EARTH กับ แพะสังเวย

ข้อมูลที่ออกมาเป็นระยะนับตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงล่าสุดต้นเดือนนี้ บ่งบอกชัดเจนว่า กรณีการล่มสลายของฐานะทางการเงินกะทันหันของ EARTH ก็บานปลายในลักษณะ "ผลสะเทือนผีเสื้อ" หรือ Butterfly Effect ที่เกินจะควบคุมได้ ดูเหมือนจะทำให้นักลงทุนที่ถือหุ้นของบริษัทนี้จำต้องทำใจยอมรับข้อเท็จจริงอันเจ็บปวดว่า ความหวังที่จะให้บริษัทฟื้นคืนสภาพกลับมาเทรดเป็นปกติเป็นไปไม่ได้แล้ว รอวันล่มสลายอย่างเป็นทางการเท่านั้น


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

ข้อมูลที่ออกมาเป็นระยะนับตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงล่าสุดต้นเดือนนี้ บ่งบอกชัดเจนว่า กรณีการล่มสลายของฐานะทางการเงินกะทันหันของ บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จํากัด (มหาชน) หรือ EARTH ก็บานปลายในลักษณะ “ผลสะเทือนผีเสื้อ” หรือ Butterfly Effect ที่เกินจะควบคุมได้ ดูเหมือนจะทำให้นักลงทุนที่ถือหุ้นของบริษัทนี้จำต้องทำใจยอมรับข้อเท็จจริงอันเจ็บปวดว่า ความหวังที่จะให้บริษัทฟื้นคืนสภาพกลับมาเทรดเป็นปกติเป็นไปไม่ได้แล้ว รอวันล่มสลายอย่างเป็นทางการเท่านั้น

สถานการณ์ที่ดำเนินมาจนถึงการเปิดเผยข้อมูลล่าสุดของสำนักงานผู้ตรวจสอบบัญชี บริษัทอีวาย เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ที่ระบุในการตรวจสอบพิเศษตามคำสั่งของ ก.ล.ต. ชัดว่า การทำสัญญาซื้อขายถ่านหินล่วงหน้าของบริษัทในกลุ่ม EARTH ที่มีกับกลุ่มเจ้าของเหมืองอินโดนีเซียนั้นมีความไม่ชอบมาพากล และส่งผลทางลบต่อความพยายามปรับโครงสร้างหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการในระยะต่อไปอย่างมาก ทำให้มีคำถามตามมาว่า ใครควรจะตกเป็นแพะรับบาปของกรณีที่เกิดขึ้น

หากประเมินกันในเบื้องต้นอย่างหยาบ คนที่ต้องตกอยู่ในฐานะ “แพะ” มี 3 กลุ่มชัดเจนคือ

  • ผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจควบคุม EARTH (อาจจะกินความรวมถึงผู้ถือหุ้นใหญ่หรือคณะกรรมการบริษัทด้วย)
  • ผู้ตรวจสอบบัญชี และสำนักงานต้นสังกัดผู้ตรวจสอบบัญชีของ EARTH
  • ผู้บริหารสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้หลักของ EARTH

คนกลุ่มแรก นำโดยนายขจรพงศ์ คำดี ซีอีโอที่เป็นแกนหลักมาตั้งแต่ต้นต้องเป็นกลุ่มคนแรกสุดที่ต้องรับผิดชอบโดยตรง อย่างน้อยที่สุด คงต้องหลบลี้หนีหน้าไปจากตลาดทุนยาวนานเพราะความไม่ชอบมาพากลที่แก้ได้ยากมาก

ส่วนผู้บริหารคนอื่นรองลงไปที่จะติดร่างแหทั้งคดีแพ่ง และ อาญา ก็คงต้องรับผิดชอบตามฐานานุรูป เป็นเรื่องปกติ

