กับดักเงินถูก

ล่าสุดวานนี้ มีนักวิจัยของหน่วยงานกลยุทธ์การลงทุนของ Bank of America Merrill Lynch ในสหรัฐฯ ใช้เวลาและความสามารถอันไม่ธรรมดาไปค้นคว้าข้อมูล แล้วออกมาเปิดเผยว่า ตลอด 4 เดือนแรกปี 2560 นี้ มีปริมาณเงินที่พิมพ์จากธนาคารกลางทั่วโลกเพิ่มขึ้นในตลาดเงินทั่วโลก เดือนละมากกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และปริมาณดังกล่าว แม้จะลดลงบ้างแต่ก็น่าจะยังคงมีอัตราเพิ่มในระดับใกล้เคียงต่อไป


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

ล่าสุดวานนี้ มีนักวิจัยของหน่วยงานกลยุทธ์การลงทุนของ Bank of America Merrill Lynch ในสหรัฐฯ ใช้เวลาและความสามารถอันไม่ธรรมดาไปค้นคว้าข้อมูล แล้วออกมาเปิดเผยว่า ตลอด 4 เดือนแรกปี 2560 นี้ มีปริมาณเงินที่พิมพ์จากธนาคารกลางทั่วโลกเพิ่มขึ้นในตลาดเงินทั่วโลก เดือนละมากกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และปริมาณดังกล่าว แม้จะลดลงบ้างแต่ก็น่าจะยังคงมีอัตราเพิ่มในระดับใกล้เคียงต่อไป

พร้อมกันนั้น ยังมีการพบข้อมูลอีกว่า นายธนาคารกลางทั่วโลก พากันใช้การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในฐานะเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจรวมๆกันมากถึงประมาณ 600 ครั้งในช่วงเวลา 8 ปีที่ผ่านมา

การกระทำของนายธนาคารกลางทั่วโลกดังกล่าว เกิดขึ้นภายใต้ข้ออ้างหลักว่าเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ในช่วงที่ธุรกิจเอกชนพากันลดการลงทุนลง และผู้บริโภคลดการจ่ายลงควบคู่กัน ในขณะที่อัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาด

ข้อมูลดังกล่าว ถูกนำมาใช้ประกอบการอธิบายว่าเหตุใด การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด เมื่อวันพุธตามเวลาสหรัฐฯ ที่ผ่านมา จึงทำให้นักเก็งกำไรในตลาดเงินพากันทิ้งดอลลาร์ และตลาดหุ้นกลับขานรับในทางตรงกันข้าม ชนิดที่ทำให้ดัชนีดาวโจนส์ทะลุทำนิวไฮ เสมือนไม่หวาดหวั่นหรือ “ดื้อยา” ต่อการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ไม่เหมือนกับปฏิกิริยาในอดีตอีกต่อไป

แม้ข้อมูลดังกล่าว อาจจะไม่ถูกต้องเสียทั้งหมด แต่ก็คงไม่ผิดพลาดมากนักที่จะทำให้มีข้อสรุปว่า ท้ายที่สุดแล้วธนาคารกลางทั้งหลายในโลก ซึ่งเคยแสดงบทบาทหลักในการประคองหรือพยุงการตกต่ำของเศรษฐกิจโลกไม่ให้พังทลายในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา ล้วนมีขีดจำกัดของตนเองที่ไปต่อไม่ไหว และถูกตลาดมองอย่างหวาดระแวง หรือ “ดูเบา” ลงอย่างเห็นได้ชัด

ความล้มเหลวของเฟด ในการพยายามขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดความร้อนแรงของฟองสบู่ตลาดเก็งกำไรในสหรัฐฯครั้งล่าสุด ทำให้มีคำถามตามมาว่า เฟดกำลัง “ติดกับดักตัวเอง” เข้าแล้วหรืออย่างไร จนกระทั่งไม่สามารถหาทางออกกับกลยุทธ์ “ถอนตัวจากกับดักเงินราคาถูก” (Exit Strategy from Cheap Money) ได้

8 ปีที่ผ่านมา ธนาคารกลางทั่วโลก พากันพิมพ์ธนบัตรและใช้นโยบายการเงินสารพัด รวมทั้งอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อที่จะเอามาใช้ทดแทนมาตรการทางการคลังที่ล้มเหลวไปก่อน ในยามที่เผชิญกับ “วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์” กระจายทั่วโลก โดยในแต่ละปี จะมีการเพิ่มปริมาณเงินระหว่าง 20-100% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) และปรากฏการณ์ดังกล่าว ก็ถูกคาดหมายว่า ยังคงจะเกิดขึ้นต่อไปในปีหน้าที่จะถึง

