่สามัญมนุษย์ ยังหาคำตอบให้ไม่ได้

Back to top button