คนกลุ่มที่สอง ผู้ตรวจสอบบัญชีสังกัด บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮ้าส์ คูเปอร์ส เอบีเอเอส หรือ PWC ซึ่งเคยรับรองงบการเงินของ EARTH นับแต่กลับเข้ามาเทรดเมื่อ 5-6 ปีก่อน และไม่เคยตั้งข้อสงสัยในความผิดปกติของงบการเงินบริษัทนี้มาตลอดจนถึงงบล่าสุดเดือนมีนาคม 2560

ความเห็นของผู้ตรวจสอบบัญชีสังกัด PWC ในหมายเหตุประกอบงบการเงินไตรมาสแรกของ EARTH ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2560 ที่ระบุว่า “ข้าพเจ้าไม่พบสิ่งที่เป็นเหตุให้เชื่อว่า ข้อมูลทางการเงินรวม และข้อมูลทางการเงินเฉพาะกิจการระหว่างกาลดังกล่าว ไม่ได้จัดทําขึ้นตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 34 เรื่องงบการเงินระหว่างกาล ในสาระสําคัญจากการสอบทานของข้าพเจ้า “ซึ่งถือว่าเป็นการรับรองความชอบธรรมของงบการเงินดังกล่าว แม้จะมีการระบุเงื่อนไขก่อนว่า” การสอบทานนี้ มีขอบเขตจํากัดกว่าการตรวจสอบตามมาตรฐานการตรวจสอบบัญชี ทําให้ข้าพเจ้าไม่สามารถได้ความเชื่อมั่นว่า จะพบเรื่องที่มีนัยสําคัญทั้งหมด ซึ่งอาจจะพบได้จากการตรวจสอบ ดังนั้นข้าพเจ้าจึงไม่สามารถแสดงความเห็นต่อข้อมูลทางการเงินระหว่างกาลที่สอบทานได้”

แรกสุด เมื่อ นาย รพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต ออกมาระบุว่า จะทําการสอบสวนถึงกรณีผู้สอบบัญชีของสํานักงาน ไพร้ซวอเตอร์เฮ้าส์ คูเปอร์ส เอบีเอเอส (PWC) กรณีที่ตรวจไม่พบความผิดปรกติของงบการเงินไตรมาสแรกของ EARTH ก็ถือเป็นการตั้งคําถามเกี่ยวกับ “คุณภาพ” ของผู้ตรวจสอบบัญชีในสังกัดของยักษ์หมายเลขหนึ่งของโลก ก็เคยมีคำถามว่า อาจจะทําให้เกิดผลสะเทือนทั่วโลกได้อย่างแพร่ระบาด แบบเดียวกับที่เกิดขึ้นกับชะตากรรมของบริษัทอย่าง อาร์เธอร์ แอนเดอร์เซน แอลแอลพี ที่เคยมีฐานะเป็น 1 ในกิจการบัญชีระดับ Big 5 ของโลก ที่ต้องล้มครืนอย่างกะทันหันใน ปี พ.ศ 2545 หลังจากกรณีของ บริษัทนํ้ามันรายใหญ่ของโลก เอนรอน (Enron) และบริษัทมือถือ เวิลด์คอม (Worldcom) เมื่อปีเดียวกัน

การที่ผู้ตรวจบัญชีของ อีวาย ทำการตรวจสอบพิเศษและพบความไม่ชอบมาพากลของ EARTH ถือได้ว่าเป็นการ “เหยียบขยี้” ที่รุนแรงต่อภาพลักษณ์ในระดับโลกของ PWC อย่างรุนแรงเลยทีเดียว

โดยเฉพาะคำถามเรื่อง “มาตรฐาน PWC” ที่เคยโด่งดัง นับแต่กรณีการล่มสลายของ อาร์เธอร์ แอนเดอร์เซ่น ในกรณี ENRON และ WORLDCOM อันอื้อฉาว

ส่วนกลุ่มสุดท้าย ผู้บริหารธนาคารกรุงไทย ที่จะต้องถูกตั้งข้อหาปล่อยกู้อย่างบกพร่อง จนทำให้เกิดความเสียหายต่อธนาคาร

