พาราสาวะถี

ท่องกันให้ขึ้นใจ 7 รายชื่อต่อไปนี้คือบุคคลที่จะกุมชะตากรรมของนักการเมืองและพรรคการเมืองทั้งประเทศ ในการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกที่บัญชาการโดยคณะรัฐประหารนามคสช. นั่นก็คือว่าที่ 7 กกต. อันประกอบไปด้วย 2 คนจากการเลือกของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ฉัตรชัย จันทร์พรายศรี และ ปกรณ์ มหรรณพ


อรชุน

ท่องกันให้ขึ้นใจ 7 รายชื่อต่อไปนี้คือบุคคลที่จะกุมชะตากรรมของนักการเมืองและพรรคการเมืองทั้งประเทศ ในการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกที่บัญชาการโดยคณะรัฐประหารนามคสช. นั่นก็คือว่าที่ 7 กกต. อันประกอบไปด้วย 2 คนจากการเลือกของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ฉัตรชัย จันทร์พรายศรี และ ปกรณ์ มหรรณพ

อีก 5 รายมาจากคณะกรรมการสรรหาที่มี ชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกาทำหน้าที่ประธานในการคัดเลือก ประกอบด้วย เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ, ฐากร ตัณฑสิทธิ์, อิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์, ชมพรรณ์ พงษ์เจริญ สุธีรชาติ และ ประชา เตรัตน์ เรื่องประวัติหรือโปรไฟล์ของแต่ละคนนั้นสื่อทุกสำนักนำเสนอกันไปจนทะลุปรุโปร่งแล้ว

ขั้นตอนจากนี้อยู่ที่สนช.จะรับไม้ต่อ โดยเบื้องต้นคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือวิปสนช. จะพิจารณาเพื่อตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ผ่านการคัดเลือกว่าเคยถูกร้องเรียนเรื่องการทุจริต การประพฤติผิดศีลธรรม หรือความเป็นกลางทางการเมืองหรือไม่ ถ้ามีต้องเรียกมาสอบถามข้อเท็จจริง

จากนั้นจึงจะส่งเรื่องให้ที่ประชุมสนช.ลงมติให้ความเห็นชอบภายใน 45 วัน นับจากวันที่คณะกรรมการสรรหาและที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาส่งรายชื่อมาให้ หากสนช.ไม่เห็นชอบใครเพราะมีคุณสมบัติไม่เหมาะสม ก็ต้องส่งรายชื่อกลับไปเพื่อสรรหาใหม่ แต่พิจารณาจากรายชื่อทั้ง 7 คนแล้ว ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะถือว่าผ่านด่าน “คุณสมบัติขั้นเทพ” มาแล้วก็ถือว่าก้าวขาไปถึงเก้าอี้เกินครึ่งตัวแล้ว

ส่วนเสียงวิจารณ์ที่เกิดขึ้นกับกกต.บางคน โดยเฉพาะรายของประชาที่พบว่าปัจจุบันทำหน้าที่ที่ปรึกษาส่วนตัวของ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็คงจะไม่มีเสียงทักท้วงใดๆ นั่นเป็นเพราะยุคของรัฐบาลคนดีจำเป็นจะต้องอาศัยมือไม้ของข้าราชการและอดีตข้าราชการที่เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ มาช่วยงานเพื่อพัฒนาประเทศ

ในฐานะอดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทยและอีกหลายตำแหน่งที่สำคัญอันถือเป็นลูกหม้อของกระทรวงคลองหลอดโดยแท้ การจะถูกดึงมาช่วยงานจึงไม่ใช่เรื่องแปลก ดังนั้น จึงไม่เป็นปัญหา เช่นเดียวกับบางรายที่ถูกมองถึงความเป็นกลางทางการเมืองเนื่องจากเคยขึ้นเวทีของบางม็อบบางกลุ่มการเมือง เมื่อยุคนี้เขามีแนวนโยบายสลายขั้วสลายสี จึงไม่มีเหตุที่จะมาตั้งป้อมกันแบบนั้นอีก

ไม่ต่างกับบางรายที่เมื่อดูจากที่มาแล้ว ไม่น่าจะเกี่ยวข้องเกี่ยวพันกับกระบวนการเลือกตั้งหรือการพัฒนาประชาธิปไตยโดยตรง แต่หน้าที่หรือภารกิจที่ผ่านมาก็น่าจะอนุมานได้ว่าเป็นฝ่ายสนับสนุนโดยเฉพาะการขอความร่วมมือจากสื่อต่างๆ ในการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์งานที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งและกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย

ดังนั้น จึงเข้าข่ายมีความเหมาะสม เพียงแต่ว่าเสียงที่ไล่หลังมา พอไปสืบค้นถึงสายสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจแล้ว ต้องบอกว่าไม่ธรรมดา ว่ากันว่าเป็นผู้สนับสนุนหลักในแง่ของปัจจัยกันเลยทีเดียว แต่ก็อีกนั่นแหละ เมื่อทุกอย่างผ่านกระบวนการที่ยืนยันกันมาโดยตลอดว่าเป็นกลไกตามกฎหมายและครรลองที่ควรจะเป็น โดยมีการการันตีด้วยกลุ่มคนดี ทุกอย่างจึงเรียบร้อยราบคาบไม่มีปัญหาหรือแรงกระเพื่อมใดๆ

สำหรับสนช.ย้อนไปดูกระบวนการพิจารณาเรื่องที่สำคัญที่ผ่านมา ก็จะเห็นได้ว่าปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง เมื่อเป็นเช่นนั้นการลงมติรับรองรายชื่อของว่าที่กกต.ทั้ง 7 รายจึงไม่น่าจะต้องมีอะไรทำให้สะดุด เวลานี้จึงมองข้ามช็อตกันไปถึงประเด็นที่ว่าใครคือตัวเต็งที่จะได้รับเลือกให้เป็นประธานกกต.