ผลลัพธ์ที่เลี่ยงไม่พ้นจากการกระทำของบรรดานายธนาคารกลางที่ทรงอิทธิพลทั่วโลกดังกล่าว คือกับดักของเงินถูก (Cheap-Money Trap) ที่ทำให้โลกจมปลักกับปริมาณเงินท่วมท้น จนไม่สามารถทำให้ขึ้นดอกเบี้ยตามเป้าหมายให้หลุดพ้นจากวังวนของภาวะเงินฝืดได้

การลดดอกเบี้ยลงจนต่ำมาก จากผลพวงของปริมาณเงินล้นเกิน ทำให้เกิดยุคสมัยของเงินราคาถูก (ดอกเบี้ยต่ำติดพื้น หรือดอกเบี้ยติดลบ) ที่ส่งผลให้มีการกวาดต้อนบรรดาผู้มีเงินออม ซึ่งเป็นกลุ่มหลักที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากดอกเบี้ยต่ำของตลาดเงิน จนต้องหันไปเล่นเกมเสี่ยงเข้าหาประโยชน์จากเงินออมที่มีอยู่ ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากตลาดทุนแทน

ผลพวงจากการที่นักลงทุนย้ายเงินออมไปยังตลาดทุน เนื่องจากปริมาณเงินล้นเกินความต้องการของภาคการผลิตและบริการทั่วโลก ไม่เพียงทำให้ดัชนีดาวโจนส์ และ S&P 500 ของตลาดหุ้นนิวยอร์ก เป็นขาขึ้นยาวไม่เคยหยุดพักจริงจัง 6 ปีเศษ นานที่สุดช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์วอลล์สตรีท หากยังมีผลทำให้เม็ดเงินที่รั่วไหลจากมาตรการ QE ของเฟดเอง กระจายตัวไปตลาดเก็งกำไรทั่วโลก ทำให้ราคาหุ้นในตลาดเกิดใหม่ วิ่งเป็นขาขึ้นยาวนานสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจที่กำลังอยู่ในภาวะชะงักงันแบบซึมยามที่รู้จักกันดียามนี้

ความล้มเหลวของเฟด ในการขับเคลื่อนอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดความร้อนแรงของตลาดเก็งกำไรเมื่อวานนี้ สะท้อนว่า ความน่าเชื่อถือและอิทธิพลต่อตลาดของธนาคารกลางสำคัญของโลกที่เคยโดดเด่น เริ่มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และเป็นทางการชัดเจนยิ่งขึ้น

นับตั้งแต่เกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์เป็นต้นมา เฟด มีบทบาทสำคัญในการทุ่มเทปริมาณเงินมหาศาลและใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำควบคู่กัน เพื่อให้เศรษฐกิจพ้นจากปากเหวให้ได้ และเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ความพยายามที่จะทำให้เศรษฐกิจพึ่งตัวเองได้ ลดการพึ่งพาการอุดหนุนของรัฐจึงถูกออกแบบขึ้นมา ด้วยการลดขนาด QE ลงจนถึงยกเลิก ก็เรียกว่า Exit Strategy เพื่อหาทางถอนตัวออกจากสภาพปัญหาเฉพาะเหน้า แทนที่จะติดหล่มหรือจมปลักหาทางออกไม่เจอ

เพียงแต่ว่า การลดการอัดฉีด QE (QE Tapering) ลงและยกเลิกในที่สุด ยังไม่เพียงพอ เพราะปริมาณเงินที่ยังมีอยู่ในตลาดยังไม่ถูกดึงกลับออกไปแม้แต่น้อย ผลลัพธ์คือ ความสามารถในการดึงดอกเบี้ยให้กลับเป็นขาขึ้นทำได้ยากเย็นและล่าช้าเกินไป ที่สำคัญส่งผลต่อค่าดอลลาร์ให้อ่อนยวบลงอย่างต่อเนื่อง ที่ปรากฏชัดเจนในปีนี้

กับดักของเงินถูกนี้ หากไม่สามารถก้าวข้ามไปได้ โอกาสที่จะมีความเสี่ยงจากฟองสบู่ของการเก็งกำไรก็ยากจะเลี่ยงได้พ้นเช่นกัน

จะช้าหรือเร็วเท่านั้น

Back to top button