เดิมทีผู้บริหารของธนาคารกรุงไทยชุดของ นายวรภัค ธันยาวงษ์ ได้ถูกตั้งคณะกรรมการพิเศษตรวจสอบเรื่องการปล่อยกู้ดังกล่าวอยู่แล้ว แต่ข่าวที่ปล่อยออกมาล่าสุด โดยผ่านช่องทางของสำนักข่าวอิศราที่ว่า ธนาคารกรุงไทยได้กล่าวโทษร้องทุกข์ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ให้ดำเนินคดีกับผู้ที่ฉ้อโกงธนาคารเป็นเงินหลายพันล้านบาท โดยการปลอมแปลงใบตราส่งสินค้าทางเรือ (Bill of lading-B/L นำเข้าถ่านหินจากประเทศอินโดนีเซียของ EARTH) และนำมาใช้เป็นหลักฐานในการกู้เงินจากธนาคารกรุงไทย หลายพันล้านบาท แต่เนื่องจากคดีดังกล่าว เป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายไทยที่กระทำนอกราชอาณาจักรรวมอยู่ด้วย จึงเป็นอำนาจของอัยการสูงสุด มีกระบวนการในการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างดีเอสไอกับอัยการสูงสุดโดยให้พนักงานอัยการเป็นหัวหน้าคณะเพื่อดำเนินคดีดังกล่าว มีความหมายที่มากกว่าความใส่ใจว่า ต้นธารการปล่อยข่าวมาจากใคร

ข้อมูลที่ระบุว่า ผู้บริหารธนาคารกรุงไทยชุดปัจจุบันเข้าไปตรวจสอบการปล่อยสินเชื่อดังกล่าวของธนาคารกับ EARTH กว่า 12,000 ล้านบาท ภายหลังจากที่บริษัท เอิร์ธ ผิดนัดชำระหนี้ตั๋วแลกเงิน B/E ตั้งแต่เมื่อกลางปีที่ผ่านมา และทยอยผิดนัดเรื่อยมาจนถึงต้นเดือนพฤศจิกายนผิดนัดชำระหนี้เป็นเงินเกือบ 1,800 ล้านบาท ขณะเดียวกันก็ขาดสภาพคล่องอย่างหนัก มีหนี้สินเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 47,000 ล้านบาท จนคณะกรรมการบริษัทมีมติให้เข้าสู่กระบวนการการฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลาย จึงไม่ได้มีเป้าหมายที่ผู้บริหารของ EARTH อย่างเดียว แต่มุ่งเป้าหลักไปที่อดีตผู้บริหารของธนาคารกรุงไทยชุดของนายวรภัคเต็มที่

เงื่อนไขสำคัญที่เป็น “จุดตาย” ของการปล่อยสินเชื่อให้ EARTH อยู่ที่หลักฐานของการตรวจสอบพิเศษของอีวาย ที่ระบุถึงความไม่ชอบมาพากลของ “สัญญาตั้งต้นของการจ่ายเงินชำระค่าสินค้าล่วงหน้า และการจองสิทธิ์ซื้อถ่านหินล่วงหน้า” ที่ไม่มีใครรู้ว่าเป็นเอกสารจริงหรือปลอม และตรวจสอบยากลำบากเพราะมีการเปลี่ยนมือไปแล้ว

การปล่อยกู้ที่เริ่มต้นด้วย “สัญญาตั้งต้น” ที่ไม่ชอบมาพากลนี้แหละ ทำให้โอกาสของแพะทุกรายที่เกี่ยวข้องกับความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้น ดิ้นให้หลุดจากภาระรับผิดชอบยากลำบากมาก

อีกไม่ช้านาน ปฏิบัติการ “เชือดแพะสังเวย” (The Feast of the Goat) จะต้องตามมาแน่นอน ส่วนจะกินความกว้างหรือมากน้อยแค่ไหน คาดเดายาก

เอาเป็นว่า งานนี้ ใครที่ตกเป็นแพะ รับรอง “ไม่ตาย ก็เลี้ยงไม่โต” แน่นอน

Back to top button