รายชื่อที่โดดเด่นมากกว่าใครเพื่อนคงเป็นคนที่ได้รับเลือกมาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาอย่างฉัตรชัย เพราะเป็นผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่ที่ได้รับการยอมรับจากวงการศาลยุติธรรม หากเป็นเช่นนั้นจริงเจ้าตัวก็จะเป็นประธานกกต.อีกรายที่มาจากสายศาลฎีกา หลังจากที่กกต. 2 ชุดก่อนหน้านี้ก็มีประธานมาจากสายศาลฎีกาได้แก่ อภิชาต สุขัคคานนท์ และ ศุภชัย สมเจริญ สองอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อพลิกดูประวัติในมิติที่เกี่ยวข้องกับทางการเมือง ฉัตรชัยเองก็เคยเป็น 1 ใน 63 ผู้พิพากษาที่ใช้ชื่อกลุ่มตุลาการผู้รักแผ่นดิน ร่วมกันลงชื่อคัดค้านการเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมสุดซอยสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงเห็นได้ว่าเป็นบุคคลที่มีจุดยืนทางการเมืองที่ไม่ธรรมดา และน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งเมื่อเข้ามาดูแลการเลือกตั้งและให้คุณให้โทษกับนักการเมืองและพรรคการเมือง

ขณะที่แคนดิเดตที่ถูกคาดหมายว่าจะเป็นคู่แข่งคนสำคัญของฉัตรชัยที่มาจากสายสรรหา 5 คน โดดเด่นที่สุดคงหนีไม่พ้นประชา เพราะความที่เป็นลูกหม้อของกระทรวงมหาดไทย ไต่เต้ามาจากทุกระดับ นั่นเท่ากับว่าเป็นคนที่มีประสบการณ์งานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารการจัดการเลือกตั้งมากที่สุด ขึ้นอยู่กับว่าเมื่อผสานกันเป็น 7 เสือกกต.แล้ว เสียงที่จะเลือกให้ความสำคัญกับที่มาของประธานกกต.ในรูปแบบใด

อย่างไรก็ตาม เสียงวิจารณ์ที่มาจากฝ่ายการเมืองก็น่ารับฟังไว้และจะช่วยเป็นเครื่องเตือนใจให้คนที่จะไปทำหน้าที่กกต.ได้สำเหนียกต่อการวางตัวเป็นกลางอย่างแท้จริง โดย วัฒนา เมืองสุข มองด้วยทัศนะที่รุนแรงด้วยการชี้ให้เห็นถึงการเคารพกฎหมายของผู้มีอำนาจ ตามมาด้วยการแต่งตั้งกกต.ที่เห็นว่าเกิดข้อครหาเรื่องความเป็นกลางของผู้ได้รับการแต่งตั้ง

โดยยกตัวอย่างว่า คนแรกเป็นอาจารย์ที่เคยขึ้นเวทีพันธมิตร อีกคนคสช.เคยแต่งตั้งให้เป็นสปช.ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งทางการเมืองและยังเป็นคณะทำงานของมท. 1 อีกคนหนึ่งเคยเป็นทนายความให้อดีตนายตำรวจใหญ่ที่พี่ชายเป็นคสช. ทั้งหมดคือความเสื่อมที่คสช.สร้างขึ้นอันจะนำประเทศไปสู่ทางตัน อยากมีอำนาจแต่ก็ขี้ขลาด กล้าเอาเปรียบโดยไม่มีความละอาย แต่กลัวการเลือกตั้ง

ด้าน วัชระ เพชรทอง จากค่ายประชาธิปัตย์ก็ดุเดือดไม่แพ้กัน ใครเป็นใครก็ไปถามไถ่กันเอาเอง ไม่แตกต่างอะไรกับระบอบทักษิณแม้แต่น้อย ถ้าเล่นพรรคเล่นพวกกันอย่างนี้ ประชาชนเห็นก็เสื่อมศรัทธา ขอเตือนว่าที่กกต.บางคนแต่เนิ่นๆ อย่าคิดว่าทำอะไรไม่มีใครรู้ใครเห็น ถ้าใครรับใบสั่งคสช.หรือมีจิตอคติ ไม่ยุติธรรม มีผลประโยชน์แอบแฝงให้ระวังชะตากรรมจะเหมือนกกต.ชุดหนึ่งที่ถูกจำคุกอยู่ในเวลานี้ เหล่านี้เป็นคำเตือน แต่ทั้งหมดจะพิสูจน์ได้ก็ต้องรอให้เข้าสู่โหมดเลือกตั้งเสียก่อน ซึ่งยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่

Back to top button